Nielsen Company ประเทศไทย รายงานตัวเลขการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อเดือน ส.ค.2552 ภาพรวมมีมูลค่า 7,738 ล้านบาท เติบโต 2.84% เป็นตัวเลขการเติบโต เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ค. 2552 ที่อยู่ในสภาพติดลบทุกเดือน
กลุ่มสื่อที่มีอัตราการเติบโตในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา คือ โทรทัศน์ มูลค่า 4,483 ล้านบาท เติบโต 5.31% เป็นการเติบโตต่อเนื่องจากเดือน ก.ค.52 จากก่อนหน้าที่อยู่ในสภาพติดลบต่อเนื่อง 5 เดือน (ก.พ.-มิ.ย.52) สื่อโรงภาพยนตร์ มูลค่า 475 ล้านบาท เติบโต 61.02% ,สื่อเคลื่อนที่ (Transit) มูลค่า 148 ล้านบาท เติบโต 34.55% และอินเทอร์เน็ต มูลค่า 22 ล้านบาท เติบโต 22.22%
ส่วนกลุ่มสื่อที่มีอัตราการใช้งบโฆษณาลดลงในเดือน ส.ค.52 ประกอบด้วย วิทยุ มูลค่า 566 ล้านบาท ลดลง 8.41% หนังสือพิมพ์ มูลค่า 1,245 ล้านบาท ลดลง 3.71% , นิตยสาร มูลค่า 403 ล้านบาท เติบโต 21.14% , ป้ายโฆษณา มูลค่า 328 ล้านบาท ลดลง 4.37% และ สื่ออินสโตร์ มูลค่า 69 ล้านบาท ลดลง 12.66%
“อัตราการเติบโตของการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่ไตรมาส3 ถือว่าเป็นช่วงโลว์ ซีซัน การใช้งบประมาณ มาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ การเมืองสงบ แม้จะมีข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่คาดว่าจะไม่รุนแรงเหมือนเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจในการลงทุนและกลับมาทำการตลาด กระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคอีกครั้ง และอีกปัจจัยสำคัญคือ การใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ ของหน่วยงานภาครัฐ ในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไทยเข้มแข็ง ครีเอทีฟ อีโคโนมี่ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และต่อเนื่อง
ความวุ่นวายทางการเมืองช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการชะลอแผนการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายต่างๆ เมื่อเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จึงเร่งอัดงบการตลาด สร้างยอดขายและรายได้ให้เติบโตในสิ้นปีนี้” – วิทวัส ชัยปาณี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย
พบว่าสินค้าและบริการเกือบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเทเลคอม รถยนต์ สินค้าคอนซูเมอร์ ได้ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 และคาดว่าหลังจากนี้ใช้งบประมาณเพิ่มต่อเนื่องถึงสิ้นปี โดยปี 2552 อุตสาหกรรมโฆษณาอาจจะเห็นตัวเลขเติบโตถึง 5% สูงกว่าประมาณการเมื่อต้นปีที่คาดว่าจะติดลบ 3-5% จากมูลค่า 8.9 หมื่นล้านบาทในปี 2551
นีลเส็นฯ รายงานการใช้งบโฆษณาช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.52) ว่ามีมูลค่า 57,274 ล้านบาท ลดลง 3.34% เป็นตัวเลข ติดลบต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน (ก.พ.-ก.ค.) เช่นกัน โดยกลุ่มสื่อที่มีอัตราการเติบโตคือ โรงภาพยนตร์ มูลค่า 2,903 ล้านบาท เติบโต 9.14% , สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 1,172 ล้านบาท เติบโต 29.36% และสื่ออินเทอร์เน็ต มูลค่า 138 ล้านบาท เติบโต 15.97%
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์