เปิดบทสรุปงาน ‘The Secret Sauce Summit 2024 : WINING THE NEW WAVE เกมธุรกิจ ชนะโลกใหม่’ ติดอาวุธสำหรับผู้ประกอบการให้สามารถฝ่าความท้าทายในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

[ข่าวประชาสัมพันธ์]

 

เปิดบทสรุปงาน THE SECRET SAUCE SUMMIT 2024 : WINING THE NEW WAVE เกมธุรกิจ ชนะโลกใหม่ อีเวนต์ที่รวมผู้ประกอบการและนักธุรกิจ จัดขึ้นที่พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน งานที่ถูกออกแบบมาทำให้ทันเทรนด์ เห็นโอกาส ได้อินไซต์ เปิดโลกความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้การทำธุรกิจเป็นเรื่องสนุก

ธีมการจัดงานครั้งนี้เป็นการเปิดมุมมองจากผู้ประกอบการที่อยู่ต่างช่วงการเติบโตของธุรกิจ ที่มาร่วมกันแชร์มุมมอง ประสบการณ์ในการสร้างการเติบโตในธุรกิจที่แตกต่างไปด้วยกัน

 

 

เคน นครินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด เปิดงานด้วยการชวนตั้งคำถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจจากความท้าทายรอบด้านทั้งปัญหาหนี้สิน กำลังซื้อที่ลดลง หรือเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปธุรกิจจำนวนมาก พร้อมทั้งเสนอแนวทางกลยุทธ์ปลดล็อกการเติบโตไร้ขีดจำกัดฉบับผู้ประกอบการ พร้อมย้ำถึงสิ่งสำคัญที่สุดของเพื่อปลดล็อกธุรกิจให้เติบโตได้คือการรู้จุดแข็งและเข้าใจโจทย์ ซึ่งทุกธุรกิจต้องหาให้เจอเพราะแต่ละคนจะมีโจทย์ไม่เหมือนกัน

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย แชร์บนเวที Economic Outlook 2025: Adapting for SMEs เทรนด์เศรษฐกิจโลกและไทย SMEs ควรปรับตัวอย่างไร โดยได้ยกตัวอย่างการทำธุรกิจก็เหมือนกับการวิ่ง ซึ่งการวิ่งก็มีหลายประเภท ทั้งวิ่งช้า วิ่งเร็ว วิ่งมาราธอน และไม่ได้วิ่งตามเส้นทางที่ราบเรียบตลอดเวลา บางครั้งเจอก้อนหิน น้ำท่วม ฟ้าฝนไม่เป็นใจ

เหมือนกับการทำธุรกิจก็มีโจทย์ต่างกัน ต้องยอมรับว่าไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่ Success ยิ่งปัจจุบันต่างชาติกระโดดเข้ามาลงทุนมากขึ้น จะต้องนำความรู้จากบริษัทต่างชาติ มาปรับใช้กับธุรกิจ ถ้าสำเร็จแล้วต้องวิ่งต่อ ถ้ายังไม่สำเร็จต้องคิดวนใหม่ ผิดพลาดตรงไหน รีบปรับตัวและค่อยวิ่งต่ออย่าหยุด

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ViaLink และ Siametrics Consulting กล่าวถึงการแข่งขันในยุค AI ที่ธุรกิจต้องคว้า 3 ขุมพลังทางเศรษฐกิจใหม่ให้ได้ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า โดยสิ่งสำคัญของการเริ่มต้นใช้ AI กับธุรกิจคือการ ‘ลอง’ เพราะหากไม่ทำ ความเสี่ยงที่จะถูกคู่แข่งจากต่างประเทศแย่งตลาดและดิสรัปจะมีสูงมาก

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) พูดในหัวข้อ เทรนด์เศรษฐกิจสุขภาพแห่งอนาคต ที่ย้ำว่าแม้แต่ AI ยังแก้ปัญหาความแก่ไม่ได้ ถึงวันนี้โลกเข้าสู่ภาวะแก่ตัวลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการคาดการณ์ในปี 2050 ชี้ว่าประชากรโลกสูงวัยจะมีถึง 2,100 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยปีหน้าก็จะกลายเป็นสังคมสูงวัยเต็มตัวแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าเทรนด์สูงวัยประเทศไทยเร็วกว่าหลายประเทศ

เมื่อสังคมเต็มไปด้วยสูงวัย สิ่งที่ตามมาคือปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะวัย 60-80 ปี ต้องเผชิญกับโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ กระดูกเสื่อม และโรคเลือดไม่ไปเลี้ยงสมองมากขึ้น กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องหันมาดูแลสุขภาพ ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากการทานอาหารแปรรูป หรือที่เรียกว่า Ultra-processed Foods ซึ่งเป็นบ่อสะสมโรคต่างๆ

โดยสัดส่วนการใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศไทยอยู่ที่ 5.1 ต่อ GDP  ถือว่าภาพรวมเศรษฐกิจผู้สูงอายุในไทย มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท และเฉลี่ยใช้จ่ายอยู่ 12,000 บาท แต่ปัญหาของไทย คือตัวเลขผู้อายุเกินครึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นหลัก ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ทั้งผู้ประกอบการที่อาจจะมองหาโอกาสของสินค้าเพื่อสุขภาพ ทั้งน้ำตาลน้อยและโซเดียมต่ำควบคู่ไปกับภาครัฐที่ต้องอาศัยมาตรการเก็บภาษีน้ำตาและรณรงค์สร้างการรับรู้ให้มากขึ้น 

 

 

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน โฮสต์รายการ 8 Minute History และ Morning Wealth พาทุกคนย้อนกลับไปศึกษาตำราอ่านใจคนฉบับสามก๊ก ที่ไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน แต่ธรรมชาติและนิสัยของมนุษย์ยังคงเหมือนเดิม ดังนั้นการอ่านคนให้ออกและการบริหารขวัญกำลังใจคือเรื่องสำคัญของผู้ประกอบการในยุคนี้

รศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล มาเล่าถึงเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ ในหัวข้อ  Neuromarketing: Unlocking Consumer Minds  ถอดรหัสจิตวิทยาผู้บริโภคด้วย Neuroscience โดยแสดงให้เห็นว่าจะดีแค่ไหนเมื่อมีเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถเจาะลึกลงไปได้ถึงระดับระบบประสาท และรู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร ทั้งหมดคือ สูตรลับจาก BCI Lab ที่จับอารมณ์ผู้คนได้แบบเรียลไทม์ ตามศาสตร์ Neuromarketing ช่วยสร้างความได้เปรียบในการทำตลาด 

 

 

ถอยกลับมาดูอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของไทย ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้แชร์มุมมองว่าประเทศไทยเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการ เช่น

การเป็น Entertainment Complex หรือการเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยการทำธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการตอนนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งทุกอย่าง แต่ต้องหา ‘จุดเด่น’ ที่เป็นเอกลักษณ์ตัวเองเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้

เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวไทยก็ต้องพูดถึงสปา วรวิทย์ ศิริพากย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปุริ จำกัด พูดถึงสูตรปั้น Niche Luxury แบรนด์พันล้าน ฉบับ PAÑPURI ว่า การใส่ใจคุณภาพเป็นอันดับแรกที่แบรนด์ลักชัวรีต้องให้ความสำคัญ สุดท้ายไม่ว่าการทำตลาดเราจะดีแค่ไหน ภาพลักษณ์เราสวยแค่ไหน ถ้าคนนำสินค้าไปใช้แล้วไม่ตอบโจทย์ความต้องการ จะทำให้แบรนด์ไม่ยั่งยืน และไม่ใช่ลักชัวรีที่แท้จริง นอกจากนี้ผู้ก่อตั้ง PAÑPURI ยังฝากเคล็ดลับความสำเร็จว่าต้องหาสิ่งที่เราชอบให้เจอ และเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ มีเป้าหมายใหญ่กว่ารายได้และกำไร เชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นสูตรสำเร็จได้

 แต่นอกจากผู้บริหารรุ่นใหญ่ ภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารรุ่นใหม่ของ 2 สกินแคร์แบรนด์ดังอย่าง MizuMi และ INGU ที่ร่วมแบ่งปันอินไซต์การสร้างแบรนด์ให้สำเร็จในอุตสาหกรรมความงามมูลค่ารวมกว่า 2.5 แสนล้านบาท โดยหนึ่งในคำแนะนำที่ วริษฐา สืบพันธ์วงษ์ เจ้าของแบรนด์สกินแคร์ MizuMi และอาหารเสริม Bomi ย้ำว่าการกำหนด Positioning ตั้งแต่แรกว่าจะมุ่งตลาดแพงหรือตลาดทั่วไป จะช่วยให้ผู้ประกอบการควบคุมทิศทางได้ชัดเจนขึ้น

ในขณะที่ ชยธร กิติยาดิศัย กรรมการบริหาร บริษัท อิ๊ง ซีเค จำกัด มองว่าพื้นฐานความสำเร็จในวงการบิวตี้คือการที่มีสินค้าที่ดี แต่เมื่อสินค้าดีแล้ว จุดที่จะชี้ชะตาและทำให้แบรนด์เฉิดฉายขึ้นมาได้ คือเรื่องของกลยุทธ์แบรนด์ดิ้งที่จะทำให้สินค้ามัดใจผู้บริโภคได้ ถือเป็นอีกแนวคิดที่น่าสนใจของนักธุรกิจรุ่นใหม่

 

 

กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) มาร่วมแชร์ในหัวข้อ Sweet Success Strategies สูตรลับโตพันล้านไร้ขีดจำกัดของ After You โดยอัพเดทธุรกิจ After You ที่สะสมประสบการณ์มากว่า 17 ปีแล้ว ผ่านมาหลายปีเห็นคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามา แต่ด้วยสไตล์เราไม่ค่อยสนใจเรื่องคู่แข่ง โฟกัสแค่ลูกค้า ซึ่งการมีแบรนด์ใหม่เข้ามาทำให้ตลาดสนุกมากขึ้น

สุดท้ายฝากถึงผู้ประกอบการอาหาร จริงๆแล้วสูตรสำเร็จในการทำธุรกิจนั้นไม่มี แต่ถ้ามีกำลังทรัพย์และไม่เกินตัว อยากขายอะไรขายเลย ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด เพราะทุกวันนี้ After You เราก็ยังทดลองกันตลอดเวลา

ในเวทีสุดท้าย ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ฝากแนวคิดไว้ว่าธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องมีจุดแข็ง “เมื่อเรามีความเข้มแข็งแล้ว สิ่งที่เราจะทำได้ต่อคือการกระจายความเสี่ยง เช่น การกระจายผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น และกระจายความหลากหลายของตลาดไปในต่างประเทศมากขึ้น”

สำหรับ ธีรพงศ์ การทำให้ธุรกิจเติบโตอาจไม่จำเป็นที่จะต้องมองหา S-Curve ใหม่ทุกครั้ง แต่ให้โฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองทำตอนนี้ให้ดีที่สุดก่อนจะขยายไปสู่น่านน้ำใหม่

 

 

ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดของผู้ประกอบการที่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและเติบโตในแต่ละ Stage ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นอินไซต์ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำไปเตรียมตัวและปรับใช้ให้เข้ากับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

สำหรับวันที่ 2 เนื้อหาบน Main Stage ยังอัดแน่นไปด้วยความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงที่ช่วยติดปีกธุรกิจให้เติบโตได้ด้วยการสร้างความแตกต่างเชิงกลยุทธ์ การเลือกวางตำแหน่งทางการตลาดที่ไม่จำเป็นต้องหว่านแหจับลูกค้าทุกกลุ่ม และเคล็ดลับถอดรหัสพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2025

 

เทรนด์การตลาดที่ธุรกิจต้องรู้

อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อะแด็ปเตอร์ ดิจิตอล กรุ๊ป วิเคราะห์เทรนด์การตลาด 2025 ตัววัดผลทางการตลาดที่จะช่วยธุรกิจสร้างยอดขายได้จริง

1.ความท้าทายที่แบรนด์ต้องเจอ

แบรนด์ใหญ่ที่อยู่มานานต้องเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าตอนนี้จริงๆแล้วแบรนด์เราเป็นทรัพย์สินหรือหนี้สิน  ถ้าหากเป็นหนี้สินจะต้อง  Rebrand ไม่ใช่ Debrand บางครั้งต้องยอมทิ้งเอกลักษณ์แบบเดิมๆของตัวเองไป เพราะนั่นจะเป็นการส่งผลเสียต่อแบรนด์มากกว่า

เช่นเดียวกับแบรนด์ผู้ท้าชิงในตลาด ต้องให้ความสำคัญในการสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง สร้างฐานลูกค้า สิ่งเหล่านี้สำคัญมากในกลุ่ม Non- Essential Category โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มความสวยความงามที่ผู้บริโภคเริ่มเลือกสินค้าหลากหลาย

และแบรนด์น้องใหม่ในตลาด ต้องโฟกัสการวาง Positioning ทั้งคุณภาพ ราคา และ Value เพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่าแบรนด์แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นในตลาดอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นต้องมีช่องทางขายของตัวเองที่ชัดเจนและเข้าถึงง่าย

 

 

ท่ามกลางโลกยุคดิจิทัล นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Binance TH by Gulf Binance เข้ามาฉายภาพทิศทางของ Bitcoin ที่กำลังเป็นสินทรัพย์ที่ถูกเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

 

สิ่งที่ผู้ประกอบการควรโฟกัสในปี 2025

ดร.ธนัย ชรินทร์สาร ที่ปรึกษาและวิทยากรด้านกลยุทธ์ สรุปประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องรู้ในการเตรียมพร้อมสู่ปี 2025

1.มองไกลไปสู่อนาคต

โลกหมุนเร็วขึ้นมาก เหมือนเรากำลังขับรถอยู่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนเรื่อยๆ จึงต้องมองไกลกว่าเดิมและหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน และถ้ามีเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดเกิดขึ้น ในแง่ของการทำธุรกิจอย่ามองเรื่องอุปสรรคอย่างเดียว ต้องหาโอกาสจากไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ต่อยอดสู่ธุรกิจเดิม สิ่งที่ทำทั้งหมดจะเป็นตัวกำหนดอนาคต

2.ตั้งคำถามและนำ AI มาใช้ในระยะยาว ในมุมของนักกลยุทธ์ มองว่า AI เป็นระบบที่สามารถเรียนรู้ได้ มีเหตุผลและทำงานได้ด้วยตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่งก็มีข้อจำกัดหลายประการ หากสังเกตจะเห็นว่าเทคโนโลยีที่เข้ามาแรกๆคนจะตื่นเต้นระยะสั้นเท่านั้น แต่จริงๆแล้วระยะยาว AI จะทำงานได้มากกว่าที่เราคิด เราต้องตั้งคำถามว่าจะนำ AI มาใช้อย่างไรในระยะยาวได้อย่างไร

บดินทร์ เสรีโยธิน ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด เล่าย้อนกลับไปถึงเส้นทางที่ทำให้บริษัทท้องถิ่นของไทยรายนี้สามารถก้าวขึ้นสู่ผู้นำสินค้าประเภทแหอวนเบอร์ 1 ของโลกว่าการตั้งโจทย์และเป้าหมายของธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเราตั้งโจทย์ไว้สูง การเดินหน้าต่อก็จำเป็นที่จะต้องหาทางไปหาเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ให้ได้ เราจึงคิดตั้งแต่วันแรกว่าสินค้าของเราต้องแตกต่าง”

จุดอันตรายที่มักจะเป็นจุดปราบเซียนให้กับธุรกิจจำนวนมากคือเมื่อธุรกิจไม่สามารถหาจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้ เราก็จะถูกบีบให้ใช้ ‘ราคา’ ในการแข่งกัน ซึ่งถือเป็นการแข่งในเกมที่มีผู้เล่นจำนวนมากและโอกาสชนะน้อยเพราะสุดท้ายลูกค้าจะตัดสินด้วยราคาเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี กุญแจความสำเร็จที่บริษัทระดับโลกมักจะมีคล้ายกันจากการตั้งของสังเกตุของ บดินทร์ คือการตีโจทย์เทรนด์อนาคตให้ออกและหาสิ่งที่ ‘ลูกค้าปฏิเสธสิ่งที่เรามีไม่ได้’ ซึ่งสุดท้าย ‘กำไร’ จะตามมาด้วยตัวของมันเอง

 

สรุปเทรนด์จิตวิทยาผู้บริโภคปี 2025

 

มัณฑิตา จินดา ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล ทิปส์ จำกัด กล่าวถึงการทำธุรกิจว่าต้องฟังเสียงลูกค้ามากขึ้นด้วยการรู้เรื่องจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของลูกค้าที่นับวันจะยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งถ้าเราเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน

 

จับตา Biotech โอกาสของธุรกิจไทย

นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา แพทย์ นักเขียน และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ สรุปถึงประเด็น Biotech ทำไมถึงเป็นโอกาสธุรกิจ จริงๆแล้วนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้จนมีความเชี่ยวชาญระดับโลกมีจำนวนมาก แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ถือเป็นโอกาสของไทย เพราะไทยมีนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้าน Biotech และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรดังกล่าวและยังไม่ถูกทำลาย

ยิ่งไปกว่านั้น ไทยมีทรัพยากรที่สามารถสนับสนุน Biotech ได้ จากความเชี่ยวชาญของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของ Biotech ที่สำคัญ Biotech นั้นเป็นเรื่องใหม่ของโลก  ปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนนำโด่ง ทั่วโลกกำลังเริ่มไปพร้อมกัน  และยังไม่มีประเทศไหนทำได้สำเร็จ  ถ้าไทยสามารถเริ่มได้ทันเราก็จะเป็นประเทศที่อยู่ในระดับแถวหน้าได้เลย

อีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจจาก Nazir Razak Founding Partner & Chairman of Ikhlas Capital and Former Chairman of CIMB Group ผู้ที่ร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง McKinsey ทำคลาสสอนบุคคลระดับซีอีโอให้มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจด้วยทักษะและ Mindset ที่ถูกต้อง โดยสิ่งที่ Nazir ชวนเหล่าซีอีโอคิดคือความรับผิดชอบของคนในตำแหน่งนี้ไม่เพียงแต่จะต้องบริหารองค์กรให้มีผลประกอบการดี แต่ต้องวางตัวอย่างให้เกียรติและสร้างให้คนรอบข้างเติบโตด้วย

“CEO ที่ดีคือผู้นำที่กล้าฟังและกล้ารับข้อผิดพลาด เพราะวัฒนธรรมอันตรายที่จะกลับมาทำร้ายองค์กรคือการที่ ‘ความจริง’ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครในองค์กรพูดกัน” Nazir กล่าว

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เน้นย้ำถึงความสำคัญของภาษีคาร์บอนและกลไกคาร์บอนที่เป็นกติกาภาคบังคับของโลกที่ไม่ว่าธุรกิจไหนก็ยากจะหลีกเลี่ยง ผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องปรับตัวโดยกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายที่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเปลี่ยนแนวความคิดว่าต้องนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ เพราะการปรับตัวนี้จะนำมาซึ่งโอกาสในการ เข้าถึง Green Supply Chain ที่กำลังเติบโต พร้อมทั้งลดต้นทุน และเปิดทางให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

 

สินค้าขายไม่ได้ ต้องไม่ฝืน 

สรุปความลับ GENTLEWOMAN แบรนด์แฟชั่นพันล้าน นำโดย รยา วรรณภิญโญ และ จิตพล ศิริวัฒนเมธางกูร Co-Founder of GENTLEWOMAN มาเปิดบทเรียนธุรกิจที่เคยผ่านจุดที่ไม่สำเร็จ แต่เมื่อรู้ว่าสินค้าขายไม่ได้ ก็พยายามปรับตัวเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้าชอบอะไร และนำมาปรับใช้มาอย่างต่อเนื่อง

 

 

เสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าทักษะการฟังสำคัญที่สุดสำหรับผู้นำ เพราะการฟังจะช่วยขยายมุมคิดให้กว้างขึ้น ซึ่งหลายครั้งไอเดียใหม่ ก็มาจากการฟังคนภายในองค์กรหลายๆ คนสะท้อนถึงปัญหาให้ฟัง

นอกจากนี้ ในเส้นทางของการทำธุรกิจ การตั้งเป้าหมายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่การลงมือทำอย่างสม่ำเสมอและมีวินัยคือหนทางสู่ความสำเร็จ เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ต้องการความอดทนและความพยายาม ในช่วงเริ่มต้นที่ธุรกิจยังเล็ก เราอาจถูกดูแคลนหรือไม่เป็นที่ยอมรับไปบ้าง แต่เสถียรมองว่าความอดทนและอดกลั้น คือสิ่งเดียวที่ผู้ประกอบการต่อฝ่าไปให้ได้ก่อนจะประสบความสำเร็จ

 

 

ในช่วงสุดท้าย นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร  บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด ยกตัวอย่างคำพูดของ Antonio Gramsci ที่กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่าโลกเก่ากำลังล่มสลาย และโลกใหม่ยังคงต่อสู้เพื่อถือกำเนิด ในตลาดทั้งปี 2024 สิ่งที่เราเห็นคือการเปลี่ยนแปลงของโลก เราเห็นคลื่นลูกค้าที่พยายามปรับตัวต่อโลกใหม่ๆ แต่ยังปรับได้ไม่ดีนัก ในขณะที่เห็นคลื่นลูกใหม่กำลังไล่ล่าหาความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้คือโอกาสทองและนับเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ต้องแก้ด้วยวิธีการใหม่ๆทิ้งวิธีเก่าๆไป ด้วยวิธีคิด 4 ข้อคือ

1.Outside -in ต้องกวาดตาดูเทรนด์ต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งความท้าทายและโอกาส

2.Inside-Out กลับมาดูที่ตัวเองว่าโจทย์ของธุรกิจวันนี้คืออะไร

3.Footwork คือการทำ R&D ต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมและรอจังหวะทึ่ถูกต้อง

4.Move กล้าทำสิ่งใหม่ เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

สุดท้าย วิกฤตคือความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ทันตั้งตัว แต่ถ้าตั้งตัวให้พร้อมและลงมือทำ มอง Outside-In แล้วกลับมาทำ Inside-Out แล้วรอจังหวะที่เป็นของเรา สุดท้ายจะคว้าโอกาสได้สำเร็จ

[ข่าวประชาสัมพันธ์]


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •