ไฟเขียว True Visions โฆษณาได้ในรอบ 20 ปี

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา นายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ลงนามแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมดำเนินกิจการโทรทัศน์ ระบบบอกรับเป็นสมาชิก (เคเบิลทีวี) กับบริษัท ทรูวิชั่นส์ เพื่อให้ทรูวิชั่นส์ มีโฆษณาในช่องรายการได้ ถือเป็นการแก้ไขสัญญาเพื่อให้ทรูวิชั่นส์ มีโฆษณาได้ในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่เริ่มสัญญาในปี 2532 และจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2562 โดยการแก้สัญญาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. 2552 เป็นต้นไป

การแก้ไขสัญญาให้ทรูวิชั่นส์ มีโฆษณา เป็นไปตามการประกาศใช้ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่อนุญาตให้เคเบิลทีวี มีโฆษณาได้ชั่วโมงละ 6 นาที หรือเฉลี่ยทั้งวันไม่เกิน 5 นาทีต่อชั่วโมง และเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมในกิจการเคเบิลทีวี กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มีกว่า 500 รายในปัจจุบัน โดยทรูวิชั่นส์เสนอรายได้ที่เกิดจากโฆษณาให้ อสมท ในอัตรา 6.5% เพิ่มเติมจากรายได้เดิม จากค่าสมาชิกในอัตรา 6.5% – สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ, อสมท

truevisions_1

ทรูจ่ายค่าผิดสัญญา 110 ล้าน

พร้อมกันนี้ ได้สรุปค่าเสียประโยชน์ของ อสมท จากกรณีทรูไม่ปฏิบัติตามสัญญาด้วยการนำบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 89 ล้านบาท ค่าปรับทางเทคนิคจากการไม่แจ้งอุปกรณ์เพิ่มเติมที่ทรูได้ลงทุนอีก 20 ล้านบาท และการที่ช่องทีเอ็นเอ็น ของทรูมีโฆษณาไปล่วงหน้ากว่า 1 ปี ก่อนแก้สัญญาให้มีโฆษณาอีก 2 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 110 ล้านบาท โดยทรูเซ็นเช็คจ่ายให้ อสมท พร้อมดอกเบี้ย 3% ในระยะเวลา 12 เดือน

นอกจากนี้ ทรูได้ให้ช่องรายการทางทรูวิชั่นส์ จำนวน 3 ช่อง จากเดิมมอบให้แล้ว 2 ช่อง โดย อสมท ออกอากาศเป็นช่อง MCOT 1 และ MCOT 2 ในขณะนี้ ส่วนช่องรายการใหม่อีก 3 ช่อง จะพัฒนาเป็นช่องรายการใหม่ ซึ่งเป็นคอนเทนท์ที่ยังไม่มีในทรู คาดว่าจะออกอากาศได้ในปี 2553 ซึ่งจะเป็นอีกแหล่งรายได้ของ อสมท ในอนาคต

“ก่อนหน้านี้ มีคณะกรรมการศึกษา ว่า ระบบการจ่ายผลตอบแทนค่าสมาชิก 6.5% ของทรูที่ให้กับ อสมท ยังเรียกเก็บรายได้ไม่ถูกต้อง และทำให้ อสมท เสียประโยชน์ 200-400 ล้านบาท กรณีนี้อสมท ยังมีคณะกรรมการศึกษาอยู่ ไม่ได้ล้มเลิกจากการแก้สัญญาในครั้งนี้ แต่เห็นว่าการแก้ไขสัญญาให้มีโฆษณาเป็นคนละประเด็นกับเรื่องการเสียประโยชน์จากการคำนวณรายได้ดังกล่าว” นายสุรพลกล่าว

ทรูวิชั่นส์ เดินหน้าขยายช่องเพิ่ม

นายสมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังแก้ไขสัญญาให้ทรูมีโฆษณาได้นั้น ขณะนี้ ยังไม่สามารถประเมินรายได้ดังกล่าวว่าจะมีจำนวนเท่าไร แต่จากการศึกษารายได้จากโฆษณาในธุรกิจเคเบิลทีวีในต่างประเทศ พบว่ามีรายได้สูงสุดประมาณ 5% เท่านั้น ซึ่งในระยะแรก ทรูวิชั่นส์คงไม่สามารถทำรายได้อัตราดังกล่าว ทั้งนี้ รายได้หลักของ อสมท ยังมาจากรายได้สมาชิก โดยในปีที่ผ่านมา มีรายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันทรูมีสมาชิก 1.6 ล้านราย คาดว่าถึงสิ้นปีนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านราย

“หากในอนาคตทรูวิชั่นส์สามารถทำรายได้ในสัดส่วน 5% เช่นเดียวกับเคเบิลต่างประเทศ รายได้จากโฆษณาก็จะไม่สูงมากนัก หากเปรียบเทียบกับรายได้ในปัจจุบัน ก็จะอยู่ที่ 500 ล้านบาทเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม การมีรายได้จากโฆษณา จะทำให้ทรูมีพันธมิตร ผู้ผลิตคอนเทนท์ คุณภาพ เข้ามาผลิตรายการมากขึ้น เพราะมีช่องทางในการหารายได้จากโฆษณา โดยในปีหน้า ทรูมีแผนจะเปิดช่องรายการใหม่ ที่ผลิตในประเทศ 7-8 ช่อง เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิก

เบื้องต้นช่องรายการที่ทรูผลิตเอง และสามารถมีโฆษณาได้ มีประมาณ 20 ช่องรายการ ขณะที่ช่องรายการต่างประเทศมีโฆษณาติดมากับช่องรายการอยู่แล้ว และในบางช่องรายการไม่สามารถมีโฆษณาได้

ยันไม่ลดค่าสมาชิก แต่เพิ่มช่องใหม่

นายสมพันธ์ กล่าวอีกว่า แม้ทรูจะมีโอกาสหารายได้จากโฆษณาเพิ่มเติม แต่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์การเพิ่มช่องรายการที่อยู่ในความสนใจของผู้ชมให้เพิ่มเติมเช่นกัน โดยเฉพาะรายการที่ผลิตในประเทศโดยไม่มีแผนจะปรับลดค่าสมาชิกลง แต่อย่างใด

“เรามีความกังวลใจเช่นกันว่า การมีโฆษณาในทรูจะทำให้สมาชิกไม่พอใจ และอาจจะยกเลิกการเป็นสมาชิก แต่คงไม่ถึงกับมีการฟ้องร้องกัน โดยจะมีทีมงานคอยติดตามสมาชิกอย่างใกล้ชิด เพื่อชี้แจ้งข้อมูล และความเข้าใจกับสมาชิก” นายสมพันธ์กล่าว

นายสุรพล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการเจรจาค่าสัมปทานช่อง 3 ในการต่อสัญญาอีก 10 ปี ระหว่างปี 2553-2562 ขณะนี้ มีการเจรจาไปหลายครั้ง และมีความคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะสรุปได้ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ และหวังว่าจะหาข้อสรุปที่ดีได้เช่นเดียวกับการแก้ไขสัญญาทรู

‘สารี’ ระบุกระทบสิทธิสมาชิก

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การแก้สัมปทาน อสมท ไม่ควรพิจารณาฝ่ายเดียว ถึงแม้ว่า อสมท จะมีหน้าที่กำกับการให้สัมปทาน แต่กรณี อสมท ได้ประโยชน์โดยตรง ประเด็น ก็คือ อสมท แก้ไขได้จริงหรือไม่ ซึ่งการแก้สัมปทานไม่ควรทำในขั้นของ อสมท แต่น่าจะเป็นระดับกระทรวง หรือคณะรัฐมนตรี

“ไม่น่าจะเป็นอำนาจของบอร์ด ถึงแม้จะตีความว่าไม่ได้ทำให้รัฐเสียหาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ กระทบต่อผู้บริโภค เพราะการบอกเป็นสมาชิกอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าไม่มีโฆษณา อีกทั้งเงื่อนไขให้มีโฆษณาครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีเรื่องของการลดค่าสมาชิก”

สารี กล่าวว่า การแก้ไขสัมปทานน่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ที่ผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งการแก้ไขครั้งนี้มีผลต่อผู้บริโภคโดยตรง ดังนั้น อสมท ควรต้องสอบถามความเห็นของผู้บริโภค คือ คนที่เป็นสมาชิก

“อสมท มีความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ในตัว เพราะเป็นผู้กำกับ เมื่อยูบีซีมีโฆษณา อสมท ก็ได้เงินด้วย การเป็นผู้กำกับแล้วได้ผลประโยชน์ด้วย ในที่สุด ผู้บริโภคก็จะเสียเปรียบ”

ราคาหุ้น อสมท ดีดรับล่วงหน้า

ธนะชัย วงศ์ทองศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเลขานุการบริษัท ผู้มีอำนาจรายงานสารสนเทศ อสมท แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า คณะกรรมการ บริษัท อสมท ในการประชุมครั้งที่ 16/2552 วันที่ 8 ต.ค. 2552 เวลา 15.00 น. มีมติอนุมัติสัญญาร่วมดำเนินกิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับ เป็นสมาชิกระหว่าง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู วิชั่นส์ เคเบิ้ล จำกัด (มหาชน) โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

  • 1. อนุญาตให้ กลุ่มบริษัททรูวิชั่นส์ ดำเนินการหารายได้จากการรับทำการโฆษณา ในช่องรายการของโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกได้ไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที
  • 2. กลุ่มบริษัท ทรูวิชั่นส์ จะจ่ายค่าตอบแทนที่ได้รับจากการรับทำโฆษณาให้แก่ บมจ. อสมท เป็นเงิน 6.5% ของรายได้จากการรับทำการโฆษณาในแต่ละปี ก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำบันทึกข้อตกลงในการชดใช้ค่าเสียหาย กรณีที่กลุ่มบริษัททรูวิชั่นส์ ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นเงิน 87,919,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยแบ่งชำระเป็นรายเดือน จำนวน 12 งวด

ส่วนการเคลื่อนไหวราคาหุ้น บมจ.อสมท เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2552 อยู่ที่ระดับ 20.90 บาท จากนั้นปรับตัวขึ้นมาปิดที่ 24.40 บาท เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2552 จากนั้นอ่อนตัวลงมาที่ 23.70 บาท เมื่อวันที่ 25 ก.ย. และขยับขึ้นมาอีกครั้ง โดยขึ้นไปสูงสุดที่ 25 บาท เมื่อวันที่ 2 ต.ค. และมีแรงเทขายออกมาทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนล่าสุดวานนี้ (8 ต.ค.) ปิดตลาดที่ระดับ 23.90 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ 1.24% โดยมีมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 85.27 ล้านบาท

Source:  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


  •  
  •  
  •  
  •  
  •