คำต่อคำ ‘สมชัย เลิศสุทธิวงค์’ ซีอีโอ AIS กับการขับเคลื่อนองค์กรฝ่าคลื่นดิสรัป และแผน ‘รีไทร์’ ในอีก 2 ปีที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน

  • 51
  •  
  •  
  •  
  •  

ที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ กับซีอีโอมากความสามารถของ AIS ‘สมชัย เลิศสุทธิวงค์’ ในหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจ แต่ครั้งนี้จะพิเศษกว่าเดิม!! เพราะนอกจากทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ถูก Disruption อย่างหนักแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นน่าสนใจที่เขาไม่เคยเปิดเผยกับที่ไหนมาก่อน

อย่างเช่น อะไรคือหัวใจในการพา AIS สู่ความสำเร็จ รวมไปถึงแผน ‘รีไทร์’การ ก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอในอีก 2 ปีข้างหน้า และใครจะขึ้นมาเป็น ผู้นำทัพ’ ต่อจากเขา

 

“เรื่อง Disruption ผมพูดมา 6-7 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาปีนี้ที่เกิดโควิด เพราะทุกอุตสาหกรรมโดนเทคโนโลยีดิสรัปตลอดไม่เว้นกระทั่ง AIS หลายคนบอกว่า เราน่าจะโชคดีอยู่ในธุรกิจดิจิทัลอยู่แล้ว แต่จริงๆ เราถูกดิสรัปโดย OTT Player อย่าง Facebook Google Youtube เช่น เราทำเรื่อง value add service หวังวันหนึ่งจะมีรายได้จากโฆษณาจาก Mobile Money เข้ามา สุดท้ายรายได้พวกนี้ไปเกิดใน OTT Player หมด

กระทั่งตอนนี้ SpaceX อยากสร้างดาวเทียมมาให้บริการฟรีอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราให้บริการเรื่องนี้อยู่แล้ว ถ้าเขาทำสำเร็จ AIS จะอยู่อย่างไร และยิ่งตอนนี้โควิด-19 ทำให้รายได้ในปัจจุบันของเราลดลง เหตุผลเพราะรายได้โรมมิ่งจากนักท่องเที่ยวที่ปีนึงมีหลายพันล้านบาทหายไปทันที อีกส่วนแม้คนจะใช้เยอะขึ้น แต่เราไม่สามารถเก็บเงินเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อไม่เอื้ออำนวย สิ่งเหล่านี้กระทบโดยตรงกับธุรกิจของเราเลย”

ในวิกฤต เห็นโอกาสที่ทำให้ Digitalization มาเร็วขึ้น

แม้จะถูกเทคโนโลยีดิสรัปอย่างหนัก โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เร็วและแรงขึ้น ทว่าท่ามกลางวิกฤติก็มีโอกาสตามมา นั่นคือ digitalization เกิดขึ้นได้เร็วขึ้นชนิดที่เรียกว่า คนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ซีอีโอ AIS บอกว่า เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เป็น 2 ปัจจัยที่สนับสนุนให้ digitalization เกิดขึ้นได้และเติบโตอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น การสั่งอาหารผ่านบริการเดลิเวอรี่หรือออนไลน์ เป็นบริการที่ผู้บริโภคเกือบต้องใช้ เพราะสะดวกสบาย ตอบโจทย์การใช้ชีวิจในปัจจุบัน ขณะที่ Digital Infrastructure ยังเป็นหัวใจสำคัญ โดยสิ่งที่จะเห็นในปี 2564 สำหรับ  AIS มีด้วยกัน 2 ประเด็นหลัก

ประเด็นแรก แม้หลายธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวหรือโดนพิษโควิด-19 เล่นงาน แต่อุตสาหกรรมโทรคมนาคม จะมีการเติบโตดีกว่าอุตสาหกรรมโดยรวม เช่น หาก GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ 4-5% โทรคมนาคมจะมีอัตราการโตสูงกว่า 4-5% เนื่องจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นแพลตฟอร์มจำเป็นที่คนต้องใช้ ประเด็นถัดมา นอกจากสินค้าบริการที่จะเป็นการติดต่อสื่อสารแล้ว อนาคต AIS จะเป็น Digital Infrastructure ให้กับอุตสาหกรรมอื่นมาก ๆ ขึ้น โดยเฉพาะการมาของ 5G ที่ได้เปิดตัวออกไป

“ผมเชื่อว่าในทิศทางของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในบ้านเราโดยเฉพาะเรื่องของ digital service ที่เราได้ลงทุนไปจะเป็นพื้นฐานการให้บริการทั้งส่วนตัวแล้วก็อุตสาหกรรม ตรงนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้เรามีรายได้จากอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เราเอา 5G ไปลงในภาคอุตสาหกรรมในนิคม ECC หรืออสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ”

คน คือหัวใจความสำเร็จ และการทรานฟอร์มองค์กรควรมาจาก คนใน

ถึงต้องเผชิญความท้าทายมากมาย แต่ทางคุณสมชัยพูดอยู่เสมอว่า AIS มีความแข็งแรง และเป็นเบอร์ 1 ในตลาด ซึ่งการมาถึงจุดนี้ไม่ได้มาจากการมีเทคโนโลยีที่ดีหรือมีเงินทุนแข็งแกร่งกว่าคนอื่น แต่หัวใจของความสำเร็จมาจาก ‘คน’ หรือบุคลากรทั้งหมดของ AIS ที่มีอยู่ 12,000 คน เนื่องจาก ‘คน’ เป็นผู้สร้างทุกอย่าง ฉะนั้นคุณสมชัย จึงให้ความสำคัญในการสร้าง culture ของ คน AIS ให้ทำงานด้วยความมุ่งมั่นและเต็มที่ ภายใต้หลักการง่าย ๆ 3 ข้อประกอบด้วย

  1. ‘ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและดูแลพนักงานอย่างดี’ ถือเป็นเรื่องพื้นฐานทั่ว ๆ ไปที่องค์กรควรมี เนื่องจากหากดูแลไม่ดี ให้ค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า พนักงานอาจไม่เต็มที่หรือทุ่มเทกับองค์กร
  2. ‘ให้โอกาส’ เป็นสิ่งที่ AIS ให้ความสำคัญต่อเนื่อง เพราะนอกจากพื้นฐานทางด้านการเงินแล้ว สิ่งที่คนต้องการ ก็คือโอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการทำงาน และโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตัวเองด้านต่าง ๆ
  3. ‘สร้างแรงบันดาลใจ’ โดยซีอีโอ AIS บอกว่า ตัวเองเป็น ‘นักปลุกระดมพนักงาน’ อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเชื่อว่า คนที่มีแรงบันดาลใจ หรือมี passion อยู่ในตัวจะสามารถทำอะไรได้เหนือกว่าพลังที่มาตรฐานจะทำได้ จึงได้ปลูกฝังความคิดของพนักงานในเรื่องนี้ให้กลายเป็น DNA ของคน AIS โดยแรงบันดาลใจที่ว่า ไม่ใช่เฉพาะในด้านการทำงาน หรือพัฒนาตัวเอง แต่รวมถึงการทำเพื่อสังคม ทำเพื่อประเทศชาติด้วย

“การ inspire คนทำได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น การทำตัวให้เป็น role model ให้กับเขาให้ได้ ถ้าเราอยากให้องค์กรไปเป็นแบบไหน เราต้องเป็นแบบอย่าง เช่น ผมบอกว่าเราอย่าเย่อหยิ่ง เราต้องทำตัวง่ายๆ ถ้าผมทำตัวเป็นเจ้าขุนมูลนายคงไม่สามารถ inspire คนได้ อีกส่วน คือ ใส่ในขั้นตอนการทำงาน เช่น เราจะเป็นองค์กร innovation ก็สนับสนุนให้คนลองทำ innovation อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่พูด และการทรานฟอร์มองค์กรที่ดีควรมาจากคนใน”

แล้วทำไมการทรานฟอร์มองค์กรควรมาจาก คนใน?

ที่มาของความคิดนี้ คุณสมชัยอธิบายว่า เกิดขึ้นในช่วงที่เขาได้แสดงวิสัยทัศน์กับบอร์ดบริหารช่วงที่ถูกคัดสรรเพื่อขึ้นมารับตำแหน่งซีอีโอ เพราะมองว่า AIS เป็นองค์กรใหญ่ที่ดีมีความแข็งแรงอยู่ในองค์กร ซึ่งหาก ‘คนนอก’ เข้ามาอาจจะไม่รู้ถึงความแข็งแรงนี้หรือมองเป็นอุปสรรค จนเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นจุดแข็งเหล่านี้ไป

“คนนอกมาถึงอาจจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การทำได้เร็วมีทั้งโอกาสจะสำเร็จเร็วหรือผิดพลาดเร็วจนเรือใหญ่ล้มได้เหมือนกัน ขณะที่คนในทำถึงจะช้ากว่า แต่การที่เห็นอะไรเป็นจุดอ่อนเป็นจุดแข็ง แล้วพยายามรักษาจุดแข็งปิดจุดอ่อนน่าจะดีกว่า ผมจึงพูดในวันนั้นว่าอย่าทำลายหรือเปลี่ยนเรือใหญ่ของเราทันทีทันใด เพราะเรือใหญ่เป็นอะไรที่สร้างความมั่งคั่ง

อย่าง mobile business ก็ยังสร้างความเติบโตเพียงแต่เราต้องดูว่าเรือใหญ่จะต้องทำอย่างไรให้มันมีประสิทธิภาพขึ้น แล้วสร้างเรือเล็กๆ เกิดขึ้นมาใหม่ เช่น AIS Fiber ที่ไม่เคยทำหรือ เอ็นเตอร์ไพรส์ บิสสิเนสที่เราสร้างขึ้นมา ก็จะเป็นเรือเล็กๆ ในการสร้างรายได้ใหม่ แทนที่จะไปแก้กระบวนการของเรือใหญ่ เราจะสร้างเรือเล็กออกไปช่วย”

30 ปีที่ AIS กับหลากหลายเรื่องราว และอีก 2 ปีกับการ Retirement

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเกิดสงสัยตลอดการทำงานมากว่า 30 ปี ที่ AIS เริ่มต้นจาก ‘พนักงาน’ มาสู่การเป็น ‘ซีอีโอ’ ถือว่า ชีวิตประสบความสำเร็จที่สุดแล้วหรือไม่

คุณสมชัยตอบว่า เขาอาจประสบความสำเร็จในชีวิตทำงาน แต่ชีวิตส่วนตัวยังมี fail บ้าง และหากถามว่า ในฐานะซีอีโอมีเรื่องดีใจหรือเสียใจอะไรในการทำงาน เรื่องดีใจ ก็คือ การพาองค์กรผ่านพ้นวิกฤติในการช่วงเปลี่ยนผ่านจากสัญญาสัมปทานมาเป็นการขอใบอนุญาตได้ และได้คลื่นความถี่ได้เพิ่ม โดยเฉพาะช่วงกุมภาพันธ์ 2563 ที่ประมูลคลื่น 5G มาได้ เป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับคนที่จะมาขับเคลื่อนองค์กรต่อไป หลังจากก่อนหน้านี้ AIS มีข้อจำกัดในเรื่องคลื่นความถี่

“ตอนประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ต เราไม่สามารถประมูลได้ เพราะราคาพุ่งสูง ทำให้กังวลว่า ซิมจะดับไหม ลูกค้าที่มีอยู่ตอนนั้นประมาณ 8 ล้านคนจะหายไปหรือเปล่า แต่ก็สามารถผ่านไปได้ ตอนที่เราแข่งกับดีแทคในช่วงต้น ๆ เรามีคลื่นความถี่แค่ 17.5 เมกะเฮิร์ต ขณะที่ดีแทคมีถึง 75 เมกะเฮิร์ต เหมือนกับปืนแกปสู้กับปืนใหญ่ เราก็พยายามพัฒนาศักยภาพภายใต้ขีดจำกัด เป็นการมองปัญหาให้เป็นโอกาส ตอนนี้เรามีคลื่นเพิ่ม จึงเป็นช่วงที่ดีใจ สามารถสร้าง foundationให้คนรุ่นหลังได้”

ส่วนเรื่องเสียใจ ก็คือ ยังไม่สามารถทรานฟอร์มองค์กรไปเป็น Digital life Service ให้ได้ภายใน 5 ปี ตามที่พูดไว้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอได้ ซึ่งตอนนี้เขาดำรงตำแหน่งซีอีโอได้กว่า 6 ปีแล้ว สามารถดำเนินการทำได้เพียงครึ่งเดียว เพราะถูกดิสรัปจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น OTT และต้องแข่งกับยักษ์ใหญ่ระดับโลก ฯลฯ แต่สมชัยยังไม่ได้สิ้นหวังยังพยายามทำต่อไปก่อนจะรีไทร์จากตำแหน่งนี้ในอีก 2 ข้างหน้า

เมื่อคนทุ่มเทและมุ่งมั่นทำงาน จะรีไทร์

“จริง ๆ วางแผนจะรีไทร์ตอนอายุ 55 ปี แต่ช่วงนั้นยังมีภาระหน้าที่ที่ทิ้งไม่ได้ ทั้งเรื่องใบอนุญาตยังไม่เรียบร้อย แต่ตอนนี้พอประมูลคลื่น 5G มาได้ ทำให้รู้สึกสบายใจ และในอีก 2 ปี ตัวเองจะอายุครบ 60 ปี จึงมองเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะผมทำงานหนักและทุ่มเทมาตลอด 30-40 ปี”

หลังรีไทร์มีแผนจะทำ 2 เรื่อง ได้แก่ การรีไทร์จากตำแหน่งซีอีโอ มานั่งในฐานะที่ปรึกษา และใช้เวลาทำในสิ่งที่อยากทำแต่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิตส่วนตัว เช่น ไปเล่นกอล์ฟกับเพื่อน, ใช้เวลาอ่านหนังสือที่สนใจ ฯลฯ

โดยการรีไทร์จากตำแหน่งแม่ทัพ เป็นการหลีกทางเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน แต่หากบริษัทยังเห็นประโยชน์ให้โอกาสในการเป็นบอร์ดหรือที่ปรึกษา ก็จะใช้ความรู้ความสามารถที่มีมาช่วยบริษัทในฐานะเสนาบดีให้คำปรึกษา เพราะตัวเขามีความเชื่ออยู่ 2 อย่าง คือ

1.คลื่นลูกใหม่ ย่อมเก่งกว่าคลื่นลูกเก่าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุคดิจิทัล เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ 2. ในยุคใหม่คนที่เป็นแม่ทัพต้องทำงานหนักกว่าทุกคน จึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะถอยออกจากตำแหน่งนี้ ให้คนที่มีพลัง มีความสดใส และมีความสามารถมารับบทบาทแทน ส่วนตัวเขาเองขอใช้เวลาที่มีไปใช้ชีวิตส่วนตัวในสิ่งที่อยากทำ

ใครจะขึ้นมาเป็นแม่ทัพใหม่ AIS

สำหรับการเลือกซีอีโอคนใหม่ สมชัยบอกว่า ขึ้นอยู่กับบอร์ดบริหารที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมและคัดสรรตามหลักความโปร่งใส แต่หากถามว่า คนที่เขาอยากเลือกขึ้นมาเป็นแม่ทัพ AIS คนถัดไป จะต้องเป็นคนแบบไหนหรือมีคุณสมบัติอย่างไร

คำตอบ ต้องมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับตัวเขาเอง นั่นคือ ‘ขยัน ซื่อสัตย์ รู้จักพัฒนาตนเอง’ ซึ่งเป็นคติประจำใจที่ทางสมชัยยึดถือมาตั้งแต่เริ่มต้นทำงานจนถึงปัจจุบัน โดย ‘ขยัน’ มาจากความเชื่อส่วนตัวที่ว่า ไม่มีอะไรที่ประสบความสำเร็จได้ง่าย ๆ  ต้องอาศัยความทุ่มเท ขยัน

เพราะไม่เคยเห็นมหาเศรษฐีหรือคนที่ประสบความสำเร็จคนไหน ทำงานออกมาง่าย ๆ แล้วประสบความสำเร็จ

ส่วน ‘ซื่อสัตย์’ เนื่องจาก AIS เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความโปร่งใสมาก ดังนั้นการได้คนที่ซื่อสัตย์ หมายถึงจะได้คนดีที่ไว้ใจได้ สุดท้าย ‘การพัฒนาตัวเอง’ อย่างที่บอกไปโลกและความรู้มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สิ่งที่รู้ในอดีตหรือยุคนี้ไม่สามารถใช้ได้ในอนาคต การพัฒนาตัวเองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงเสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ

อย่าเกี่ยงงาน ทำทุกอย่างเต็มที่’ เคล็ด(ไม่)ลับสู่ความสำเร็จ

สิ่งที่อยากฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จ หากได้รับโอกาส ‘จงอย่าปฏิเสธหรือเกี่ยงงาน และให้ตั้งใจทำเต็มที่’ เพราะท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้จะกลับมาเป็นประโยชน์สำหรับตัวเราเอง สรุปง่าย ๆ คือ ยิ่งทำเยอะ เรายิ่งได้ เหมือนกับฝึกวิทยายุทธ์เส้าหลิน ที่ยิ่งฝึก ยิ่งแข็งแกร่ง

เช่นเดียวกับตัวเขาเองที่ได้รับได้ขึ้นมาในตำแหน่งซีอีโอ AIS ไม่ใช่เพราะอยู่มานาน แต่มาจากการสับเปลี่ยนและดูแลหลากหลายสายงาน ทำให้เรียนรู้สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ และทักษะมากมาย เช่น การดูแลธุรกิจสัมพันธ์ ติดต่อกับหน่วยงานราชการ ได้ใช้ด้านทักษะในการต่อรอง คิดโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อคิดโซลูชั่นหาโปรดักท์ในการทำงานกับรัฐ

ถัดมา ดูแลงานด้าน value add service เกี่ยวกับบริการเสริมต่าง ๆ  ได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีและวิธีคิดแบบเอ็นจีเนียริ่ง ทำให้เข้าใจเรื่องเน็ตเวิร์ค และนำมาต่อยอดในมุมของ customer มาถึงสายงานด้าน sale and marketing เป็นการเรียนรู้ในอีกศาสตร์ ซึ่งทุกการเปลี่ยนแปลง สมชัยมองเป็นทั้งโอกาสและรู้สึกสนุกที่ได้เรียนรู้ใหม่เสมอ

“นอกจากข้อคิดข้างต้นแล้วในฐานะเขียนหนังสือธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ผมอยากให้ทุกคนเป็นคนธรรมดา ผมเองก็เป็นคนธรรมดา ให้ปล่อยวาง อย่ายึดติด มันไม่ใช่เรื่องพระพุทธศาสนา อะไรที่ทำแล้วมีความสุขทำไป ภายใต้กรอบของศีลธรรมความดี อย่างถามผมว่า รีไทร์ไปมีเงินเยอะไหม บอกเลยไม่ได้เยอะ แต่ผมมีความพอใจ ไม่ได้ดิ้นรนอยากมี อยากได้ แค่นี้ผมพอใจ เป็นคนดีใช้ชีวิตธรรมดาแบบมีความสุข แค่นี้ก็พอ”

และนี่เป็นเพียงเรื่องราว ตลอดจนมุมมองส่วนหนึ่งที่ต้องบอกว่า น่าสนใจมาก ๆ ของ คนธรรมดา ที่(ไม่)ธรรมดา ‘สมชัย เลิศสุทธิวงค์’ ซีอีโอ AIS


  • 51
  •  
  •  
  •  
  •