HLP ดิจิทัล โซลูชั่น เอเจนซี่ เผยกลยุทธ์สำคัญเหนือเทคโนโลยี คือการค้นหา Pain Point และการวัดผลได้อย่างที่รวดเร็ว

  • 699
  •  
  •  
  •  
  •  

ทุกวันนี้ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นทั้งเรื่องชีวิตประจำวัน และเรื่องของการทำธุรกิจ เราจะเห็นว่ามีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยให้วิถีชีวิตรวมถึงการทำงานต่างๆ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว หลายๆ คนมักเข้าใจผิดคิดว่าประเทศไทยว่าไม่สามารถเก่งหรือเทียบเท่ากับต่างชาติได้ แต่จริงๆแล้วเทคสตาร์ทอัพในประเทศไทยมูลค่าการลงทุนรวมที่เปิดเผยได้อยู่ที่ 1,188 ล้านบาท (ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/714352) ในจำนวนนี้มีกลุ่มที่มีศักยภาพสามารถสร้างรายได้จากต่างประเทศที่เป็นกอบเป็นกำช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอยู่ไม่น้อย

hlp hili
คุณเม่น-จักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์ และ คุณอาร์ท-ชัยยส ชัยยามานนท์ (จากซ้ายมาขวา)

และหนึ่งในบริษัทที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยีและอยู่เบื้องหลังบริษัทใหญ่ๆ ทั้งในและนอกประเทศมากมายได้แก่ HLP หรือ Hua Lampong Company Limited อ่านชัดๆ ว่า ‘หัวลำโพง’ บริษัทคนไทยที่มีทีมงานเป็นคนไทย 100% แต่ลูกค้าหลายเจ้าเป็นต่างชาติ ทั้งจากยุโรปและเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น บริษัทคอร์ปอเรทใหญ่ๆ Hotel Chain เครือโรงแรมระดับโลก แม้แต่สโมสรฟุตบอลอังกฤษ ก็ไว้วางใจทีมของ HLP ให้มาดูแลงานหลังบ้าน ซึ่งวันนี้ทีมผู้บริหารจะมาเผยถึงแนวคิดการทำงาน และจุดแข็งของธุรกิจเทคโนโลยีไทยทำไมต่างชาติถึงไว้ใจเรามากกว่าประเทศอื่นๆ รวมทั้งเทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่แบรนด์และบริษัทต่างๆควรจะต้องตั้งรับและเตรียมพร้อมรับมือในตอนนี้ สองผู้บริหารหนุ่มที่จะมาร่วมพูดคุยกับเราได้แก่ คุณอาร์ท-ชัยยส ชัยยามานนท์  Chairman และ คุณเม่น-จักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์ Co-Founder

hlp7

“หัวลำโพง-สามย่าน” สอดประสานงานเทคโนและมาร์เก็ตติ้ง

คุณเม่น เริ่มต้นด้วยเรื่องเบาๆ ถึงที่มาชื่อ Hua Lampong (หัวลำโพง) ว่าชื่อเพราะเรียกง่ายคนรู้จัก  อารมณ์แบบ Alibaba ที่คนรู้จักชื่อดีอยู่แล้ว  นอกจากนี้นัยยะซ่อนอยู่ความหมายของคำว่า “หัวลำโพง”  ก็เปรียบเสมือนสถานที่เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของผู้คน หรือ เปรียบเสมือนเป็นทั้งแหล่งรวม(หัว)เพื่อกระจายข้อความต่างๆให้ดังและชัดเจน(ลำโพง)

คุณอาร์ท เสริมว่าแรกเริ่มเราสร้าง หัวลำโพง มาเพื่อโฟกัสเฉพาะการสร้าง Mobile Application  อย่างเดียว ซึ่งย้อนหลังไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อนก็ถือว่าเป็นเทรนด์ใหม่ แต่เมื่อเราโฟกัสไปที่ app อย่างเดียวเราก็พบว่า ตลาดเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นความต้องการจะเป็นลักษณะดิจิตัลมาร์เก็ตติ้งแพลทฟอร์ม ที่ครบวงจรไม่ว่าจะเป็น เว็บ แอป โซเชียล  รวมถึงคอนเทนต์ต่างๆ ก็เลยดึงคุณเม่นมาเป็นซีอีโอให้กับอีกบริษัทหนึ่งในเครือ คือ “สามย่าน” ซึ่งจะเน้นการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ หรือทำแคมเปญต่างๆ ครอบคลุมด้านเทคโนโลยี โดยเน้นเรื่องของการสื่อสารเป็นหลัก ค่อนข้างไปทางการเป็นดิจิทัลเอเจนซี่ ซึ่งแตกต่างจาก  “หัวลำโพง” ที่เน้นงานสร้างเทคโนโลยี เป็นหลัก

“จริงๆ ตอนนั้นดิจิตัลเอเจนซี่ยังเป็นอะไรที่ใหม่มากๆ และที่เราทำมันก็คือดิจิตัลเอเจนซี่เลย ซึ่งสามย่านเราจะโฟกัสเรื่องมาร์เก็ตติ้ง ในขณะที่ HLP โฟกัสเรื่องโปรดักชั่น มันก็เลยเป็นจุดแข็งของเราในช่วงนั้นว่าเรามีทีมมาร์เก็ตติ้งด้วย มีทีมโปรดักชั่นด้วย ดิลิเวอร์ให้คุณครบ ถึงคุณจะไปเอเจนซี่รายใหญ่ๆ ยังไงก็ต้องกลับมาหาเราซึ่งเป็นซัพผลิตต่ออยู่ดี แต่ถ้ามาที่เราคุณก็ได้ครบหมด”

hlp5

ดิจิทัลโซลูชั่น ที่มุ่งแก้ Pain Point ให้ลูกค้า  

ความโดดเด่นในการทำงานของ HLP ที่ทำให้ลูกค้าทั้งในและนอกประเทศยอมรับ คุณเม่น เล่าว่า ที่ผ่านมาเรามองว่า ‘สามย่าน’ เป็นเอเจนซี่ ‘หัวลำโพง’ เป็นโปรดักชั่น แต่เมื่อทำไปได้สักระยะสุดท้ายก็รู้ว่ามันคือ Solution ที่เรานำเสนอให้กับลูกค้า เพราะแค่การมาร์เก็ตติ้งอย่างเดียวมันไม่ตอบโจทย์ แต่การที่มีโอกาสได้พูดคุยกับระดับเจ้าของกิจการทำให้เข้าใจว่าอย่างไรเสียเรื่องของการตอบโจทย์ทางธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ดังนั้น เราเลยไม่เรียกตัวเองว่าดิจิทัลเอเจนซี่แล้ว แต่เราคือ “ดิจิทัล โซลูชั่น” พร้อมกับรวมทุกบริษัทมาอยู่ในแบรนด์เดียวกันไปเลยภายใต้ชื่อ HLP  เพื่อนำเสนองานให้ลูกค้าแบบ “Integrationof Digital Solutions”

ยกตัวอย่างงานล่าสุด ที่ได้ออกแบบงานหลังบ้านให้กับโรงแรม Hotel Chain ระดับโลก เป็นงานที่ต้องดูแลระบบให้ทั้งหมดโดยแทนที่จะมุ่งไปที่ปัญหาการซื้อขายหรือลงทุน เราร่วมวิเคราะห์และเห็นถึงปัญหาที่แท้จริงของเขาคือเรื่องของการบุ๊กกิ้งที่มีการจองซื้อขายห้องพร้อมกันจากทั่วโลก สิ่งที่ต้องการคือจะทำอย่างไรให้เซลล์ได้ข้อมูลที่เร็วที่สุด ต้องรู้ด้วยว่าขายที่ไหน ขายไปเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ แล้วการเดินเรื่องของเซลล์ได้ผลแค่ไหน เรื่องถึงไหนแล้ว ฯลฯ เรียกว่าลูกค้าต้องการการ Real-time Tracking ติดตามผลด้านการขายอยู่ตลอดเวลาอย่างละเอียด ซึ่งเมื่อเข้าใจเราก็สามารถตอบโจทย์สร้างโซลูชั่นให้กับลูกค้าเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

“มันคือการมองหา Pain Point ให้ลูกค้า โดยเราเสนอว่าสิ่งที่จะทำให้การทำงานได้ประสิทธิภาพ ทั้งการ Tracking พฤติกรรมลูกค้า และการหาโซลูชั่นให้เป็นการทำงานที่ต้องครบวงจร ไม่ใช่แค่ช่วยส่งเสริมการขาย แต่เป็นหนึ่งในเครื่องมือหลักสำหรับการผลักดันยอดขายได้”

hlp3

จุดแข็งคือ ทีมงานที่ยอดเยี่ยมและวัดผลได้รวดเร็ว      

นอกเหนือจากการเข้าไปช่วยแก้ Pain Point ให้กับลูกค้า แล้วอีกสิ่งที่คุณอาร์ทระบุว่าคือจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ลูกค้ามั่นใจในฝีมือ HLP ก็คือความยอดเยี่ยมในการทำงาน

“เราเชื่อใน Excellency ของทีมงานเสมอ มันคือจุดเริ่มต้นที่มีทั้งความตั้งใจและใส่ใจของทีมงาน ทีมเราคัดกรองบุคคลากรที่มีทั้งบุคลิกความเอาใส่ใจ และความสามารถของทีมที่เข้ามาร่วมงานกัน ทำให้เราเชื่อมั่นในความเป็นทีมที่ยอดเยี่ยมที่ส่งผลถึงความสำเร็จก็จะออกมาดีที่สุด”

นอกจากนี้เรายังใส่ใจเรื่องการประเมินวัดผล HLP เราจะต้องตอบโจทย์ให้ลูกค้ารวดเร็วด้วย จากเดิมที่เราเคยส่งแบบการประเมินให้ลูกค้า 2 ครั้งต่อปี ตอนนี้เราก็ปรับให้รวดเร็วขึ้นเป็นการวัดผลทุกครั้งที่จบแคมเปญด้วยการตอบคำถาม 4 ข้อที่ช่วยระบุความชัดเจนถึงความต้องการ และปัญหา ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราและลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยน Customize แคมเปญได้อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองกับความต้องการในปัจจุบัน

คุณเม่น เสริมว่า เวลาที่ไปหาลูกค้าเราจะคุยกับลูกค้าคือการหารือในเรื่องของปัญหาธุรกิจ หรือ Pain Point ของเขามากกว่า เพราะไม่ว่าปัญหาเรื่องเทคโนโลยีบนโลกนี้เราเชื่อว่าทีมของเราทำได้หมดจัดเต็ม100 ได้อยู่แล้วแต่สิ่งที่เราต้องการคือทำให้เป็น 200%  คือเรา 100 แล้ว ลูกค้าก็ต้องได้ 100 ด้วยคือการนำสิ่งที่เรามีหรือเทคโนโลยีไปช่วยอะไรลูกค้าอย่างได้บ้างถึงจะแก้ปัญหาให้เขาได้จริงๆ

“เบื้องต้นลูกค้าอาจจะยังไม่เข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไร แค่คนอื่นมีเว็บ มี app กัน ฉันก็อยากจะมีด้วย แต่ถ้าเราและลูกค้ามีโอกาสได้คุยกัน เราก็จะสามารถคุยถึงปัญหาที่แท้จริงแล้วก็จะช่วยแก้กันแบบ integrated digital solutionการต้องเริ่มจากทีละจุดอาจจะดูไม่ทันใจในตอนต้น แต่ทั้งหมดนี้ทำให้เรามั่นใจว่าทุก solution ที่เรานำเสนอจะไม่แค่สามารถแก้ปัญหาแต่จะสามารถวัดผลได้ เราเชื่อว่านี่คือจุดสำคัญนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการทำงานร่วมกันในระยะยาว”  

hlp9

ความเหนือชั้นของไอทีไทย

เมื่อถามถึงการเปรียบเทียบฝีมือกับต่างประเทศด้านเทคโนโลยีแล้วคนไทยเราเก่งมากน้อยแค่ไหน คุณอาร์ท ตอบอย่างมั่นใจว่า คนไทยนี่แหละเก่งมาก ประเทศไทยเราเป็น Hub ของ คนทำงานทั้งด้าน developและ   Design ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่บริษัทในต่างประเทศยอมรับมั่นใจและไว้วางใจในฝีมือของคนไทยมาโดยตลอด

นอกจากนี้คุณเม่น ยังเสริมว่า ต้องบอกว่าในย่าน APAC นี้แม้สิงคโปร์อาจจะเป็นศูนย์รวมโปรแกรมเมอร์เก่งๆจำนวนมากกว่าเรา แต่ด้านดีไซน์แล้วอาจจะไม่ได้ดีกว่าเราด้วยความ Creative ที่มีทั้งความละเอียดและความใส่ใจที่คนไทยมีมากกว่าก็เลยทำให้บริษัทในต่างประเทศชอบคนไทย

“อย่างของ HLP คือถ้าเทียบแล้วฝรั่งหลายคนยอมบินมาคุยกับเรา มาจ้างเรา แน่นอนว่าราคาเราสูงกว่าตลาดไทยปกติ แต่ว่าต้นทุนรวมเราก็ยังต่ำกว่าฝรั่งทำเอง และด้วย Service Mind ที่เรามีทำให้ใครๆ ก็อยากทำงานกับเราด้วย”

hlp4

Machine Learning คือเทคโนโลยีที่จะเป็น Mainstream ต่อไป

เทคโนโลยีโลกก้าวไปอย่างรวดเร็ว มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นให้จับตามากมาย ไม่ว่าจะเป็น AI, AR, VR หรือ IoT แต่สิ่งที่จะกลายมาเป็น Mainstream คืออะไร คุณอาร์ท มองว่ามันคือ Machine Learning  โดยบอกว่า Machine Learning  จะช่วยในการวิเคราะห์และประมวลผลให้การทำงานของมนุษย์รวดเร็วขึ้น เช่นเว็บไซต์ที่มีการเก็บข้อมูลของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมไว้มากมาย จะทำให้เราทราบได้ทันทีเลยว่า เว็บของเรากลุ่มคนประเภทไหนสนใจมากที่สุด หรือแบรนด์ของเรามีใครสนใจจะซื้อสินค้าหรือมาเป็นลูกค้ามากที่สุด

ยกตัวอย่างว่า ถ้ามีคนเข้าเว็บมาไม่เยอะมาก 50-100 คน ใช้มนุษย์ประมวลผลก็อาจจะไหว แต่ถ้าเกิดมีคนเข้ามาเป็นแสนๆ คน ตรงนี้ก็คิดว่าการใช้เทคโนโลยี หรือสมองกลมาช่วยก็จะดีกว่า หลักคือการเอาแพท เทิร์นของคนไปสอนแมชชีน ซึ่งแมชชีนนั้นก็จะเรียนรู้จากแพทเทิร์นที่เราป้อนลงไป แล้วก็เอาไปประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว แถมยังบอกเราได้ด้วยว่าเราพลาดอะไร ตรงจุดไหนยังไง ดังนั้น Machine Learning น่าจะมีประโยชน์ในอนาคตอันใกล้นี้

hlp6

“เป็นการสอนแมชชีนให้คิดผ่านดาต้าข้อมูลต่างๆ เพื่อให้หุ่นยนต์คิดได้แบบเรา ซึ่งผมคิดว่านี่คือ เทรนด์ที่จะเกิดขึ้น และทาง HLP เองก็ทำอยู่ เพื่อให้ลูกค้าได้ไปใช้อันใกล้นี้”  

แนะแบรนด์ภาคธุรกิจ เริ่มต้นเก็บดาต้าได้แล้ว

เมื่อเทรนด์เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจมากขึ้น แบรนด์และภาคธุรกิจควรจะตั้งรับอย่างไร      คุณเม่น แนะนำว่า ตอนนี้ใครมีดาต้า คือคนที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุด เราเห็นตัวอย่างจากทั้ง Alibaba และ Facebook แล้ว ดังนั้นเมื่อ Big Data สำคัญแล้วคุณจะทำอะไรกับมันต่อไปดีล่ะ ก็ต้องกลับมาที่ Machine Learning ซึ่งจะสร้างให้ข้อมูลเหล่านั้นมีค่าได้โดยใส่ข้อมูลไปให้แมชชีนได้เรียนรู้ แล้วเกิดการวิเคราะห์ผลออกมา ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่ดีที่แบรนด์ควรจะเริ่มทำตอนนี้เลยคือ”การเก็บข้อมูล” ก่อน

คุณอาร์ท เสริมต่อว่า เมื่อเก็บข้อมูลแล้วต้องทำอย่างเป็นระบบด้วยโดยถัดมาอย่างที่สองที่ควรทำคือ อย่าฟันธง คือ อย่าเพิ่งไปฟันธงว่าอันนั้นถูกอันนี้ผิด แต่ให้ทดลองทดสอบความถูกต้องก่อนแล้วจึงเริ่มเก็บสถิติมาวิเคราะห์ว่าสิ่งไหนดีที่สุด เมื่อได้บทพิสูจน์แล้วจึงนำมาปรับ Optimize ไปตามกระบวนการ เพื่อทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วนำสิ่งที่ Optimize แล้วไปปรับสอน machine ต่อ เพื่อความรวดเร็วในการประมวลผล เราเชื่อว่าเราสามารถสร้างเป็นสูตรความสำเร็จให้เกิดขึ้นในอนาคต

hlp2

เสน่ห์การทำงานกับมนุษย์ไอที

ว่ากันว่าคุยกับมนุษย์ไอทียากที่จะสื่อสารด้วย ตรงนี้คุณเม่นให้อีกมุมมองที่น่าสนใจว่า แต่ทำงานกับคนไอทีดีตรงที่ว่าไม่ค่อยมีปัญหาดราม่า เพราะว่าแทบทุกอย่างจะใช้หลักลอจิกล้วนๆ มีตัวเลขสถิติบอกกันได้อะไรผิดอะไรถูก รุ่นพี่หรือลูกน้องสามารถเดินมาบอกได้เลยว่า ‘เฮ้ย! พี่ตรงนี้มี bug  ซึ่งคิดว่าวัฒนธรรมแบบนี้ทำกันไม่ได้ในองค์กรอื่นๆ ทำให้เราชอบทำงานกับไอทีมาก แล้วก็ไม่ค่อยมีปัญหาในการmanage ทีม

ถามต่อถึงตลาดไอทีตอนนี้ขาดแคลนแรงงานมากน้อยแค่ไหน คุณเม่นตอบอย่างเร็วว่า ขาดตลอดเวลาและเกิดกับทั้งโลกด้วย เพราะไม่ว่ายังไงเทคโนโลยีมันก็ไปเร็วไปไวกว่าที่มหาวิทยาลัยสอนแน่นอน ตรงนี้เราไม่คาดหวังเลยว่าจะเป็นใคร สุดท้ายฝีมือไม่สำคัญเท่ากับเรื่องของทัศนคติ

“เราจะดูว่าคุณพร้อมเรียนรู้ไหม ยอมรับความผิดพลาดได้ไหม ถ้าเป็นคนแบบนี้มาจะไปได้ไกลมาก จะมารักษาหน้าหรือหน้าใหญ่ไม่ได้เลย มันไม่มีอะไรที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเลยเพราะฉะนั้นน้องต้องมาเรียนรู้ใหม่กันแทบจะตลอดเวลา”

คุณอาร์ทเสริมว่า อย่างทีมงานหลายคนที่ทำอยู่ตอนนี้ ก็ไม่ใช่ Skill เดียวกับที่เคยเรียนรู้สมัยอยู่มหาวิทยาลัย ฉะนั้น เราก็จะมองหาคนที่มีทัศนคติดี เป็นคนคิดบวก นี่คือสิ่งที่หลายบริษัทกำลังต้องการ

hlp8

เป็นพันธมิตรร่วมกับ Muse Foundation สร้างคนสร้างงานให้ท้องถิ่น

ในตอนท้าย คุณเม่นและคุณอาร์ท มองว่า ในเมื่ออนาคตโลกกำลังจะก้าวไปข้างหน้าผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้น ไทยก็ควรจะรับมือเทรนด์สำคัญนี้ด้วยการผลิตคนให้ทันต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น ทาง HLP จึงได้ร่วมกับ Muse Foundation ศูนย์การเรียนรู้ที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน โดยร่วมกันเปิดคอร์สออนไลน์สอนการสร้างเว็บตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้น advanceสำหรับระดับ SME นำไปใช้ในการขายของออนไลน์ได้ทันที

muse2

คุณเม่น กล่าวว่า ตนเองตั้งใจจะทำให้ Muse Foundation เป็นเสมือนโรงเรียนด้านเทคโนโลยีให้กับคนในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ค้าขายด้านอีคอมเมิร์ซด้วย เมื่อคุณจบหลักสูตรไปแล้ว ยังหาตลาดวางสินค้าไม่ได้ก็สามารถมาลงที่เราได้ เพราะเราพร้อมเป็น Marketplace ให้คุณได้อีกด้วย

“เราอยากจะพัฒนาเด็กและคนในท้องถิ่นให้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมอีคอมเมิร์ซ จะได้ไม่มีปัญหาการว่างงานหรือต้องไปทำงานที่กรุงเทพฯ เมื่อเขาเรียนรู้ว่าสามารถมีงานและมีรายได้ที่บ้านเกิดโดยไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานไปก็จะยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชนให้ดีขึ้น แล้วตอนนี้นอกจากคนไทยแล้วก็ยังมีคนลาวมาเรียนด้วยซึ่งตอนนี้เขาสามารถไปเปิดเว็บสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้แล้ว”  

และนี่คือตัวอย่างหนึ่งของบริษัทไทยที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีแบบไม่น้อยหน้าต่างประเทศ ที่ยังมองหาการคืนกำไรให้กับบ้านเกิดด้วย และด้วยศักยภาพของคนไทยที่มีอย่างเต็มเปี่ยม ก็น่าจะผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นสู่ระดับแถวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการตลาดในภูมิภาคได้อย่างไม่ยากนัก.

Copyright © MarketingOops.com


  • 699
  •  
  •  
  •  
  •