Amazon มีแผนสร้างแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตของตัวเอง หลังซื้อ Whole Foods มาปีกว่า

  • 226
  •  
  •  
  •  
  •  

(เครดิตภาพ Joe Klamar/AFP/Getty Images)

หลังชิมลางในธุรกิจค้าปลีกแบบออฟไลน์อย่างเต็มตัวมานานเกือบ 2 ปี นับจากวันที่ Amazon เข้าซื้อกิจการ Whole Foods แบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตไฮเอ็นด์ของสหรัฐฯ และเมื่อไม่กี่วันมานี้ Wall Street Journal (WSJ) ได้รายงานว่า Amazon มีแผนจะสร้างเชนซูเปอร์มาร์เก็ตของตัวเองเพื่อขยายไปจับตลาดกลุ่มล่างกว่าเชน Whole Foods

รายงานจาก WSJ ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่าซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ใหม่นี้จะใช้ชื่อ Amazon หรือไม่ แต่เบื้องต้น Amazon วางแผนจะเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ใหม่นี้ประมาณ 12 สาขาทั่วประเทศอเมริกา โดยสาขาแรกน่าจะได้เห็นภายในปลายปีนี้ที่เมือง Los Angeles จากนั้นจะได้เห็นตามมาอีกหลายสาขาในช่วงต้นปีหน้า รายงานยังระบุอีกว่า เป็นไปได้ที่ Amazon อาจใช้วิธีซื้อกิจการเชน Grocery Store ขนาดเล็กระดับภูมิภาคเพื่อให้แผนการนี้ลุล่วงได้อย่างรวดเร็ว

ย้อนก้าวแรกของ Amazon ในธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตออฟไลน์

Amazon_Whole_Foods_grocery_retail
ก้าวแรกสู่ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตแบบ Brick-and-Mortar ของ Amazon (เครดิตภาพ supermarketnews.com)

ราวกลางเดือน มิ.ย. 2017 Amazon เข้าซื้อกิจการ Whole Foods เชนซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมี่ยมที่เน้นขายสินค้าออร์แกนิคซึ่งมีสาขามากถึงกว่า 470 สาขา ด้วยมูลค่าสูงถึง 1.37 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยหลังจากซื้อกิจการสำเร็จ Amazon ได้ปรับราคาของสินค้าบางรายการลง พร้อมกับใช้ Whole Foods เป็นแพลตฟอร์มในการขยายฐานลูกค้าและสร้างความจงรักภักดี (Loyalty) ต่อแบรนด์และบริการของ Amazon ได้เป็นอย่างดี

ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ “ป้ายเหลืองลด 10%” สำหรับสมาชิก Amazon Prime หรือ “ป้ายน้ำเงิน” สินค้าราคาพิเศษเฉพาะ Amazon Prime เท่านั้น รวมถึงสิทธิส่งฟรีในรัศมีไม่เกิน 2 ชม. และบริการ Prime Pantry ซึ่งสมาชิก Amazon Prime จะได้รับบริการส่งอาหารและวัตถุดิบไปสต็อกถึงบ้านทุกวัน เป็นต้น นอกจากนี้ Amazon ยังได้สร้างตู้ล็อกเกอร์เอาไว้ที่ Whole Foods ในหลายสาขา เพื่อจัดส่งสินค้ารายการอื่นๆ ที่ขายบนเว็ป Amazon ไปยังลูกค้าพื้นที่นั้นๆ

จากดีลนี้ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ยังมีสิ่งมีค่าอีก 2 รายการที่ Amazon ได้รับจาก Whole Foods นั่นคือข้อมูล (Data) และองค์ความรู้ในการจัดส่งสินค้าสด ซึ่ง Whole Foods สามารถทำได้ดีและได้รับความเชื่อถืออย่างมากจากลูกค้า

ทั้งนี้ CNBC ระบุว่า จริงๆ แล้วความพยายามกระโดดเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกแบบออฟไลน์ของ Amazon เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ผ่านร้าน Amazon Go ต้นแบบร้านสะดวกซื้อไร้เงินสดที่โด่งดังไปทั่วโลก

ยักษ์รีเทลสหรัฐฯ บางแบรนด์ตื่นแล้ว แต่บางแบรนด์ก็ล้มไม่ฟื้น

walmart
หนึ่งในเชนค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ลุกขึ้นมาปรับตัวครั้งใหญ่ (เครดิตภาพ Gettyimages)

หลังดีลใหญ่ระหว่าง Whole Foods กับ Amazon ไม่นานนัก ก็เกิดความเคลื่อนไหวสำคัญในธุรกิจรีเทลของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Walmart ที่ซื้อ Flipkart บริษัท e-commerce ของอินเดีย หรือ Target ที่ซื้อบริการส่งสินค้า (Delivery) ของ Shipt และ Kroger ที่ลงทุนใน Ocado ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์สัญชาติอังกฤษ พร้อมทั้งซื้อบริษัท Home Chef ผู้ให้บริการปรุงอาหารส่งถึงบ้าน (Meal kits) เพื่อต่อยอดบริการ เป็นต้น

ทั้งนี้ การประกาศแผนการสร้างเชนซูเปอร์มาร์เก็ตใหม่ของ Amazon เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวการปิดสาขาของแบรนด์รีเทลหลากหลายแบรนด์ รวมถึงแบรนด์ Grocery Store หลายแห่งในอเมริกา อาทิ Walmart ที่มีแผนจะปิด 5 สาขาในเร็วๆ นี้ แต่ที่หนักที่สุดคงหนีไม่พ้น Sears และ Kmart อดีตแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจ Grocery Store ของอเมริกา ที่เพิ่งบริษัทแม่ ได้แก่ Sears Holding ยื่นขอล้มละลายไปเมื่อกลางเดือน ต.ค. 2018 และสิ้นปีก็ได้มีการปิดสาขา Kmart ไปแล้วร่วม 150 สาขา กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีประกาศจะปิดสาขาทั้ง Sears และ Kmart รวมกัน 80 สาขาภายในเดือน มี.ค. นี้  เช่นเดียวกับ Winn-Dixie เชน Grocery Store ชื่อดังทางตอนใต้ของอเมริกาที่เข้าข่ายล้มละลาย และได้ปิดสาขาไปแล้วเกือบ 100 สาขา โดยในปีนี้จะปิดเพิ่มอีก 20 กว่าสาขา

payless_shoesource_closing
Payless Shoesource เตรียมปิดสาขากว่า 2,000 สาขา (เครดิตภาพ Shawn Hill/Shutterstock)

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแบรนด์รีเทลในสหรัฐฯ ที่เตรียมปิดสาขาในปีนี้ เช่น Payless Shoesource ที่เตรียมปิดอีกกว่า 2,000 สาขาในอเมริกาและเปอร์โตริโก เช่นเดียวกับ Gymboree ที่เตรียมปิดสาขาอีก 900 สาขา หลังจากทั้งคู่ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลาย (Bankruptcy Protection) ครั้งแรกเมื่อปี 2017 และเตรียมยื่นเป็นครั้งที่สองในปีนี้

เรียกได้ว่า การรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกแบบอออฟไลน์ของยักษ์ใหญ่จากโลกออนไลน์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมค้าปลีกของอเมริกาเกิดความสั่นไหวได้อย่างมาก กลับมามองบ้านเรา ก็น่าเป็นห่วงว่า ธุรกิจรีเทลของคนไทยจะรับมือไหวไหม … ถ้าหากยักษ์ออนไลน์จากฝั่งตะวันตกอย่าง Amazon หรือยักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง Alibaba จะเข้ามาเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองไทย!!!

แหล่งข้อมูล cnbc, amazon, richmond, money.com, cbsnews, investorplace

 


  • 226
  •  
  •  
  •  
  •  
Tummy
เมื่อไหร่ที่หยุดพัฒนาตัวเอง ถึงแม้เราไม่ได้ถอยหลัง แต่โลกก็จะทิ้งเราไว้ข้างหลังและหนีห่างออกไป จนวันหนึ่งเมื่อตื่นมา เราอาจรู้สึกแปลกแยก ... มาเปิดโลกทัศน์ แล้วสนุกกับทุกความเคลื่อนไหวในโลกใบนี้ไปพร้อมกันนะคะ