‘ซีอีโอ’ ประเมินปี 52 วิกฤติโลกรุนแรง

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ซีอีโอประเมินธุรกิจไทยรับผลกระทบจากปัจจัยวิกฤติการเงินโลกปี 2552 สูงกว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ เหตุไทยยังต้องพึ่งการส่งออก เห็นชัดจากคำสั่งซื้อที่เริ่มชะลอตัวต่อเนื่องถึงปีหน้า แนะตั้งรับทำธุรกิจควรใช้ “แคชโฟลว์” แทนกู้เงินแบงก์

หลังจากเกิดวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐอเมริกาและลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มส่งผลต่อภาคธุรกิจอย่างมากในทุกภาคส่วน “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษมุมมองและแนวคิดของซีอีโอจำนวนหนึ่ง เพื่อประเมินผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลก และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ต่อการดำเนินธุรกิจในปี 2552

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ มองว่า วิกฤติเมื่อปี 2540 ใกล้ตัวกว่า เพราะธุรกิจในบ้านเราล้มระเนระนาด แต่ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ไกลตัว ผลกระทบต่อไทยเพียงแค่ชะลอตัว แต่การดำเนินธุรกิจลำบากขึ้น การบริหารกิจการในเครือกว่า 200 บริษัท ต้องใช้นโยบายหลากหลาย ยืดหยุ่น และอาจต้องลดเป้าลง

นายบุณยสิทธิ์ เชื่อมั่นว่าสุดท้ายเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว เพราะไทยมีผู้ประกอบการที่เก่งหลายอุตสาหกรรม ล้วนมีบทเรียนจากวิกฤติเมื่อ 10 ปีก่อน และพร้อมจะแก้ปัญหา “เมื่อปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 40 บาทต่อดอลลาร์ เหลือเพียง 30 บาท เราก็ผ่านมาแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะในสถานการณ์หรือวิกฤติใดๆ ก็จะผ่านพ้นไปได้ แต่ต้องเดินอย่างถูกทาง โดยเฉพาะแนวทางและมาตรการของภาครัฐ ถือเป็นกลไกสำคัญเช่นกัน”

ระบุปัจจัยภายนอกกระทบรุนแรง

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒน์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กลับมองว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งเศรษฐกิจโลก ปี 2552 ปัจจัยภายนอกจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าปัจจัยภายใน จึงเป็นห่วงปัญหาเศรษฐกิจโลก มากกว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น

เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกส่งผลให้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ประกอบการต้องลดเวลาการทำงาน รายได้ของคนงานลดลง มีผลต่อการบริโภคในประเทศปีหน้าแน่นอน ราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงช่วงนี้ อาทิเช่น ข้าว ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง และรายได้ของประชาชนที่ลดลง มีผลทำให้เศรษฐกิจหดตัว

ส่วนปัญหาความขัดแย้งภายใน นายสันติมองว่าจะส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ แต่ก็เป็นเรื่องที่สร้างขึ้นมาได้ ถ้ารัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจก็จะกลับมา แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากภายนอก เป็นเรื่องไทยเข้าไปแก้ไขได้ลำบาก รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องแข่งขันกับต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาที่แต่ละประเทศ พยายามลดราคาสินค้าตัวเองลง

ทั้งนี้ เครือสหพัฒน์เองก็มีการปรับตัว เพื่อรองรับกับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี โดยปรับลดต้นทุนกระบวนการผลิต ลดสต็อกและพยายามขายสินค้าให้เร็วขึ้น ต่อไปจะพยายามหาแหล่งเงินกู้ให้ที่มีต้นทุนทางการเงินลดลง ปีนี้ยอดขายของเครือขยายตัวไม่มาก แต่ยอดกำไรขยายตัวสูงมาก แสดงให้เห็นว่าผลจากการลดต้นทุนได้ผล เป็นเรื่องที่เครือสหพัฒน์ต้องดำเนินต่อในปีหน้า

นายสันติ กล่าวว่า การบริหารธุรกิจในปี 2552 จะลำบากมากกว่าปี 2551 เพราะการแข่งขันของผู้ประกอบการจะสูงมาก โดยผลกำไรปีหน้าอาจจะสู้ปีนี้ไม่ได้ เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดโปรโมชั่น แต่เครือสหพัฒน์จะพยายามรักษายอดส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ โดยจะใช้วิธีแถมสินค้ามากกว่าการลดขนาดสินค้า และไม่มีสินค้าค้างอยู่ในสต็อก

“พงษ์ศักดิ์”ชี้วิกฤติการเงินโลกจบลงไม่ง่าย

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด กล่าวว่า สำหรับผู้ส่งออกแล้วเห็นว่า ปัจจัยลบทางเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศ เป็นเรื่องที่ “หนักกว่า” ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายใน เพราะวิกฤติการเงินโลกเป็นเรื่องที่ไม่จบลงง่าย แม้ว่านายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ จะเร่งแก้ปัญหาแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และคงไม่มีผลทันที อาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2552

ส่วนปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายใน เป็นเรื่องที่กระทบกับธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะต่างชาติยกเลิกการจองทัวร์ และนักท่องเที่ยวไม่กล้าเข้ามาไทย ไม่มั่นใจต่อความปลอดภัย ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลต่อเนื่องไปถึงการผลิต ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การเมืองที่ไม่นิ่งทำให้กระทบการความเชื่อมั่นการลงทุนและการบริโภคในภาพรวม

โรงงานทอผ้ากรุงเทพลูกค้าหลักอยู่ที่สหรัฐและยุโรป การส่งออกผ้าปูที่นอนไปสหรัฐ จะส่งไปยังห้างวอลมาร์ท เมื่อกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้นำเข้าต่อรองราคามากขึ้น ห้างวอลมาร์ทเป็นผู้ซื้อรายใหญ่เน้นการขายให้มากขึ้น โดยจะลดการผลิตให้กับลูกค้ารายเล็ก ที่ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าแต่เป็นสินค้าราคาแพง เพราะอาจไม่เหมาะกับสภาพตลาดของสหรัฐในปัจจุบัน จะพยายามส่งมอบสินค้าให้เร็วกว่าผู้ผลิตรายอื่น เพื่อสร้างความแตกต่าง

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า การหาตลาดใหม่เป็นเรื่องที่ดำเนินการต่อเนื่องอยู่แล้ว เพราะต้องใช้เวลา ช่วงนี้ทุกประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐ ต่างก็ต้องเร่งหาตลาดใหม่เช่นกัน เราคงต้องเพิ่มการส่งออกไปตลาดอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากข้อตกลงอาฟตาทำให้การส่งออกสิ่งทอภายในอาเซียน ไม่ต้องเสียภาษี โดยปรับรูปแบบการผลิตสินค้าให้มีราคาถูกลง และการหาตลาดใหม่ในอาเซียนมากขึ้น

ซีพีเอฟชี้วิกฤตินอก-ในสำคัญเท่ากัน

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) กล่าวถึง วิกฤติการเงินโลกที่เกิดขึ้นเทียบกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ “ผมว่ามีน้ำหนักทั้งคู่ แต่เศรษฐกิจเรา จีดีพีต้องพึ่งส่งออกถึง 55% แสดงว่ารายได้จากการผลิตต้องพึ่งต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น เมื่อเกิดปัญหากำลังซื้อลดลง การส่งออกกระทบแน่นอน” นายอดิเรกกล่าว

สำหรับปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ นายอดิเรก มองว่า ความมั่นใจของผู้ลงทุนทุกวันนี้จริงๆ ก็หดหายไปแล้ว ทุกคนก็ระมัดระวัง และรับรู้ปัญหาการเมืองมาตลอด รัฐบาลเองก็เปลี่ยนบ่อย การใช้จ่ายงบประมาณจากภาครัฐ ยังออกมาใช้จ่ายไม่เต็มที่ในขณะนี้

สำหรับซีพีเอฟวิกฤติที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบเช่นกันแต่น้อย เมื่อดูจากครัวเรือน คนยังต้องกินอาหาร เมื่อเทียบกับรถยนต์ บ้าน เพชรพลอย อาจซื้อน้อยลง แต่อาหารยังต้องซื้อต้องกิน ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นซีพีเอฟกระทบไม่มาก เพราะเราระมัดระวังการลงทุนมาเมื่อ 2-3 ปีก่อน แต่หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและปลอดภัย ขณะนี้ จีนในฐานะคู่แข่งก็มีปัญหาคุณภาพสินค้า มีปัญหาเมลามีน ส่งผลให้ลูกค้าญี่ปุ่น หันมาซื้อสินค้าจากไทย

ส่วนการดำเนินธุรกิจในปีหน้า ผู้บริหารก็ต้องระมัดระวัง การลงทุนก็จะน้อยลง เมื่อกำลังซื้อทั่วโลกลดลง ในประเทศก็ลดลง ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเพิ่มการลงทุน แต่ซีพีเอฟจะเน้นการลงทุนในส่วนของแบรนดิ้ง มาร์เก็ตติ้ง และการพัฒนาคุณภาพสินค้า การลงทุนส่วนนี้เรายังต้องทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค แต่การลงทุนขยายงานเหมือนในอดีตคงต้องชะลอลง เพราะกำลังซื้อของทั้งโลกไม่ดี

นายอดิเรก กล่าวว่า เมื่อไม่ขยายการลงทุนใหม่ๆ จำเป็นต้องหันมาใช้โรงงานเก่า เครื่องมือเก่า ดังนั้น การบริหารท่ามกลางวิกฤติอย่างนี้จำเป็นต้องเข้มข้น และเป็นสิ่งที่ซีพีเอฟทำมาตลอดอยู่แล้ว องค์กรอยู่ได้ก็ต้องมีประสิทธิภาพสูง การบริหารงานก็ต้องมีการทบทวนตลอดเวลา

ปตท.วางยุทธศาสตร์ลงทุน-ตลาดใหม่

นายสุรงค์ บูลกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มองว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ปริมาณการค้าหดหายไป วิกฤติโลกครั้งนี้มาจากการบริโภคที่มากเกินไป ดังนั้นจะแก้วิกฤติได้ต้องหยุดการบริโภคก่อน ขณะนี้ สหรัฐก็ได้ดำเนินการตามแนวทางนี้แล้ว แต่คงยังไม่เห็นผลง่ายเหมือนหยุดการลงทุน วิกฤติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงกลั่นค่อนข้างมาก เพราะความต้องการใช้น้ำมันที่หายไป ที่ผ่านมา ตลาดสหรัฐเป็นตลาดรองรับน้ำมันจากโรงกลั่นทั่วโลก

ส่วนการปรับตัวของกลุ่ม ปตท.นั้น คงต้องวางยุทธศาสตร์ใหม่ ทั้งแผนการลงทุนและการตลาด ในส่วนของโรงกลั่นคงต้องเลือกที่จะลดกำลังการผลิตชั่วคราวไปก่อน ส่วนการลงทุนธุรกิจสำรวจและขุดเจาะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ว่า ในแหล่งปิโตรเลียมขนาดเล็กๆ เกินไปอาจไม่คุ้มต่อการลงทุน ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะดำเนินการพัฒนาต่อไป หรือจะหยุดไว้ชั่วคราวก่อน ซึ่งต้องระมัดระวังการบริหารจัดการให้มากขึ้น

ภายใต้วิกฤติยังมีโอกาส สถานการณ์อย่างนี้ทำให้ทรัพย์สินมีมูลค่าลดลง โดยเฉพาะสินทรัพย์พลังงานในประเทศต่างๆ ปตท.ก็มองโอกาสนี้ด้วยในการออกไปซื้อกิจการในต่างประเทศ แต่ต้องอยู่ในขอบข่ายธุรกิจพลังงานเป็นหลัก ทั้งหมดอยู่ระหว่างการศึกษาของ ปตท.

จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เชื่อว่าไทยจะได้รับผลกระทบไม่รุนแรง ที่ผ่านมา การลงทุนธุรกิจต่างๆ มีความระมัดระวังค่อนข้างมากอยู่แล้ว ไม่ได้ลงทุนเกินจริง ต่างจากสถานการณ์ในสหรัฐก่อนหน้านี้ที่มีการลงทุนมากเกินไป จนเกิดวิกฤติครั้งนี้

“วิชัย” เชื่อเอกชนไทยแกร่ง

นายวิชัย ทองแตง ประธานคณะกรรมการ บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) เจ้าของโรงพยาบาลเครือพญาไท กล่าวว่า แม้ไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ที่มาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ส่วนตัวเชื่อมั่นภาคเอกชนยังมีความแข็งแกร่ง สามารถต่อสู้กับวิกฤติได้ โดยเฉพาะปี 2540 เป็นบทเรียนสำคัญ ทำให้ธุรกิจไทยมีการปรับตัว

“หลายคนมองว่าปีหน้าภาคธุรกิจจะเผาจริง แต่ส่วนตัวยังเชื่อมั่นพื้นฐานของภาคเอกชนอยู่ ที่ผ่านมา วิกฤติปี 2540 ทำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังการกู้ และการทำธุรกิจมากขึ้น แต่ก็ไม่ควรประมาท ต้องวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด ทั้งการเมืองภายในและภายนอก”

นายวิชัย กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของกลุ่มโรงพยาบาลยังไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ส่วนใหญ่มีเงินสดรองรับ ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจะกู้เงินในประเทศมากกว่า ความสามารถในการชำระหนี้ยังปกติ อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ต้องปรับกลยุทธ์และปรับแผนการลงทุนใหม่ โดยหันมาจับตลาดในประเทศมากขึ้น

“เดิมปีหน้า เราจะบุกตลาดต่างประเทศเต็มสูบ แต่ก็ต้องมาปรับแผนใหม่ หันมาบุกลูกค้าในประเทศแทน” นายวิชัย กล่าวและว่า ขณะที่แผนการลงทุน บริษัทจะทบทวนแผนการลงทุนในต่างประเทศ และเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น

“ไอบีเอ็ม” แนะทางรอดองค์กร

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ รองประธานประจำภูมิภาคอาเซียน กลุ่มธุรกิจทั่วไป บริษัท ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นและการเงินที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบองค์กรทุกระดับ ทำให้ทุกคนต้องรัดเข็มขัด ประหยัดค่าใช้จ่าย องค์กรต้องมีแนวทางการบริหารการจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ต้องใช้ข้อมูลที่แม่นยำ ถูกต้อง ต้องทำวิจัยศึกษาความต้องการตลาด ว่า มีอยู่จริงหรือไม่ มีลักษณะอย่างไร

นอกจากนั้น องค์กรต้องมีกระแสเงินสดหมุนเวียนที่ดี (แคชโฟลว์) เพื่อลดความเสี่ยง การลงทุนใหม่ๆ ยังทำได้หากเห็นโอกาส แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และมีประสบการณ์จริง

ขณะเดียวกัน ผู้บริหารต้องมีความรู้สึกที่ฉับไว และตอบสนองรวดเร็ว เพื่อปรับทิศทางและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ต้องสื่อสารกับพนักงาน ต่อเนื่องถึงทิศทางของบริษัท เพื่อให้มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งหมดมีพื้นฐานของนวัตกรรมการบริหารจัดการ

บริษัทให้น้ำหนักการลงทุนตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากการใช้จ่ายไอทีรวมในไทย ตลาดภูธรจะมีกำลังซื้อสูงถึง 60% ของตลาด แต่ไอบีเอ็มกลับมีรายได้จากตลาดเพียง 15% ที่เหลืออยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเห็นว่าตลาดนี้ยังขยายได้อีก โดยปีหน้า ตั้งเป้าขยับเป็น 20% ของรายได้รวม

ทีซีซีหันใช้ทุนตัวเองแทนกู้แบงก์

นายโสมพัฒน์ ไตรโสรัส รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ จำกัด ในเครือทีซีซี ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี กล่าวถึง มุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจปี 2552 ว่า โดยภาพรวมคงจะชะลอตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแรงเหวี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองภายในจะเป็นตัวแปรทำให้กำลังซื้อชะลอตัว ดังนั้น แผนการลงทุนในประเทศ สำหรับโครงการอสังหาฯ ของทีซีซีต้องปรับลดลงเหลือ 2 โครงการ

แนวทางที่ทีซีซีจะใช้ในปีหน้า คือ เร่งสร้างโครงการที่อยู่ ส่วนใหญ่ขายไปแล้วเกินกว่าครึ่ง บางโครงการเกิน 80-90% เพื่อจะได้ยอดโอนเข้ามาตามแผนงาน แต่หลังจากชะลอแผนลงทุนใหม่ปีหน้าเหลือเพียง 2 โครงการ อาจทำให้ยอดรายได้ปี 2553 ลดลง

นอกจากนี้ จะปรับนโยบายการใช้เงินทุนจากที่เคยใช้สินเชื่อแบงก์บางส่วน มาเป็นการใช้ทุนจากเงินสดหมุนเวียน จากการทำธุรกิจ แต่ละปีมีประมาณ 3,000 ล้านบาท มาจากธุรกิจโรงแรม อาคารสำนักงาน และพื้นที่ศูนย์การค้าต่างๆ มาใช้ในการทำธุรกิจ เดิมที่ช่วงเศรษฐกิจดี ทีซีซีแลนด์จะขยายการลงทุนต่อปีไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาทขึ้นไป

“ปีหน้าสถานการณ์ไม่แน่นอน แม้เราจะไม่กระทบโดยตรง แต่ปัญหาการเงินทำให้แบงก์เข้มงวด การขอสินเชื่อไม่ง่ายนัก แม้จะขอได้แต่แบงก์อาจชักเงินกลับก็เป็นได้ คิดว่าจะลงทุนโดยใช้แคชโฟลว์ ตัวเอง เพื่อป้องกันความเสี่ยง เราทำแบบเวิร์สท์เคสไว้ก่อน” นายโสมพัฒน์กล่าว

ส่วนพันธมิตร คือ แคปปิตอลแลนด์จากสิงคโปร์ ประกาศจะไม่ขยายการลงทุน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของบริษัทแม่ ที่สิงคโปร์ มีการขยายลงทุนไปหลายประเทศ และรับรู้ผลกระทบจากวิกฤติการเงิน จึงไม่ขยายการลงทุนใหม่เลย เพื่อป้องกันความเสี่ยงเพราะจนถึงวันนี้ ยังไม่อาจประเมินจุดต่ำสุดของวิกฤติได้

นายโสมพัฒน์ กล่าวว่า ปีหน้าได้วางแผนที่จะขยายการลงทุนโรงแรมในต่างประเทศ กำลังมองว่าวิกฤติการเงินฝั่งตะวันตก จะทำให้ราคาอสังหาฯ ในเมืองสำคัญลดราคาลง โดยจะเข้าซื้อกิจการโรงแรมเก่าในเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิเช่น ลอนดอน และนิวยอร์ก

ฮอนด้าเตรียมลดกำลังผลิตตลาดส่งออก

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปีหน้าเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก แต่คงไม่ดีนัก อุตสาหกรรมยานยนต์ก็คงจะเป็นไปในทิศทางหดตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่จะชะลอตัว ฮอนด้าคงไม่สามารถทานกระแสตลาดขาลง ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมสรุปข้อมูลเกี่ยวกับตลาดส่งออก และอาจจะพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตในส่วนตลาดส่งออกให้เหมาะสมกับสภาพตลาดในปีหน้า

ปี 2550 ฮอนด้าส่งออกรถยนต์ทั้งแบบประกอบเสร็จและชิ้นส่วน มีมูลค่า 64,000 ล้านบาท คาดปี 2551 ทั้งปีคงจะอยู่ในตัวเลขใกล้เคียงกัน แต่ในปี 2552 คงจะมีการหดตัวลงตามสภาพเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัว

นายพิทักษ์ กล่าวต่อว่า ในปีหน้าบริษัทต่างๆ ต้องลดต้นทุนการผลิต ฮอนด้าเองก็มีแผนปรับตัวเรื่องการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นภายใน ส่วนเม็ดเงินในการทำตลาดคงจะต้องใช้อยู่เช่นเคย เพราะว่าตลาดในประเทศต้องทำตลาดต่อเนื่อง และรถฮอนด้ายังขายดี

Source: กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์


  •  
  •  
  •  
  •  
  •