“เซเว่น อีเลฟเว่น – ลอว์สัน” ลดราคาอาหารขายไม่หมด หวังลดต้นทุนกำจัดขยะ และของเหลือทิ้ง

  • 1.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

Food Waste 7-11 & Lawson
Photo Credit : Terence Toh Chin Eng / Shutterstock.com

สองเชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ “เซเว่น อีเลฟเว่น” (7-Eleven) และ “ลอว์สัน” (Lawson) ในประเทศญี่ปุ่น ประกาศนโยบายลดราคาอาหารสดใกล้หมดอายุ ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าวกล่องพร้อมรับประทาน, ข้าวปั้น, ขนมปัง และเมนูอาหารเส้นที่ขายไม่หมดในแต่ละวัน ซึ่งโดยปกติสินค้าเหล่านี้ หากขายไม่หมด จะกลายเป็น “ขยะอาหาร” (Food Waste) ที่ต้องนำไปกำจัด

ที่ผ่านมาพบว่าในประเทศญี่ปุ่น มีปริมาณขยะอาหาร 6.4 ล้านตันต่อปี เป็นปัญหาใหญ่ทั้งในระดับประเทศ และผู้ประกอบการธุรกิจ

ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่น แต่เวลานี้ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตขยะจากอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ขายไม่หมดในแต่ละวัน แต่ด้วยนโยบายปฏิบัติขององค์กร ต้องนำไปกำจัดทิ้ง แม้อาหารนั้นยังคงบริโภคได้อยู่ก็ตาม รวมไปถึงอาหารเหลือจากการรับประทานไม่หมด และวัตถุดิบอาหาร เช่น ผัก-ผลไม้ ที่ช้ำในระหว่างการบรรจุหีบห่อ และการขนส่ง

“องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ” ชี้ว่า ปัจจุบันปริมาณขยะอาหารทั่วโลก มีไม่ต่ำกว่า 1.3 พันล้านตัน !! “ขยะอาหาร” เหล่านี้ สร้างปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่ภาครัฐ และเอกชนต้องใช้งบประมาณในการกำจัด

 

“เซเว่น อีเลฟเว่น” ลดราคาอาหาร 5% จูงใจผู้บริโภคซื้อ – ลดภาระต้นทุนสาขา

ที่ผ่านมาร้านแฟรนไชส์ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ในญี่ปุ่น แต่ละสาขาต้องจ่าย 85% ของต้นทุนการคืนอาหารเก่า ส่งผลให้กำไรลดลง เป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการร้านแฟรนไชส์ต้องแบกรับ

กระทั่งในที่สุดสำนักงานใหญ่ “เซเว่น อีเลฟเว่น” จึงได้ออกนโยบายให้ทั้ง 20,000 สาขาในญี่ปุ่น ลดราคาผลิตภัณฑ์อาหารประมาณ 500 รายการ ที่ส่วนใหญ่เป็นอาหารกล่อง, ข้าวปั้น, เมนูเส้น เช่น ราเมง, ขนมปัง ที่เหลือเวลาจำหน่าย 4 – 5 ชั่วโมงก่อนที่สินค้านั้นจะต้องถูกนำออกจากเชลฟ์ตามวันที่ระบุไว้บนแพคเกจจิ้ง ด้วยการลดราคา 5% เพื่อจูงใจให้ลูกค้าซื้อ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการกำจัดสินค้าอาหารขายไม่หมด และลดปริมาณอาหารขยะในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตามก่อนที่เซเว่น อีเลฟเว่น สำนักงานใหญ่จะออกนโยบายลดราคาดังกล่าว ย้อนกลับไปในปี 2009 “คณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรมของญี่ปุ่น” สั่งให้เซเว่น อีเลฟเว่น ห้ามกีดกันผู้ประกอบการร้านแฟรนไชส์ ในการนำเสนอส่วนลดราคาสินค้าที่ใกล้หมดอายุให้แก่ลูกค้า

ขณะที่ทางสำนักงานใหญ่เซเว่น อีเลฟเว่น ได้อ้างว่า แต่ละร้านสาขาสามารถตัดสินใจลดราคาสินค้าที่ขายไม่หมดได้ด้วยตัวเอง แต่ผู้ประกอบการร้านแฟรนไชส์เซเว่นฯ เผยว่าพวกเขายังเคยได้รับการอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ ให้สามารถลดราคาอาหารขายไม่หมด

ดังนั้น ในวันนี้การที่เซเว่น อีเลฟเว่น ประกาศนโยบายลดราคาสินค้าที่ขายไม่หมดอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิเป็นต้นไป จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการร้านแฟรนไชส์ รวมทั้งลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งจากการขายไม่หมด ขณะเดียวกันเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

7-11 Japan
Photo Credit : Milkovasa / Shutterstock.com

 

“ลอว์สัน” ให้คะแนนสะสมแก่ลูกค้า – บริจาคเงินจากการขายสินค้าใกล้หมดอายุแก่องค์กรเด็ก

ทางด้าน “ลอว์สัน” (Lawson) อีกหนึ่งเชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ในญี่ปุ่น ก็มี Food Waste เกิดขึ้นเช่นกัน โดยประมาณการณ์ว่าจาก 2,500 สาขา มีปริมาณ Food Waste 44,000 ต่อปี

ล่าสุดได้ประกาศนโยบายการขายผลิตภัณฑ์อาหารใกล้หมดอายุ โดยเริ่มทดลองกับสาขาในเขต Ehime และ Okinawa จำนวน 450 สาขา ระหว่าง 11 มิถุนายน – 31 สิงหาคม ด้วยการมอบคะแนนสะสมให้แก่สมาชิก Loyalty Card ที่ซื้อสินค้าที่ติดป้ายราคาพิเศษ หลังซื้อตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป

นอกจากนี้จะบริจาค 5% ของรายได้จากการขายสินค้าใกล้หมดอายุ ให้กับองค์กรด้านเด็ก และหลังจากนี้จะพิจารณาว่าจะใช้นโยบายดังกล่าวกับสาขาลอว์สันทั่วประเทศหรือไม่

Sadanobu Takemasu กล่าวว่า “ในที่สุดแล้ว เป็นการดีที่วิธีการดังกล่าว จะทำให้เราสามารถขายสินค้าอาหารได้หมด เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน กับการกำจัดอาหารที่ขายไม่หมด เป็นสองค่าใช้จ่ายใหญ่สุดของสาขา โดยเราตั้งเป้าลดการสูญเสียอาหารให้ได้ 50% ภายในปี 2030”

Lawson Japan
Photo Credit : The Japan Times

 

Source : Nikkei Asian Review 

Source : The Japan Times


  • 1.5K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ