จบภารกิจดีลใหญ่แห่งปีที่รอคอยมานาน TMB ควบรวม ธนชาต รวมพลังสู้ศึกการเงิน

  • 812
  •  
  •  
  •  
  •  

ธนชาต+TMB-cover

หลังจากช่วงปลายปีที่ผ่านมามีการกล่าวถึงดีลใหญ่แห่งปี กับการควบรวม 2 แบงค์อย่างธนาคารธนชาตและธนาคาร TMB ถือเป็นการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ในยุคที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ต่างทุ่มเทสรรพกำลังไปที่การ Transformation เพื่อก้าวเข้าสู่ยุค FinTech และเรียกได้ว่าการควบรวมครั้งนี้เริ่มดูวุ่นวายตั้งแต่มีการประกาศจะควบรวมกิจการ แต่ก็มีการชะลอแผนเมื่อกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TMB ให้กลับไปทบทวนรูปแบบการควบรวม

จนกระทั่งเมื่อได้รับอนุญาตการควบรวมจากกระทรวงการคลัง กระบวนการควบรวมก็เริ่มต้นขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องสัดส่วนการถือหุ้น จนกระทั่งการควบรวมลงตัวโดยจะมีการจัดตั้งธนาคารใหม่และสัดส่วนการถือหุ้น โดยโครงสร้างสัดส่วนผู้ถือหุ้นหลักในธนาคารใหม่ จะประกอบด้วย ING (ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TMB) จะถือหุ้นในสัดส่วน 21.3%, ทุนธนชาต (TCAP) จะถือหุ้นในสัดส่วน 20.4%, กระทรวงการคลังจะถือหุ้นในสัดส่วน 18.4% สโกเทียแบงก์ หรือ BNS (ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนชาต) จะถือหุ้นในสัดส่วน 5.6% และผู้ถือหุ้นรายย่อยในสัดส่วน 34.3%

TMB Thanachart

สำหรับกระบวนการควบรวมทั้งหมด รวมไปถึงการจัดตั้งธนาคารใหม่ที่เกิดจากการควบรวมจะแล้วเสร็จในปี 2564 โดย นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร TCAP หรือ ทุนธนชาต ชี้แจงว่า เมื่อการควบรวมแล้วเสร็จธนาคารที่เกิดจากการควบรวมจะมีขนาดใหญ่เกือบเท่าตัว โดยมีสินทรัพย์รวมกันเกือบ 2 ล้านล้านบาท มีโครงสร้างทางธุรกิจเสริมรับซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ธนาคารใหม่จะมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นประมาณ 10 ล้านคน โดยมีลูกค้าที่มีความทับซ้อนกันไม่ถึง 10%

ด้าน นายมาร์ค นิวแมน (Mark Newman) Managing Director, ING Challengers and Growth Markets, Asia อธิบายว่า จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการลงทุน TMB ประกอบกับการพัฒนาทางด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในธุรกิจธนาคาร (FinTech) ส่งผลให้ ING ตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 12,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการในครั้งนี้ โดยตั้งเป้าหมายให้ธนาคารที่เกิดจากการควบรวมครั้งนี้เติบโตอย่างมั่นคงและก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านดิจิทัล

สำหรับกระบวนการควบรวมครั้งนี้ เริ่มจากการเพิ่มทุนของ ING ในการดำเนินการควบรวม 2 ธนาคารกว่า 12,500 ล้านบาท โดยจะเข้าซื้อหุ้นของธนาคารธนชาตจำนวน 80,000 ล้านบาท และเมื่อทุนธนชาตได้เงินจำนวนดังกล่าวมาจะทำการปรับโครงสร้างด้วยการซื้อหุ้นของบริษัทลูกกลับคืนมาด้วยวงเงินประมาณ 14,000 ล้านบาท ทั้งหุ้นในส่วนของบริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน), บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอส จำกัด, บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

Thanachart
Credit: De Monstera Studio / Shutterstock.com

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle – SPV) จำนวน 2 นิติบุคคลเฉพาะกิจ เพื่อเข้าซื้อหุ้นของบริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัทลงทุนอื่นๆ ในสัดส่วนของธนาคารธนชาตกลับมา ซึ่งจะทำให้ธนาคารธนชาตยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนธนชาต จำกัด (บลจ.ธนชาต หรือ TFUND) ) ในสัดส่วน 75% และบริษัท ธนชาต โบรกเกอร์ จำกัด (ธนชาตโบรกเกอร์ หรือ TBROKER) ในสัดส่วน 100%

หลังปรับโครงสร้างทุนธนชาตจะเหลือเงินที่ได้จากการขายหุ้นของธนาคารธนชาตอยู่ที่ 66,000 ล้านบาท ทุนธนชาติจะเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ TMB ด้วยมูลค่าประมาณ 44,000 ล้านบาท และจะทำให้ทุนธนชาตเหลือเงินที่ได้จากการขายหุ้นของธนาคารธนชาตอยู่ที่ 22,000 ล้านบาท โดยทุนธนชาตจะเข้าซื้อสัดส่วนหุ้นของบริษัทรายย่อยและสัดส่วนหุ้นของนักลงทุนรายใหญ่อย่าง Bank of Nova Scotia (BNS) ด้วยงบประมาณกว่า 12,000 ล้านบาท เมื่อกระบวนการควบรวมแล้วเสร็จ ทุนธนาชาตจะมีกระแสเงินสดเหลือจากการขายหุ้นของธนาคารธนชาตอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท

ขณะที่ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB เสริมว่า ถึงรายละเอียดในส่วนของทีเอ็มบีที่จะต้องดำเนินการว่า TMB จะระดมทุนและจัดหาเพิ่มทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 130,000 ล้านบาทจากการออกหุ้นเพิ่มทุน (Equity Fund Raising) เพื่อเสนอซื้อหุ้นสามัญของธนาคารธนชาตจากผู้ถือหุ้นของธนาคารธนชาตทุกราย โดยคาดว่าจะสามารถระดมทุนในส่วนนี้เป็นจำนวนเงินราว 42,500 ล้านบาท นอกจากนี้ TMB จะออกและเสนอขายหุ้นสามัญของ TMB ให้แก่บุคคลภายนอก และผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารธนชาตทุกราย คาดว่าจะสามารถเพิ่มทุนได้อีกกว่า 6,400 ล้านบาทจากบุคคลภายนอกและอีกกว่า 57,600 ล้านบาทจากผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารธนชาตทุกราย

TMB
Credit: Seika Chujo / Shutterstock.com

ที่สำคัญทาง TMB จะมีการออกตราสารหนี้ (Debt Financing) โดยการออกและเสนอขายตราสารทางการเงินที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 1 ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ เป็นจำนวน 9,600 – 16,000 ล้านบาท
และเสนอขายตราสารด้อยสิทธิที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investor) และ ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) จำนวน 15,000 ล้านบาท ส่งผลให้ TMB มีแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากตราสารหนี้อีกเป็นเงินทุนไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ในกรณีที่ต้องการเงินทุนเพิ่ม

นอกจากนี้กระทรวงการคลังในฐานนะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TMB และหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมการควบรวมกิจการเพื่อเพิ่มขนาดกิจการและศักยภาพในการแข่งขัน โดยกระทรวงการคลังพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มเติมอีกไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาท สำหรับกระบวนการซื้อขายหุ้นทั้งหมดนี้ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2562 และในเดือนมกราคม 2563 ทั้ง 2 ธนาคารจะมีคณะกรรมการและผู้บริหารชุดเดียวกัน และจะทยอยรวมการบริหารงาน โดยคาดว่าจะจะเริ่มเห็นโครงร่างธนาคารใหม่ช่วงปี 2563

ในส่วนของลูกค้าที่ใช้บริการของทั้ง 2 ธนาคารจะยังสามารถใช้บริการของธนาคารแต่ละแห่งได้ตามปกติ โดยจะมีการแจ้งความคืบหน้าให้ลูกค้าทราบอย่างต่อเนื่อง


  • 812
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา