เปิด 4 กลยุทธ์ “เซ็นทรัลพัฒนา” ย้ำเบอร์ 1 ผู้พัฒนาศูนย์การค้าที่คงความแข็งแกร่งฝ่าวิกฤติ ท้าทายธุรกิจครั้งใหญ่ ผนึกกำลังทุกภาคส่วน

  • 15.7K
  •  
  •  
  •  
  •  

ตั้งแต่ต้นปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับคลื่นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จนผู้ประกอบการต้องปรับกระบวนทัพและกลยุทธ์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เป็น ‘ผู้รอด’ และเดินหน้าต่อไปได้ ในอนาคต

สำหรับธุรกิจศูนย์การค้า ‘บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)’ หรือ CPN ถือเป็นเบอร์ 1 ที่ฝ่าฟันและปรับตัวจากสถานการณ์วิกฤติในครึ่งปีแรกมาได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าจะต้องปิดศูนย์การค้าชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์ แต่หลังจากกลับมาเปิดให้บริการเต็มรูปแบบอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ทุกศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนา (ยกเว้นที่เป็น Tourist Mall ในจังหวัดต่างๆ) มีทราฟฟิคกลับมา 80-90% และบางศูนย์ฯ ก็ได้ถึง 100% แล้ว

โดย ‘คุณปรีชา เอกคุณากูล’ CEO ใหญ่ กล่าวว่า “เรามีการเตรียมพร้อมที่ดี ทั้งช่วงเริ่มต้นถึงช่วงล็อกดาวน์ ใช้มาตรการความสะอาด และความปลอดภัย เชิงรุก รวมถึงมีมาตรการในการช่วยเหลือคู่ค้าผู้เช่าอย่างต่อเนื่อง และในช่วงเตรียมพร้อมคลายล็อกดาวน์ได้ออกแผนแม่บท ‘เซ็นทรัล สะอาด มั่นใจ’ ยกระดับมาตรฐาน Hygiene & Safety กับ 5 แกนหลัก กว่า 75 มาตรการ ทำให้ลูกค้าให้การตอบรับ และมั่นใจกลับมาใช้บริการที่ศูนย์ฯ พร้อมกันนี้เรามีแคมเปญต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายและช่วยให้ธุรกิจของคู่ค้าฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เซ็นทรัลพัฒนา ได้วางวิสัยทัศน์เพื่อพาธุรกิจและคู่ค้าฝ่าวิกฤติครั้งนี้ ผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1) การให้ความสำคัญและดูแลทุก Stakeholders อย่างเต็มที่, 2) การรักษาความแข็งแกร่งทางการเงินและการเติบโตระยะยาว, 3) สร้างความหลากหลายทางธุรกิจ (Diversified Business) เพิ่มแหล่งรายได้ เพื่อกระจายความเสี่ยง และสุดท้าย 4) การปรับตัวสู่การเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตที่พร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ให้ความสำคัญและดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

คุณปรีชากล่าวว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาที่เกิดวิกฤติโควิด ถือเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจของบริษัท ซึ่งทางเซ็นทรัลพัฒนาได้มีการปรับกลยุทธ์และวางแนวทางการรับมือไว้หลายด้าน เริ่มจากการ ให้ความสำคัญและดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ร้านค้าผู้เช่า พนักงานบริษัท ผู้ถือหุ้น และชุมชนโดย ลูกค้า : ได้ปรับเพิ่มบริการที่ให้ทั้งความสะดวก และปลอดภัยกับลูกค้า ทั้ง Chat & Shop, Drive-Thru Pick-Up และ Pick-Up Counter & Delivery, ผู้เช่า : ได้ออกมาตรการช่วยเหลือร้านค้าต่างๆ ที่อยู่กับเซ็นทรัลพัฒนากว่า 15,000 ราย อาทิ การยกเว้นค่าเช่า 100% ระหว่างที่ภาครัฐมีคำสั่งให้ปิดศูนย์การค้าชั่วคราว พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ อาทิ Food Pick-Up Counter, Delivery Service และช่วยเหลือสนับสนุนทางการตลาดเมื่อร้านค้ากลับเข้ามาดำเนินการต่อได้ อีกทั้งลดค่าเช่าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พันธมิตรคู่ค้าฟื้นตัวกลับมาได้ พนักงานบริษัท: เป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้เซ็นทรัลพัฒนา ไม่มีการเลิกจ้างหรือ ปรับลดเงินเดือน แต่มีการปรับใช้กำลังคนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสม พร้อมทั้งดูแลใส่ใจในด้านความปลอดภัย และทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม ให้พนักงาน, ผู้ถือหุ้น: ทางเซ็นทรัลพัฒนาเน้นรักษาธุรกิจให้ต่อเนื่องด้วยการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น พร้อมกับทบทวนแผนลงทุนในระยะสั้นเพื่อรักษาสภาพคล่องให้พร้อมรับสถานการณ์ในขณะนี้ ที่ยังมีความไม่แน่นอน สังคมและชุมชน: ได้มีส่วนร่วมในการบริจาคอุปกรณ์การแพทย์, เปิดพื้นที่ฟรีให้กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบได้มาค้าขายได้ รวมถึงลดค่าครองชีพด้วยการลดราคาอาหารในศูนย์อาหารของเซ็นทรัลพัฒนาทั่วประเทศ

โครงสร้างการเงินแข็งแกร่ง  เดินหน้าแผนงานระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

แม้อยู่ในสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของธุรกิจ แต่เซ็นทรัลพัฒนายังคงสามารถรักษาความแข็งแกร่งทางการเงิน และถึงแม้จะมีความแข็งแกร่ง ก็มิได้ประมาท โดยได้มีการติดตามประเมินสถานการณ์และเตรียมแผนการรองรับ สำหรับเหตุการณ์ในระดับต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินได้อย่างต่อเนื่องและพร้อมสำหรับโอกาสในการลงทุนเพื่อรักษาความเติบโตในระยะยาว

โดยปัจจุบันสถานะทางการเงินของ CPN ยังแข็งแกร่งดี (Net D/E ของไตรมาสที่ 2/2563 อยู่ที่ 0.55 เท่า ต่ำกว่าระดับนโยบายของบริษัทที่ 1 เท่า ซึ่งถือว่ามีความพร้อมและยืดหยุ่นมากในการบริหารโครงสร้างเงินทุนของบริษัท)

เซ็นทรัลพัฒนาได้มีการปรับตัวอย่างรวดเร็วและได้ดำเนินมาตรการในด้านต่างๆ เพื่อให้มั่นใจในการบริหารธุรกิจในช่วงวิกฤติและรักษาความเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจ โดยแผนการในการพัฒนาโครงการต่างๆ ในระยะยาว ยังคงเป็นไปตามที่วางไว้ด้วยงบลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี (ระหว่างปี 2563 – 2567) โดยเน้นโครงการในลักษณะ Mixed-Use Development ได้แก่

  • ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อยุธยา ประกอบด้วยศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม โรงแรม และที่พักอาศัย ที่คาดว่าจะเปิดในปี 2564

  • ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ศรีราชา ประกอบด้วยศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย และศูนย์การศึกษา คาดว่าจะเปิดในปี 2564
  • ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา จันทบุรี ประกอบด้วยศูนย์การค้าและการพัฒนารูปแบบผสมอื่นๆ คาดว่าจะเปิดในปี 2565

เพิ่มพอร์ตธุรกิจกระจายความเสี่ยง

บริษัทฯ ได้ลงทุนและพัฒนาธุรกิจให้หลากหลายขึ้น เพื่อกระจายแหล่งรายได้ ซึ่งเป็นอีกกลยุทธ์ที่เซ็นทรัลพัฒนาให้ความสำคัญ โดยพยายามสร้างแหล่งรายได้ใหม่เพื่อเสริมธุรกิจที่ดำเนินการอยู่และมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้าง รายได้ให้มีความหลากหลาย ทั้งประเภทศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรม รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศ และการลงทุนในธุรกิจที่เกื้อหนุนให้บริษัทสามารถตอบรับกับเทรนด์ใหม่ๆ ในอนาคตได้แก่

  • ร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทจากประเทศมาเลเซีย เปิดให้บริการ Co-working Space ภายใต้แบรนด์ Common Ground สาขาแรกในไทยที่อาคารสำนักงาน G Tower พระราม 9 และสาขา 2 ที่อาคารดิ ออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์
  • ลงทุนในธุรกิจ Grab ประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อเพิ่มช่องทางขยายธุรกิจ ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าในศูนย์การค้า และเพิ่มจำนวนผู้มาใช้บริการ
  • ลงทุนในบริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด ถือโดยบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและเพิ่มฐานรายได้ในการเติบโตบนที่ดินที่มีศักยภาพ บริเวณถนนพหลโยธินและสี่แยกพระราม 9

ณ สิ้นปี 2562 เซ็นทรัลพัฒนามีศูนย์การค้าภายใต้การบริหารงานรวม 34 โครงการ (อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 15 โครงการ ต่างจังหวัด 18 โครงการ และที่มาเลเซีย 1 โครงการ) ศูนย์อาหาร 30 แห่ง อาคารสำนักงานให้เช่า 7 อาคาร โรงแรม 2 แห่ง อาคารที่พักอาศัยเพื่อเช่า 1 โครงการ (รวม 11 ยูนิต) และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการขาย 8 โครงการ (รวม 2,798 ยูนิต) รวมถึงเข้าไปพัฒนาโครงการที่พักอาศัย โฟกัสทำเลใกล้ศูนย์การค้าของบริษัท ตลอดจนทำเลที่มีศักยภาพอื่นๆ และปัจจุบันมีโครงการที่พัฒนาแล้ว อาทิ เอสเซ็นท์ วิลล์ เชียงใหม่, เอสเซ็นท์ วิลล์ เชียงราย, เอสเซ็นท์ นครราชสีมา, ฟิล พหล 34 และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง อาทิ เอสเซ็นท์ อุบลราชธานี, เอสเซ็นท์ พาร์ควิลล์ เชียงใหม่, นิยาม บรมราชชนนี ฯลฯ

ปรับตัวเร็ว พร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลง ภายใต้กลยุทธ์ Center of Life

วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด นับเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน เช่น Digital Lifestyle, เทรนด์สุขภาพ เป็นต้น โดยเซ็นทรัลพัฒนาได้มีการคาดการณ์และเตรียมการรองรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆเหล่านี้ ทำให้มีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยการพัฒนากลยุทธ์ Center of Life เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตที่ตอบรับกับวิถีชีวิตในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่าน Social Media หรือใช้บริการทาง Online ที่ลูกค้า สามารถเลือกใช้บริการได้ทั้งทาง One Call One Click และ Chat & Shop อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงล็อกดาวน์ ผู้บริโภคจะคุ้นเคยกับการทำงานอยู่ที่บ้าน มีการใช้ Online Shopping เพิ่มขึ้น แต่คนยังคงโหยหาการใช้ชีวิตที่มีการพบปะพูดคุยและสังสรรค์กัน ดังนั้น New Shopping Experience ต้องเป็นการผสมผสานหรือ Integration ระหว่าง Physical Store กับ Online Service เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและตอบรับทุกความต้องการของทุกคนยิ่งขึ้น

โดยช่วงนี้ เซ็นทรัลพัฒนา ได้มีการเร่งพัฒนาและผลักดันเทคโนโลยี นวัตกรรมไลฟ์สไตล์ รูปแบบใหม่ เข้าด้วยกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและน่าจับตามองเป็นอย่างมาก แม้จะอยู่ใน สถานการณ์ที่ ธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ และยังไม่แน่ชัดว่าจะจบลงเมื่อไร แต่จากกลยุทธ์ทั้งหมดทางเซ็นทรัลพัฒนาเชื่อมั่นว่า จะสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาวสำหรับคู่ค้า ร้านค้า และบริษัท พร้อมตอกย้ำความเป็นผู้พัฒนาศูนย์การค้าเบอร์ 1 ไว้ได้อย่างแน่นอน


  • 15.7K
  •  
  •  
  •  
  •