จาก “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” สู่ “ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น” ตำนานรถเข็นหนึ่งคันเดินหน้า “สตรีทฟู้ดมหาชน”

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น ผู้นำสตรีทฟู้ดแฟรนไชส์ครบวงจรอันดับ 1 ของไทย ประกาศกลยุทธ์ใหม่ มุ่งสู่เป้าหมาย “ครัวของทุกบ้าน อาหารของทุกคน หนึ่งในใจทุกเวลา” พลิกโฉมครั้งยิ่งใหญ่ครอบคลุมทั้ง ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ ยกระดับมาตรฐานแฟรนไชส์ พัฒนาสินค้าใหม่ และขยายความร่วมมือกับพันธมิตร มั่นใจสร้างยอดขายเพิ่ม เติบโตได้ยั่งยืน พร้อมอวดผลงานล่าสุดกำไรเติบโต 121% ขึ้นแท่นสตรีทฟู้ดที่หนึ่งในใจคนไทยตลอดไป ประกาศการเดินหน้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

 

นายพันธ์รบ กำลา ประธานกรรมการบริหาร เปิดเผยว่า กว่า 30 ปี แห่งการเติบโตของ ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวจากร้านรถเข็นริมทางเพียงร้านเดียว กลายมาเป็นแบรนด์ร้านบะหมี่ริมทางที่มีสาขาทั่วประเทศและเป็นที่หนึ่งในใจของคนไทย ความสำเร็จนี้เกิดจากหัวใจของเราที่รักในการบริการ มุ่งมั่นในการส่งมอบอาหารอร่อย คุณภาพสูงให้กับลูกค้า วันนี้เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างมาก ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถึงเวลาที่เราจะต้องยกระดับธุรกิจและองค์กรให้สอดรับและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง จึงเปิดโอกาสให้ผู้บริหารมืออาชีพรุ่นใหม่ เข้ามาเติมไฟให้กับธุรกิจ เดินหน้าสู่การทรานส์ฟอร์มภายใต้ชื่อ “ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น” ส่งมอบอาหารและบริการที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า และพร้อมขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตต่ออย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

“พูดตรงๆ เพราะผมไม่อยากเห็นลูกๆ ทะเลาะกัน ไม่อยากให้เป็นสมบัติเลือดครับ” พันธ์รบ กำลา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวบนเวทีระหว่างแถลงข่าวการเปลี่ยนแปลงใหญ่ แต่เล่นเอาคนทั้งฮอลล์กับความตรงไปตรงมาถึงเหตุผลเริ่มแรกที่ต้องการผลักดัน “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ปัจจุบัน ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น มีแบรนด์สตรีทฟู้ดในเครือ รวม 7 แบรนด์ ได้แก่

  • ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว
  • ชายสี่พลัส
  • ชายใหญ่ข้าวมันไก่
  • พันปีบะหมี่เป็ดย่าง
  • อาลีหมี่ฮาลาล
  • ไก่หมุนคุณพัน
  • ลูกชิ้นทอดโอ้มายก๊อด

 

รวมทุกแบรนด์กว่า 4,500 สาขา และยังมีอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทานภายใต้แบรนด์ชายสี่โกลด์ พร้อมด้วยเครื่องปรุงเพื่อจำหน่ายอีกกว่า 200 รายการ ทุกแบรนด์สินค้าในเครือต่างได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพที่สดใหม่ วัตถุดิบส่งตรงจากศูนย์การผลิตและกระจายสินค้าทั้งหมด 7 แห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และราคาที่เข้าถึงได้จากทั้งผู้ขายและผู้บริโภค ทำให้ชายสี่เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเป็นที่รักของคนไทย

 

ด้าน นายอนุชิต สรรพอาษา กรรมการผู้จัดการบริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น มีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพสร้างการเติบโต โดยหลังจากผ่านวิกฤต COVID19 ที่ผ่านมา เรากลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 เป็นปีที่เราสร้างยอดขายได้สูงสุดในประวัติกาล โดยมีรายได้รวม 1,085 ล้านบาท และยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2566 เช่นกัน

 

ล่าสุดในปี 2565-2566 บริษัทฯ ได้เริ่มสู่การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การบริหารต้นทุนอย่างชาญฉลาด รวมถึงการปรับโครงสร้างการบริหารงาน โดยให้โอกาสคนรุ่นใหม่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากทั้งหมดที่ได้ลงมือทำ เราสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 1.1 พันล้านบาท และการเติบโตของกำไรได้มากกว่า 100% สะท้อนถึงศักยภาพในการปรับปรุงรากฐานขององค์กรให้แข็งแกร่งทั้งทางด้านการเงิน และการปฏิบัติการเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเรากำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ผ่านการดำเนินธุรกิจภายใต้ 3 กลยุทธ์ ที่มุ่งสนับสนุนให้ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น เติบโตได้อย่างยั่งยืน

  1. พัฒนามาตรฐานแฟรนไชส์ ผ่านการปรับปรุงระบบการบริหารแฟรนไชส์และการบริการทั้งหมดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสร้างความภักดีของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์การผลิตและจัดส่งที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยในการเข้าถึงคู่ค้าและควบคุมคุณภาพแฟรนไชส์
  2. พัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมตามความต้องการของตลาด โดยให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้โดยง่าย ทั้งร้านอร่อยริมทาง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันนอกจากแบรนด์สตรีทฟู้ดทั้ง 7 แบรนด์แล้ว เรายังมีสินค้าพร้อมทานที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ
  3. พัฒนาพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจร่วมกัน ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความชำนาญเฉพาะทางเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ ในการพัฒนาธุรกิจร่วมกัน รวมถึงการการเข้าซื้อกิจการต่างๆที่มีศักยภาพ โดยล่าสุดได้มีการเข้าซื้อกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังเมืองกรุงเก่า “เสือร้องไห้” และแบรนด์เบเกอรี่ที่เป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยว “บริกซ์” โดยในการเข้าซื้อกิจการได้ใช้รูปแบบที่จะยังคงสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อให้เจ้าของแบรนด์ยังได้ใช้ความเชี่ยวชาญของตนในการบริหารและพัฒนาแบรนด์ต่อได้ อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Cabalen Group กลุ่มธุรกิจอาหารยักษ์ใหญ่ของประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อส่งมอบตำนานความอร่อยสู่สากล

 

นอกจากนี้ ยังสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการซื้อกิจการที่มีศักยภาพมาเติมพอร์ต โดยในปี 2567  ชายสี่ฯ ตกลงเข้าถือหุ้นใหญ่ซื้อกิจการแล้ว 2 ร้าน ได้แก่ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ “เสือร้องไห้” จากอยุธยา และ ร้านขนมหวานชื่อดัง BRIX” โดยบริษัทจะร่วมกับผู้ก่อตั้งนำมาปั้นให้แมสขึ้นร่วมกัน เพื่อเป็นโชว์เคสในการไปเจรจาแบรนด์อื่นในอนาคตว่าการร่วมทุนกับชายสี่ฯ จะทำให้ร้านเติบโตในทิศทางใด

 

“เรามีศักยภาพในการทำร้านรถเข็น ร้านแนวสตรีทฟู้ดมาก่อน อย่างร้านเสือร้องไห้มีจุดเด่นเรื่องรสชาติก๋วยเตี๋ยวเรือที่อร่อยจนคนกรุงเทพฯ ยังต้องไปต่อคิวถึงอยุธยา ก็เป็นไปได้ที่เราจะนำสูตรมาทำเป็นก๋วยเตี๋ยวเรือรถเข็น หรือร้าน BRIX อนาคตก็อาจจะแตกแบรนด์ย่อยมาขายขนมชิ้นละ 60-70 บาท เป็นบูธขายตามห้างฯ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน” อนุชิตกล่าว

 

นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะขยายปีกไปสู่ต่างประเทศด้วย โดยมีแผนที่จะไปยังประเทศฟิลิปปินส์ก่อนประเทศแรก โดยมีแบรนด์ชายสี่บะหมี่เกี๊ยวนำร่องไปก่อน ส่วนประเทศถัดไปคือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นไปได้อาจจะเป็นการจำหน่ายเส้นหมี่หรือวัตถุดิบต่างๆ เพราะเรามีความเชี่ยวชาญในจุดนี้

 

“บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการรีแบรนด์ ปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ทันสมัย สอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ขึ้นเป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อนองค์กร ผ่านโปรแกรมพัฒนาบุคคลสู่ความสำเร็จ พร้อมจัดสวัสดิการพนักงานให้ทัดเทียมองค์กรชั้นนำ ชายสี่ฯ เชื่อมั่นว่าการทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ผ่านกลยุทธ์หลักนี้ จะส่งเสริมและยกระดับให้บริษัทฯ ก้าวขึ้นเป็นแบรนด์แถวหน้าในธุรกิจอาหารของไทยและเติบโตได้ไร้ขีดจำกัด” นายอนุชิต กล่าวสรุป


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!
CLOSE
CLOSE