10 ชนวนเหตุที่แท้จริง “สหรัฐฯ” บีบ “HUAWEI” ให้จนมุมทุกทาง!! ส่งสัญญาณ Trade War เริ่มต้นแล้ว

  • 5.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

กลายเป็นเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก เมื่อ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” เพิ่มชื่อ “HUAWEI” เข้าอยู่ในรายชื่อบริษัทที่ห้ามใช้เทคโนโลยีจากบริษัทอเมริกันโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล หลังจากนั้นไม่นานเหล่าบริษัทเทคโนโนโลยีสัญชาติอเมริกัน และชาติพันธมิตร ต่างทยอยออกมาระงับการทำธุรกิจกับ “HUAWEI”

แม้ต่อมากระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกายืดระยะเวลาการแบนธุรกิจ ด้วยการออกใบอนุญาตชั่วคราวระยะเวลา 90 วัน (ถึงวันที่ 19 สิงหาคมนี้) ให้ “HUAWEI” สามารถสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ได้ในช่วงระยะเวลานี้

ขณะที่ฝั่ง “HUAWEI” เตรียมแผนรองรับไว้พร้อมแล้ว อีกทั้งเมื่อไม่กี่วันมานี้ รัฐบาลจีน ประกาศสนับสนุน HUAWEI ดำเนินการด้านกฎหมายกับสหรัฐฯ

ในระหว่างนี้ ยังคงต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะไม่อาจคาดเดาว่าเหตุการณ์หลังจากนี้ จะยังคงระอุขึ้นเรื่อยๆ หรือสามารถหาข้อสรุปได้ ?!?

จากสถานการณ์ดังกล่าว หลายคนคงสงสัยกันว่า ที่มาที่ไปของชนวนเหตุคืออะไร และเหตุผลเบื้องลึกที่ซ่อนอยู่ของการที่รัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งเป้ามาที่ “HUAWEI” โดยเฉพาะ ?! มาติดตามดูกัน

10 ข้อเท็จจริงเบื้องลึกเบื้องหลังการโจมตีจากสหรัฐฯ ทำไมต้องเป็น HUAWEI?
10 ข้อเท็จจริงเบื้องลึกเบื้องหลังการโจมตีจากสหรัฐฯ ทำไมต้องเป็น HUAWEI?

“Make America Great Again – America First” จุดเริ่มต้นสงครามการค้า-สงครามเทคโนโลยีสหรัฐ – จีน

นับตั้งแต่ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ชูนโยบาย “Make America Great Again” (ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่) และ “America First” (อเมริกาต้องมาก่อน) ก็ได้เพ่งเล็งไปยัง “ประเทศจีน” เป้าหมายหลัก

ทำไมต้องเป็น “จีน” ?!?

นั่นเพราะเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก และขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของรัฐบาลจีน ที่ดำเนินการต่อเนื่องมานับตั้งแต่ “ประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิ้ง” มาจนถึง “สี จิ้นผิง” ผู้นำคนปัจจุบันที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วย “นวัตกรรม และเทคโนโลยี”

โดยประกาศนโยบาย “Made in China 2025” พลิกโฉมประเทศจากเคยเป็นโรงงานของโลกที่ใช้เครื่องจักร และแรงงานคน ปฏิวัติไปสู่ “อุตสาหกรรม 4.0” มุ่งคิดค้น-พัฒนาในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี เพื่อผลักดันให้จีน เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของโลก

ที่สำคัญเวลานี้จีน สามารถพัฒนาเทคโนโลยี “5G” ได้สำเร็จ โดยเริ่มทดลองใช้แล้ว และก้าวล้ำกว่าทุกประเทศ

ควบคู่กับการเดินหน้าสร้างเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative : BRI) ที่เชื่อมโยงระบบคมนาคมระหว่างภูมิภาคต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก

นโยบายเหล่านี้ และการเดินหน้าตามแผนอย่างจริงจังของจีน กลายเป็น “หอกทิ่มแทงใจ” ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ใช่น้อย !!! เพราะ “สั่นคลอน” ตำแหน่งและศักดิ์ศรีของการเป็น “มหาอำนาจของโลก” ที่สหรัฐยึดครอง และสวมบทเป็น “พี่ใหญ่” มาโดยตลอด

สหรัฐฯ จึงต้องหาทางสกัดกั้นไม่ให้จีนก้าวแซงหน้าได้สำเร็จ !! จนในที่สุดก่อให้เกิด “สงครามทางการค้า” (Trade War) ระหว่างรัฐ กับรัฐ ขยายวงลุกลามไปยังรัฐบาลสหรัฐฯ กับบริษัทเทคโนโลยีของจีนดังที่ปรากฏให้เห็นในเวลานี้ โดย “HUAWEI” คือหนึ่งใน Tech Company ของจีน ที่สหรัฐฯ หมายหัวโจมตี !!!

ทำไมต้องเจาะจงไปที่ “Huawei” ?!? คงเป็นคำถามที่ค้างคาใจของใครหลายคน ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก มีบริษัทสัญชาติจีนมากมาย…

 

10 ข้อเท็จจริงเบื้องลึกเบื้องหลังการโจมตีจากสหรัฐฯ ทำไมต้องเป็น HUAWEI ?

1. สหรัฐอเมริกากลัวเทคโนโลยี 5G ของ HUAWEI

การที่สหรัฐอเมริกากลัวเทคโนโลยี 5G ของ “HUAWEI” จนเป็นเหตุผลของการคว่ำบาตรครั้งนี้ เพราะเทคโนโลยี 5G ของ HUAWEI ได้รับการยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยีชั้นนำระดับต้นๆ ของโลก ซึ่งทางสหรัฐฯ ไม่ต้องการมีคู่แข่งที่มีศักยภาพมากพอที่จะผลิตเทคโนโลยี และเกี่ยวข้องกับเรื่องของความมั่นคงของชาติ

สิ่งที่สหรัฐอเมริกากลัว คือ หากเทคโนโลยี 5G ของ HUAWEI ยังคงพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้จีนได้เป็นผู้นำด้านการสื่อสารโทรคมนาคมเบอร์หนึ่งของโลก และนั่นจะทำให้สหรัฐอเมริกาเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาล

ดังนั้น บริษัทที่มีเทคโนโลยีที่จะเป็นภัยต่อสหรัฐอเมริกาจึงควรถูกโจมตี

เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ทำไมสหรัฐฯ ถึงแบนหัวเว่ย แต่ไม่แบน Lenovo, Xiaomi, Oppo, Vivo? เพราะบริษัทเหล่านี้เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ไม่ใช่เทคโนโลยี 5G ที่สหรัฐอเมริกาต้องการเป็นผู้นำ

นักวิชาการของ Chinese Academy of Engineering ให้ข้อมูลว่า ในบรรดาสิทธิบัตรมาตรฐาน 5G นั้น “HUAWEI” ถือครองเป็นอันดับหนึ่งของโลก และตอนนี้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนหลายแห่ง ก็มีนวัตกรรมแซงหน้าสหรัฐอเมริกา

“การที่สหรัฐอเมริกาแบน HUAWEI ไม่ใช่เรื่องความปลอดภัย แต่จริง ๆ แล้วคือไม่ต้องการให้ HUAWEI ไปไกลเกินกว่านี้”

 

2. HUAWEI เป็นหมากตัวหนึ่งในกระดานสงครามทางการค้า

ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งผู้บริหาร หรือรายชื่อของหน่วยงาน ที่เผยแพร่โดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา มีความเป็นไปได้ที่จะห้ามไม่ให้บริษัทของสหรัฐฯ ขายผลิตภัณฑ์ให้กับ “HUAWEI”

ดังนั้น “HUAWEI” จึงกลายเป็นหมากตัวหนึ่งในกระดาน หรือเป็นเหยื่อ เพื่อสร้างเงื่อนไขต่อรอง ในการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ

จุดประสงค์นี้ไม่เพียงแต่จะทำให้จีนขาดดุลการค้า แต่ยังต้องการที่จะให้จีนยอมรับข้อตกลงทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อขัดขวางการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน

 

3. สหรัฐฯ เชื่อว่า “HUAWEI” คือตัวแทนรัฐบาลจีน

สหรัฐอเมริกาเชื่อว่า “HUAWEI” ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของจีนในหลายๆ ด้าน เช่น การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไปยังอิหร่าน เช่นกรณีของ “Meng Wanzhou” ผู้บริหารระดับสูงของ HUAWEI และเป็นบุตรสาวของ Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้ง HUAWEI ที่สหรัฐฯ ระบุว่ามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม การคว่ำบาตรของอิหร่านที่เกี่ยวกับกรณีของ Meng Wanzhou อาจเป็นเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องมากที่สุดในเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ที่แบน “HUAWEI” ในกรณีห้ามบริษัทเทคโนโลยีอเมริกา ค้าขายกับ HUAWEI โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐฯ

เพราะในความเป็นจริงแล้ว ยุโรปรู้สึกเบื่อหน่ายกับนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ และต้องการที่จะถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน รวมถึงเรื่องการจับกุม Meng Wanzhou ซึ่งเหตุการณ์การจับกุม Meng Wanzhou นับเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล ซึ่งหากสหรัฐฯ มองจากมุมของกฎหมายระหว่างประเทศ จะเห็นได้ว่าวิธีการนี้ค่อนข้างเป็นแบบอย่างที่อันตราย

 

4. “HUAWEI” ถูกสงสัยว่าขโมยทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ

เมื่อเร็ว ๆ นี้สหรัฐฯ กล่าวหา HUAWEI ว่า “ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา” ทั้งระบบหุ่นยนต์, T-Mobile และเทคโนโลยีกระจกของสมาร์ตโฟนของ Akhan ซึ่งหลักฐานที่นำเสนอทั้งในสองกรณีว่า HUAWEI “จงใจขโมยเทคโนโลยีของอเมริกา” เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของตัวเองนั้นยังไม่ชัดเจนนัก

เมื่อเร็ว ๆ นี้องค์กรร่วมสิทธิบัตรระหว่างประเทศ ได้ประกาศจำนวนการยื่นขอสิทธิบัตร ซึ่ง HUAWEI เป็นอันดับที่หนึ่งจากจำนวนยื่นขอสิทธิบัตรทั้งหมด จะเห็นได้จากงบการเงินของ HUAWEI ในปี 2018 ต้นทุนการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 15 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 14.1% ของยอดขาย

ดังนั้นถึงแม้ว่า HUAWEI จะไม่ปฏิเสธ “นำเข้าของเทคโนโลยีตะวันตก” เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ได้มาโดยวิธีการโจรกรรม แต่เป็นการถ่ายโอนทางเทคนิคและความร่วมมือทางเทคนิคอย่างถูกกฎหมาย

 

5. สหรัฐฯ มองว่า 5G ของ “HUAWEI” เป็นภัยต่อความมั่นคงโลกตะวันตก

สหรัฐฯ เชื่อว่า “HUAWEI” อยู่ในอุตสาหกรรมโครงข่ายโทรคมนาคม และจะคุกคามตลาดอุตสาหกรรมตะวันตกทั้งหมด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วบริษัทส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ และ HUAWEI ไม่ได้มีการแข่งขันโดยตรงที่รุนแรง

เพราะในอุตสาหกรรม 5G คู่แข่งตัวจริงของ HUAWEI คือ “Ericson” และ “Nokia” ซึ่งเป็นคู่แข่งจากฝั่งยุโรป นั่นคือเหตุผลที่ทำให้บริษัทในสหรัฐฯ เกิดความสับสนต่อนโยบายทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ ยุโรปไม่ได้กลายเป็นลัทธิปกป้องการค้าเหมือนสหรัฐฯ (หรือทรัมป์) บรรยากาศทั้งหมด ในยุโรปยึดมั่นในหลักการตลาดเสรีของ WTO, การเข้าถึงตลาดและความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน

เพราะฉะนั้นการที่สหรัฐฯ มองว่า “HUAWEI” จะคุกคามอุตสาหกรรมโครงข่ายโทรคมนาคมในประเทศตะวันตกทั้งหมด จึงไม่เป็นความจริง แต่เป็นการแข่งขันกันอย่างเสรี และการที่ส่วนแบ่งการตลาดของ “HUAWEI” เติบโตขึ้นทั้งในจีน และตลาดโลก ก็มาจากนวัตกรรม และกลยุทธ์การตลาดของ “HUAWEI”

 

6. ซัพพลายเออร์สหรัฐฯ กระทบมหาศาล

ผลจากสงครามการค้าครั้งนี้ ยังมีสิ่งที่ต้องกังวล คือ ซัพพลายเออร์ของ “HUAWEI” จะประสบความสูญเสียจำนวนมาก เพราะ HUAWEI เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของซัพพลายเออร์จำนวนมากในอเมริกา จากสถิติในปี 2018 HUAWEI ซื้อชิ้นส่วนและส่วนประกอบจาก บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2018 HUAWEI ได้ประกาศรายชื่อซัพพลายเออร์หลักในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการรวม 92 รายการ เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีจำนวนซัพพลายเออร์ที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Intel, NXP, Qualcomm, Broadcom และอีก 33 บริษัท

หลังจากการประกาศข่าวขึ้นภาษีการค้าของสหรัฐ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม หุ้นของบริษัทเหล่านี้ทั้งหมดลดลงอย่างมีนัยยะสําคัญ ผลกระทบห่วงโซ่อุตสาหกรรมจึงมีขนาดค่อนข้างใหญ่

เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในท้ายที่สุดแล้ว “HUAWEI” เป็นผู้สูญเสียจริงหรือ ?!

 

7. สหรัฐฯ สูญเสียฐานตลาดการค้าในยุโรปไปนานแล้ว

สหรัฐอเมริกาได้สูญเสียตลาดการค้าในยุโรปมานานแล้ว ทั้ง “Michael Pence” รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ “Michael Pompeo” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พยายามกระตุ้นให้ประเทศในยุโรปปฏิเสธผลิตภัณฑ์ของ “HUAWEI”

ทางสหภาพยุโรปได้ติดตามปัญหาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับ HUAWEI อย่างใกล้ชิด และจะเพิ่มการเฝ้าระวัง แต่สหภาพยุโรปจะไม่แบน “HUAWEI” ในเครือข่าย 5G ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สหรัฐฯ จะพยายามปราบปราม “HUAWEI” ต่อไป แต่ตามแถลงการณ์ของเยอรมนีและสหภาพยุโรปได้ประกาศความพ่ายแพ้ของสหรัฐฯ ในสนามรบยุโรปอย่างชัดเจน

เพราะในยุโรป ตลาดอุปกรณ์ 5G นอกจาก Nokia และ Ericson ที่เป็นสองผู้เล่นรายใหญ่แล้ว “HUAWEI” ยังมีส่วนร่วมในตลาดอุปกรณ์ 5G และอุตสาหกรรมอื่น ๆ (เช่นปัญญาประดิษฐ์) ที่สร้างขึ้นจาก 5G ด้วยเช่นกัน

 

8. “HUAWEI” เตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว

ข้อมูลหลายฝ่ายแสดงให้เห็นตรงกันว่าวิกฤตการณ์ห่วงโซ่อุปทานที่ “HUAWEI” กำลังเผชิญอยู่นั้น ไม่ร้ายแรงเท่าที่โลกภายนอกจะเผชิญในระยะสั้น โดยหลังจากเหตุการณ์ ZTE เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว “HUAWEI” ก็กระตุ้นตัวเองอย่างมาก โดยได้สำรองสินค้าคงคลังนานถึง 6-12 เดือน

ดังนั้น “HUAWEI” จึงมีเวลาเพียงพอที่จะดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์ระดับล่างและระดับกลาง โดยที่ไม่ต้องใช้ชิ้นส่วนจากสหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกัน “HUAWEI” มีเทคโนโลยีสำรองในระยะยาว โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมกระแสเงินสดของ “HUAWEI” ในปี 2018 ลดลงจาก 96,336 พันล้านหยวนในปี 2017 มาอยู่ที่ 74,559 พันล้านหยวน ในกรณีนี้ ประธานกรรมการบริหารของ HUAWEI เปิดเผยว่า เพราะบริษัทได้เพิ่มการลงทุนด้าน R&D และเพิ่มสินค้าคงคลัง เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต

ผู้ปฏิบัติงานอาวุโสใกล้กับ Intel ยืนยันกับผู้สื่อข่าว Caijing ว่า “HUAWEI” ได้เพิ่มการนำเข้าชิ้นส่วนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อปีที่แล้ว คาดว่าปริมาณสำรอง จะสามารถสนับสนุนการทำงานปกติของ “HUAWEI” เป็นเวลา 1 – 2 ปีหลังจากนี้

 

9. ไม่กระทบการขาย และไม่ส่งผลเสียต่อรายได้ เพราะสต็อกสินค้า-มีรายได้หลายทาง

“HUAWEI” มีผลิตภัณฑ์มากมายที่ไม่ได้ใช้ส่วนประกอบจากอเมริกา และสามารถขายได้อย่างราบรื่น อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิต PV อินเวอร์เตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเจ้าของ Hisilicon ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก ในการผลิตชิป “HUAWEI” ใช้มาตรฐานระดับสูง ตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงการบรรจุภัณฑ์ในจีนแผ่นดินใหญ่

ในเวลาเดียวกัน “HUAWEI” ยังมีรายได้จากสิทธิบัตรของตนเอง และมีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ทำให้ผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือของ “HUAWEI” จึงมั่นใจได้ว่าจะยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ทั่วโลก

ไม่เพียงแต่รายได้จากการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ “HUAWEI” ยังมีรายได้จากเครือข่ายธุรกิจของระบบ เช่น การดาวน์โหลดซอฟต์แวร์, แอปพลิเคชัน และผลประโยชน์ที่นำไปสู่การพัฒนา, เกมที่ดาวน์โหลดจาก HUAWEI,การเติมเงินในแอพพลิเคชั่นเกม จะกลายเป็นแหล่งรายได้ขนาดใหญ่

นอกจากนี้ยังมีส่วนแบ่งรายได้จากส่วนอื่น ๆ เช่น Huawei Pay และแอพพลิเคชั่นอื่น ๆ ของ HUAWEI ก็สามารถสร้างประโยชน์ได้เช่นกัน

 

10. ต้องการให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

จากสงครามทางการค้า แบรนด์จีนถูกกีดกันทางการค้า แต่สำหรับ “HUAWEI” และ “ZTE” ไม่เคยหยุดการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถือ และการแข่งขันสำหรับอุปกรณ์สื่อสารจากในประเทศไปยังต่างประเทศ โดยต้องการให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมประเทศยามมีภัย

เมื่อครั้งที่ “ZTE” ถูกแบนและถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาในปี 2018 ครั้งนั้น “เหริน เจิ้งเฟย” ผู้ก่อตั้ง HUAWEI ได้ยืนมือเข้าไปช่วย โดยให้กระทรวงยุติธรรมและ ZTE ทำการไกล่เกลี่ยอย่างครอบคลุมและคดีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ ZTE ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาถูกยกเลิก

Ren Zhengfei ได้เขียนจดหมายถึงพนักงานโดยมีใจความกล่าวถึงเรื่องการห้ามโจมตี ZTE ว่า “ในการแข่งขันในตลาดเราเป็นคู่แข่งที่สามารถเผชิญหน้ากับศัตรูได้ แต่เมื่อลำบากเราก็เป็นสหายกันได้”

แม้ห้วงเวลานี้ “HUAWEI” เผชิญกับสถานการณ์ยากลำบาก แต่เหตุการณ์นี้กลับเป็นประสบการณ์การต่อสู้ที่มีค่าสำหรับองค์กร และบุคลากรภายในองค์กร HUAWEI

ในขณะที่ผู้บริโภค แม้ในช่วงแรกที่ปรากฏข่าวแบน “HUAWEI” ได้สร้างความสับสน และความไม่มั่นใจไปบ้าง แต่เมื่อ “HUAWEI” ออกมาให้ข่าวว่ามีการเตรียมความพร้อมไว้นานแล้ว ผลที่สุดก็สามารถเรียกคืนมั่นใจ และผู้บริโภคยังคงให้การสนับสนุน ซึ่งความไว้วางใจจากผู้บริโภค จะเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้ “HUAWEI” สามารถฝ่าสถานการณ์นี้ไปได้


  • 5.1K
  •  
  •  
  •  
  •