ทีเส็บประกาศความสำเร็จ “ไมซ์เพื่อชุมชน ปี 2” ผนึกกำลัง 85 สหกรณ์ ตอกย้ำประสบการณ์ “ประชุม เที่ยว” เรื่องเดียวกัน!

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

ในทุกๆ ครั้งที่พูดถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ชุมชน เรื่อง “การท่องเที่ยว” ต้องถูกหยิบมาเอ่ยถึงทุกครั้ง เพราะถือเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นได้โดยตรง ซึ่ง “ธุรกิจไมซ์” ก็ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรรมการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก

เนื่องจาก “ไมซ์” (MICE : Meetings, Incentive Travel, Conventions and Exhibitions) เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การจัดประชุมขององค์กร (Meetings) การจัดทริปเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive Travel) และยังรวมถึงงานสัมมนาขนาดใหญ่ ในระดับนานาชาติ (Conventions) และการจัดงานแสดงสินค้าหรือบริการขนาดใหญ่ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ (Exhibitions) ซึ่งสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศได้เป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะในส่วนของการเดินทางท่องเที่ยวที่มักจะมีการใช้จ่ายค่อนข้างสูง เป็นทริปคุณภาพ

  • “ทีเส็บ” กับภารกิจส่งเสริมไมซ์เพื่อชุมชน

สำหรับธุรกิจไมซ์ในบ้านเราได้รับการขับเคลื่อนโดยแม่งานหลักอย่าง สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นได้อย่างเต็มศักยภาพ

อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” ก็ถือเป็นหนึ่งในมิชชั่นของทีเส็บ โดยร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดโครงการ ไมซ์เพื่อชุมชน โดยทำการคัดเลือกชุมชนสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นจุดหมายใหม่สำหรับธุรกิจไมซ์ และใช้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกผลักดันให้เกิดการจับคู่ธุรกิจสินค้าในชุมชนกับองค์กรธุรกิจต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาชุมชนในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

“โจทย์เรื่องการกระจายรายได้สู่ชุมชนเป็นสิ่งที่ทีเส็บมุ่งมั่นมาโดยตลอด และในปีที่แล้วก็ได้ริเริ่มร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จัด “โครงการไมซ์เพื่อชุมชน” ขึ้น คัดเลือกชุมชนสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นจุดหมายใหม่รองรับการจัดงานไมซ์ โดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งฝึกอบรม ศึกษาดูงาน การจัดกิจกรรมเรียนรู้นอกสถานที่ ตลอดจนกิจกรรมพิเศษผ่านการสร้างสรรค์ที่เหมาะกับอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น” คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าว

  • จับมือ “85 สหกรณ์” ต่อยอดความแข็งแกร่ง

จากปีแรกของโครงการที่นำร่องทำงานร่วมกับ 35 สหกรณ์และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และในปีที่ 2 ได้ต่อยอดผนึกกำลังเพิ่มเติมเป็น 85 สหกรณ์ พร้อมริเริ่มอีกหลายโครงการร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนผ่านโมเดล “สามประสาน” บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานรัฐ องค์กรภาคเอกชน และชุมชน  เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมไมซ์สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

“ตลอดปี 2562 ทีเส็บพัฒนาหลากหลายโครงการไมซ์สู่ชุมชน ผ่านโมเดลสามประสาน ผนึกความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และชุมชน ทั้งโครงการไมซ์เพื่อชุมชน นวัตวิถีไมซ์ สัมมนารอบกรุง และยกทีมชมถิ่น เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ไทยสู่เป้าหมายในปี 2562 นั่นคือ ด้านจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศ 33,011,322 คน และก่อให้เกิดรายได้ 117,301 ล้านบาท” นายจิรุตถ์ กล่าวถึงเป้าหมายการดำเนินงานของทีเส็บ

และเอ่ยถึงปลายทางที่ทีเส็บต้องการจะเดินไปให้ถึง นั่นก็คือ การเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่จะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน เสริมศักยภาพให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ สอดคล้องนโยบายหลักของรัฐบาลเพื่อสร้างสังคมยั่งยืนทั่วประเทศ

  • จัดอีเวนท์ สร้างโชว์เคส รับท่องเที่ยว B2B

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21-23 สิงหาคมที่ผ่านมา ยังได้มีการจัดงาน ไมซ์เพื่อชุมชน “เปิดมิติใหม่ อุตสาหกรรมไมซ์” โดยทีเส็บร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดงาน “ไมซ์โชว์เคส” แสดงสินค้าจากสหกรณ์คุณภาพที่เข้าร่วมโครงการไมซ์เพื่อชุมชนปีที่ 2 มีตัวแทนสหกรณ์เข้าร่วมจำนวน 25 แห่ง อาทิ สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ (Max Beef) สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน สหกรณ์เกษตรนิคมชุมแสงจันทร์ เป็นต้น โดยกำหนดจัดงานขึ้น ณ ลานอาคาร B อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

ในงานดังกล่าว นอกจากตัวแทนชาวบ้านจะได้นำสินค้าของสหกรณ์มาวางจำหน่ายแล้ว สิ่งที่ชุมชนจะได้มากกว่าแค่รายได้จากการขายสินค้า นั่นก็คือ การได้มีโอกาสแนะนำจุดเด่น พร้อมโปรโมทกิจกรรมเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนให้กับผู้สนใจ ได้ติดต่อเจรจาธุรกิจ วางแผนการท่องเที่ยวกับชุมชนได้ในลักษณะ B2B

ปัจจุบันโครงการไมซ์เพื่อชุมชนมี 5 เส้นทางนำร่อง” ที่มีความพร้อมเป็นแหล่งศึกษาดูงานแล้ว ได้แก่ 1) สหกรณ์บ้านลาด จ.เพชรบุรี 2) สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จ.สระบุรี 3) สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสนและสหกรณ์โคนม จ.นครปฐม 4) สหกรณ์นิคมวังไทร  และ 5) สหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์ จ.ระยอง โดยสหกรณ์ทั้งหมดพร้อมเป็นแหล่งศึกษาดูงานและสถานที่จัดกิจกรรมรองรับทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นทางเลือกสำหรับการจัดประชุมนอกสถานที่ และในพื้นที่ยังมีวิถีชุมชนที่น่าสนใจอีกมากมาย

ถึงเวลาแล้วที่จะมาร่วมกันเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ของการท่องเที่ยวเพื่อประชุมสัมมนา เพราะการจะไปนอนโรงแรมหรูๆ ทานอาหารดีๆ เราสามารถทำตอนไหนก็ได้ แต่สำหรับการท่องเที่ยวเพื่อประชุมสัมมนานั้น การมาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ คลุกวงในกับวิถีท้องถิ่น และร่วมทำกิจกรรมเอ็กซ์คลูซีฟที่หาจากที่ไหนไม่ได้

เช่นที่ คุณพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวไว้ว่า “การมาเที่ยวชมงานที่สหกรณ์ของเรา อาจไม่ได้สะดวกสบายเหมือนไปรีสอร์ท ขณะเดียวกันก็ได้สัมผัสวิถีชุมชน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ท้องถิ่น เพื่อช่วยให้ชุมชนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

สำหรับใครที่สนใจอยากจะแพลนทริปประชุมสัมมนาที่แตกต่างไม่เหมือนใคร แถมยัง “วิน-วิน” ได้ทั้งองค์กร ได้ทั้งชุมชน สามารถเข้าไปค้นหาเส้นทางสหกรณ์ได้ใน “คู่มือไมซ์เพื่อชุมชน” ดาวน์โหลดที่ elibrary.tceb.or.th


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE