เมื่อ online คือทางรอด แล้วอะไรคือรายได้หนังสือพิมพ์

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ถึงวันนี้เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เริ่มคุ้นกับการรับข่าวสารผ่านเน็ตมากขึ้นเรื่อยๆส่งผลให้ความกังวลว่าในอนาคต”หนังสือพิมพ์”อาจถูกลดบทบาทถึงขั้นหายไป

newspaper_003ทว่าความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่จะเริ่มเห็นปรากฏการณ์ “ขยับ” ปรับทั้งรูปร่างหน้าตา ขนาด และราคา เพื่อความอยู่รอดเท่านั้น หากแต่ยังเริ่มเห็นการ “กลายพันธุ์” ของรูปเล่มจากรูปลักษณ์ทางกายภาพที่ผู้อ่านสัมผัสได้ สู่เวอร์ชั่น “ออนไลน์” ที่กูรูหลายรายเชื่อว่ากำลังจะกลายเป็น “ทางรอด” ของธุรกิจหนังสือพิมพ์ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

ออนไลน์=อนาคต?

ยกตัวอย่างจากปรากฏการณ์ที่หลายคนยากจะเชื่อว่า หนังสือพิมพ์ออนไลน์จะเข้ามายึดครองพื้นที่ในใจผู้อ่านได้มากกว่ารูปเล่มปกติ หากแต่ก็เป็นไปแล้ว สำหรับตลาดหนังสือพิมพ์ของ “เมล แอนด์ การ์เดียน โจฮานเนสเบิร์ค (http://www.mg.co.za/)” ในแอฟริกาใต้ ซึ่งเริ่มทำเวอร์ชั่นออนไลน์ควบคู่กับหนังสือพิมพ์รูปเล่มปกติพบว่า มียอดสมัครสมาชิกเวอร์ชั่นออนไลน์ถึง 6.5 แสนราย แต่มีสมาชิกหนังสือพิมพ์ในแบบรูปเล่มเพียง 5 หมื่นราย สะท้อนให้เห็นว่า “ตลาดหนังสือพิมพ์ออนไลน์กำลังเป็นเทรนด์ที่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับจะต้องให้ความสำคัญ”

อย่างไรก็ตาม แม้ “ออนไลน์” จะเป็นอนาคตของธุรกิจหนังสือพิมพ์ หากประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายยังกังวลนั่นก็คือ จะสามารถโน้มน้าวให้ผู้อ่าน “ยอมจ่าย” เพื่อซื้อหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เหมือนกับในรูปเล่มปกติได้อย่างไร

เชื่อตลาด 4-5 ปีตลาดเปลี่ยน

นายวิศาล ซัลกอตรา รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท แพลนแมน เทคโนโลยีส์ อินเดีย ผู้ให้บริการโซลูชั่นอี-เปเปอร์รายแรกจากอินเดีย บอกว่า ตลาดหนังสือพิมพ์ออนไลน์ส่วนใหญ่ยังเป็นการทำเพื่อเสริมการจำหน่ายในรูปเล่มปกติ ซึ่งผู้อ่านสามารถรับข่าวได้ฟรี ยังสามารถค้นหาข่าวเก่าๆ ได้ผ่านเว็บโดยไม่ต้องมีค่าธรรมเนียม

หากแต่เขากล้าที่จะยืนยันว่า ในอีก 4-5 จากนี้จะไม่มีหนังสือพิมพ์เล่มใดเปิดให้ผู้อ่านเข้าถึงคอนเทนท์ที่มีลิขสิทธิ์เช่นนี้ได้อย่าง “ฟรีๆ” อีกแล้ว

เหตุเพราะคอนเทนท์ข่าวคือสิ่งที่มี “ลิขสิทธิ์” และมีต้นทุนสร้างสรรค์ ประกอบกับรายได้ของธุรกิจหนังสือพิมพ์ที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง ดังนั้นการเก็บค่าสมาชิกก็จะเป็นรูปแบบสำคัญของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ในเร็วๆ นี้

“โมเดลของหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ตอนนี้คือให้ผู้อ่านเข้ามาอ่านฟรี โดยที่ตัวสำนักพิมพ์มีรายได้จากโฆษณาออนไลน์มาเสริม แต่อนาคตคนจะเริ่มคุ้นเคยกับการอ่านออนไลน์ และยอมที่จะจ่ายเพื่อให้ได้อ่านข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตจากที่ใดในโลกก็ได้ ซึ่งเราก็เชื่อว่าอีก 4-5 ปี จะไม่มีอะไรที่ฟรีหมดเหมือนอย่างทุกวันนี้แล้ว”

ผู้บริหารแพลนแมนอธิบายว่า แพลตฟอร์มของหนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกันคือ สแกนเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้ให้อยู่ในรูปของไฟล์ .pdf และนำเข้าสู่ระบบเวิร์คโฟลว์ เพื่อช่วยการค้นคืน และเรียกใช้งานอย่างสะดวก โดยมีต้นทุนการทำราว 65-85 ดอลลาร์ต่อหน้า

เขาตอกย้ำด้วยจำนวนลูกค้าหนังสือพิมพ์รายใหญ่ทั่วโลกกว่า 60 ฉบับ โดยส่วนใหญ่เป็นแท็บลอยด์ในอังกฤษถึง 17 ฉบับ และหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ของประเทศต่างๆ เช่น  อินเตอร์เนชั่นนัล เฮรัลด์ ทรีบูน และสเตรตส์ไทมส์ของสิงคโปร์ และกำลังพิจารณาความเป็นไปได้สำหรับการเปิดตลาดในไทยเร็วๆ นี้

Nectec เล็งต่อแชร์เทคโนโลยี

นายวิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า เนคเทคกำลังเจรจากับแพลนแมน เพื่อขอความร่วมมือวิจัยและพัฒนาการจัดเก็บ “ระบบรู้จำตัวอักษร (Optical Character Recognition หรือโอซีอาร์)” ซึ่งเป็นระบบการจัดเก็บเอกสารในรูปแบบดิจิทัลของไทยเข้ากับระบบเวิร์คโฟลว์ของแพลนแมน ทั้งนี้เพื่อให้เห็นต้นแบบความเป็นไปได้ในการจัดเก็บข้อมูลภาษาไทยให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลอย่างเป็นมาตรฐาน

“เดิมเรามีแต่เครื่องมือพื้นฐาน แต่ยังไม่ระบบการจัดเก็บที่ทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่ค้นได้ง่ายขึ้น ซึ่งเบื้องต้นก็จะเน้นแชร์เทคโนโลยีกันก่อน เพราะเรามีจุดมุ่งหมายเพื่อการวิจัยให้การเก็บเอกสารไทยทำได้ง่ายขึ้น ตามคอนเซปต์ของดิจิไทซ์ ไทยแลนด์” นายวิรัช กล่าว

Source:  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
logo_bkkbiz


  •  
  •  
  •  
  •  
  •