โซเชียลมีเดียเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยเข้ามาในฐานะเป็นพื้นที่ในการพบปะผู้คนและเพื่อนใหม่ โดยยุคแรกๆ ของ Social Media ที่รู้จักกันอย่างมาก เห็นจะหนีไม่พ้น Hi5 แต่ด้วยความที่มีรูปแบบซับซ้อนและใช้งานที่ยุ่งยากพอสมควร ทำให้ Hi 5 ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก จนเมื่อ Facebook ปรากฎขึ้น พลังแห่งโลกโซเชียลก็ถือกำเนิดขึ้นมาเช่นกัน
ปัจจุบันตลาดอาหารเสริมความงามในประเทศไทยมีมูลค่าราว 1.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 21% ของมูลค่าตลาดเสริมอาหารทั้งหมด หากเอ่ยถึง OHO Punim หลายคนในตลาดธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ผ่าน Facebook หรือ Social Commerce คงไม่มีใครไม่รู้จักสาวงามที่ชวนท้าทายให้ลองสินค้าผลิตภัณฑ์ความงามที่รู้จักกันในชื่อ “ปูนิ่ม” ด้วยความที่มีรูปร่างดีและหน้าตาที่สวยงามจึงไม่แปลกที่หลายคนอยากจะมีรูปร่างและหน้าตาดีตามอย่างเธอ ผลิตภัณฑ์ของปูนิ่มจึงเป็นที่รู้จักและสนใจขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่แค่นี้คงจะไม่สามารถประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน
Marketing Oops! ได้รับเกียรติในการร่วมพูดคุยกับ คุณศิรินทรา เส็งสิน หรือ “ปูนิ่ม” ประธานบริษัท โอ้โห คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถึงการเข้าสู่ธุรกิจ Social Commerce และทิศทางในอนาคตของ OHO Punim
กว่าจะเป็น OHO Punim
“หากเรามองในภาพธุรกิจออนไลน์ จะเห็นว่ามีการเริ่มขายสินค้าออนไลน์แบบจริงจังเมื่อช่วง 3 ปีที่แล้ว แต่สำหรับปูนิ่มเริ่มเข้ามาขายสินค้าออนไลน์จริงๆ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากการขายเสื้อผ้ามือสองของตัวเองก่อน เนื่องจากปูนิ่มเป็นแม่บ้านไม่มีรายได้จึงคิดจะหารายได้ก็เริ่มมีการนำเสื้อผ้าที่ไม่ใช้ของตัวเองออกมาขายผ่าน Social Media จนกระทั่งเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้ของปูนิ่มหมด ก็เริ่มหันไปหาซื้อตามตลาดนัด”
คุณปูนิ่ม ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคจนพบว่า คนส่วนใหญ่ชอบซื้อเสื้อผ้า ชอบซื้อของ แต่ไม่อยากไปเดินเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสองตามตลาดนัด เพราะมีความรู้สึกอายที่ต้องใส่เสื้อผ้าซ้ำกับของคนอื่น นั่นเป็นต้นเหตุที่ทำให้ปูนิ่มลองใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการโพสต์ขายสินค้า เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถซื้อได้อย่างสบายใจและใส่ได้โดยไม่ต้องอายว่าใส่เสื้อซ้ำกับคนอื่น เมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็เริ่มขยายตลาดเข้ามาสู่กลุ่มอาหารเสริม
“การขายสินค้าผ่าน Social Media มีข้อดีคือความสะดวก สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เร็วมาก แต่ต้องศึกษาก่อนว่าลูกค้าในกลุ่มออนไลน์มีความชอบอะไร จากนั้นก็โพสต์ในสิ่งที่ลูกค้าชอบลงไป ก็จะทำให้เกิดการรับรู้ที่รวดเร็ว รวมถึงการแชร์ต่อที่ไวมาก ยกตัวอย่างเช่น หลายคนชอบใส่เสื้อผ้ามือสองมาก แต่ก็มักจะเขินอายเวลาที่เข้าร้านมือสอง เพราะคนอื่นจะเห็นว่ากำลังเลือกซื้อเสื้อผ้าเก่า แต่การขายออนไลน์จะไม่มีใครทราบเลยว่าซื้อเสื้อผ้ามือสองมา เพราะเป็นการซื้อขายผ่านการแชท”
คุณปูนิ่มยังชี้ว่า เมื่อ 7 ปีที่แล้ว Facebook เป็นช่องทางที่กำลังได้รับความสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีไว้เพื่อ 3 สิ่งคือ การอวดว่าเล่น Facebook ตามกระแส อวดรูปกิจกรรมต่างๆ หรือสถานที่ที่ไปมา, การบ่นไม่ว่าจะเป็นการบ่นหัวหน้า แฟน เพื่อนหรือตัวเอง และการส่องดูเฟซของคนอื่นๆ เพื่อหาข้อมูลมาปรับใช้ หรือต้องการทราบว่าคนอื่นกำลังสนใจอะไรอยู่ เป็นต้น
“การใช้ช่องทาง Social Media ในการซื้อของ ช่วยให้สามารถทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าผู้ซื้อเป็นใคร ที่สำคัญโลกออนไลน์ยังสามารถใช้งานเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดในการใช้งาน ไม่มีข้อกำหนดในเรื่องของเวลา อย่างเช่นทีวีจะมีช่วงเวลาในการออกอากาศ แต่ในโลกออนไลน์ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาใดๆ ทั้งสิ้น”
ระบบ IT บนการขาย Social Commerce
นอกจากด้านการขายแล้ว ในส่วนของระบบ IT นั้น OHO มีการนำเข้ามาใช้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เนื่องจากประสบปัญหาในการจัดส่ง ทำให้จัดส่งสินค้าไม่ทัน ซึ่งในอดีตจะต้องนำสินค้าไปให้ที่ไปรษณีย์เพื่อทำการติดบาร์โค้ดรหัส EMS ให้กับสินค้า หากมีสินค้า 700 ชิ้นไปรษณีย์ก็จะต้องใส่รายชื่อผู้รับและติดบาร์โค้ดรหัส EMS ทั้งหมด 700 ครั้ง เป็นสาเหตุที่ทำให้จัดส่งสินค้าล่าช้า โดยมีประสบการณ์ในการส่งสินค้าที่ไปรษณีย์ช่วงบ่าย 2 โมง แต่กว่าไปรษณีย์จะใส่ข้อมูลเสร็จครบถ้วนก็เกือบหลังเที่ยงคืน
“ปัจจุบันระบบ IT ของ OHO มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับไปรษณีย์ โดย OHO จะเป็นผู้ดูแลข้อมูลของผู้ซื้อสามารถออกบาร์โค้ดรหัส EMS ได้ภายใน 5 นาที และข้อมูลทั้งหมดก็จะถูกส่งเข้าสู่ระบบไปรษณีย์อัตโนมัติ ช่วยลดระยะเวลาทำงานของไปรษณีย์ ที่สำคัญไปรษณีย์ยังส่งรถมารับสินค้าถึงบริษัท ช่วยลดระยะเวลาขนส่งไปไปรษณีย์ ไม่เพียงเท่านี้ OHO ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับไปรษณีย์ไทย ทำให้ OHO กล้าการันตีได้ว่าสามารถส่งสินค้าถึงมือผู้รับได้ใน 2 ชม.ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลก่อนเป็นอันดับแรก”
ยิ่งไปกว่านั้น คุณปูนิ่มยังเตรียมขยายกรอบความร่วมมือกับไปรษณีย์ไปยังอีก 4 จุดกระจายสินค้าทั่วประเทศของ OHO ที่มีอยู่แล้วประกอบไปด้วย จ.นครราชสีมา, ศรีราชา จ.ชลบุรี, จ.พิษณุโลก และ ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานการจัดส่งสินค้าของ OHO ไม่เพียงเท่านี้ระบบ IT ยังสามารถช่วยป้องกันการผิดพลาดในการส่งสินค้า และยังรองรับการขยายตัวของตลาดออนไลน์ที่ปัจจุบันเริ่มมีสินค้าอาหารสดเข้ามาขายผ่านระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น
“การทำตลาด SocialCommerce หัวใจคือเรื่องของความเร็ว ส่วนใหญ่ผู้ซื้อสินค้าผ่าน Facebook ต้องการความสะดวกรวดเร็ว กรณีที่ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เราเชื่อว่า Alibaba มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง e-Commerce และสินค้าของเขามีราคาถูกกว่า ซึ่งไม่สามารถเข้าไปแข่งขันในเรื่องของราคาได้ แต่เรามีจุดแข็งในเรื่องการจัดส่ง โดยในอนาคตมีการตั้งเป้าหมายให้สินค้าสามารถถึงมือผู้รับได้ภายใน 30 นาที นอกจากนี้ยังสามารถทำระบบเรียกเก็บเงินปลายทางได้อีกด้วย”
OHO ให้บริการด้านโฆษณาผ่าน Facebook
ด้วยความร่วมมือกับ Facebook ในการแชร์ข้อมูลการซื้อขายสินค้า โดย Facebook ยอมรับว่าประเทศไทยมีการใช้ Facebook เป็นช่องทางในการขายสินค้าใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก และเป็นการขายสินค้าให้ในลักษณะผู้ผลิตพบผู้บริโภค Facebook จึงให้สิทธิ์ในด้านการดูแลโฆษณาพร้อมคำปรึกษาผ่าน Facebook แก่ บริษัท โอ้โห คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผ่านการให้บริการ JPN Marketing
“บริการ JPN Marketing ทำมาได้ 1 ปีมีหน้าที่ในเป็นตัวแทนลงโฆษณาผ่าน Facebook และจำหน่ายสินค้า โดยเปิดให้แบรนด์ต่างๆ เข้ามาใช้บริการ ซึ่ง JPN จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาว่า ควรจะทำอย่างไรบ้างกับสินค้า นอกเหนือจากการโฆษณาใน Facebook ลูกค้าจะเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้นจึงค่อนข้างเลือกลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการ JPN และต้องเป็นผู้ที่ตั้งใจในการสร้างแบรนด์ของตัวเอง”
เวลาคือเรื่องสำคัญของ Social Commerce
เรื่องสำคัญในการขายสินค้าออนไลน์ คุณปูนิ่มเชื่อว่าคือการตอบปัญหาของลูกค้า โดยโฆษณาจะช่วยให้ลูกค้าอยากได้สินค้านั้นๆ 50% ขณะที่เจ้าหน้าที่ตอบคำถามลูกค้ามีส่วนสำคัญมาก เพราะจะทำให้ลูกค้าอยากซื้อจากการตอบคำถามอีก 50% ปัจจุบันจึงมีข้อกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องตอบคำถามลูกค้าภายใน 5 นาทีหลังเกิดคำถาม
“ความสำเร็จของ OHO มีอยู่ด้วยกัน 3 จุดหลัก ประกอบไปด้วย การใช้สื่อโฆษณาผ่าน Facebook โดยจะเป็นการเชิญชวนและให้ทดลองใช้ ผ่านตัวปูนิ่มเองซึ่งจะเป็นคนการันตีว่าสินค้านี้ใช้ได้จริง นอกจากนี้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา OHO ได้สร้างความมั่นใจให้ลูกค้าด้วยการรับประกันการใช้สินค้า หากเกิดปัญหาจากการใช้สินค้าของ OHO สามารถเรียกร้องประกันเพื่อชดใช้ความเสียหาย จุดต่อมาคือเรื่องของการขายที่พนักงานทุกคนผ่านการอบรมถึงศักยภาพในตัวเอง โดยเฉพาะในด้านการขาย และจุดสุดท้ายคือเรื่องของเทคโนโลยีในการบริหารจัดการด้านการส่งสินค้า ที่สามารถจัดส่งได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วน”
Social Commerce อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่สำคัญการขายผ่าน SocialCommerce กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง และเป็นที่ยอมรับว่า OHO Punim คือผู้บุกเบิกและเรียกได้ว่าเป็นผู้นำในตลาด Social Commerce โดยคุณปูนิ่มยังทิ้งท้ายว่า แม้ว่าแบรนด์ OHO Punim จะผูกติดกับปูนิ่มไปแล้ว แต่ในอนาคตปูนิ่มเตรียมที่จะใช้ตัวการ์ตูนเป็นตัวแทนของปูนิ่ม รวมไปถึงทีมงานที่พร้อมจะขึ้นมาเป็นปูนิ่มได้ทุกคน