เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เคลื่อนย้ายสู่สังคมประเทศไทยทุกมิติ ความสำคัญเรื่องแรงงานหรือบุคลากรจะถูกหยิบเป็นหัวข้อสำคัญ ตั้งแต่ธุรกิจขนาด Conglomerate กิจการข้ามชาติ จนลงมาสู่ระดับ Small Business มักจะมีทางเลือกน้อย HR จะเวียนหัว CEO ก็หงุดหงิดกับแผนการขยายธุรกิจต้องหยุดชะงักจากปัญหาเรื่องคน ทำให้เสียโอกาสในการเติบโต แก้ปัญหาไม่จบสักที ฯลฯ
โดยเฉพาะบุคลากรที่จะเข้ามาตอบโจทย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เราจะ 4.0 ยังไงก็ยากจะสำเร็จ กว่าจะสำเร็จ Opportunity ก็แทบจะไม่เหลือในแง่การแข่งขันของประเทศ
เป็นครั้งแรกของประเทศ และก็เป็นมิติใหม่ของภาคอุดมศึกษาครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU) คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) สร้างความร่วมมือพัฒนาการศึกษาของประเทศในมิติใหม่ เน้นการเรียน การสอน การวิจัยด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ถือเป็นบทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัยไทย เพื่อเตรียมรับมือรองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ของโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
ความร่วมมือของจุฬาฯ และลาดกระบังฯ ในการเปิดหลักสูตรปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ถือเป็นครั้งแรกของไทย ผู้เรียนหลักสูตรดังกล่าว จะได้รับสองปริญญาข้ามสถาบัน (Double degree) ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ จากทั้ง 2 จุฬาฯ-ลาดกระบัง และทั้ง 2 สถาบันจะร่วมกับมหาวิทยาลัย CMKL (CMKL University- สถาบันอุดมศึกษาเอกชน แบบสถาบันร่วม ระหว่างมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนกับลาดกระบัง ที่จัดตั้งโดยกฏหมายพิเศษ มีความยืดหยุ่นของหลักสูตร ตอบโจทย์-ทักษะในศตวรรษที่ 21) พัฒนาหลักสูตรด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical & Computer Engineering: ECE) ขึ้นมา ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจาก CMKL ด้วย
คือ จบม.6 เข้าศึกษาได้จะได้รับปริญญา ภายใต้หลักสูตร 4 ปี และเป็นสาขาการเรียนการสอนที่ประเทศไทยขาดแคลนมาก
จากเมื่อก่อนที่สถาบันของไทย มักจะร่วมมือเปิดหลักสูตรนานาชาติกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ แต่ครั้งนี้เป็นความเชื่อมโยงระหว่างภายในประเทศกันเอง และจะกลายเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือใหม่ๆ ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศ เกิดความร่วมมือในลักษณะดังกล่าว เพื่อสร้างหลักสูตรใหม่ๆ ขึ้นมารองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกที่จะเกิดขึ่นในอนาคต
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี CU ย้ำว่า การเรียนการสอนดังกล่าวจะสนับสนุนนวตกรรม สนับสนุน Entrepreneur และจะเป็น Connector เชื่อมโยงสังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ในสิ่งที่เรียกว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวตกรรมสมัยใหม่ ซึ่งภาคการศึกษาต้องปรับปรุง มีการพัฒนาหลักสูตร มีการ upgrade องค์ความรู้ใหม่ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
“การเชื่อมโยงการศึกษาด้าน AI และ Robotics จะเป็นมิติที่ดีของการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต เป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างความเข้มแข็ง เป็นกลไกขับเคลื่อนแผนการสร้างบุคลากรออกสู่ตลาด”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี KMITL กล่าวว่า ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของวงการการศึกษาประเทศไทย จากที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์กับม.ต่างประเทศ แต่สุดท้ายไม่มาก ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ในรอบ 163 ปี เพราะปีนี้วิศวะ จุฬา จะครบ 104 ปี วิศวะ ลาดกระบัง จะมีอายุครบ 58 ปี (ก่อตั้ง 2503) และ CMKL เริ่มก่อตั้งในปีแรก วันนี้จึงเป็นวันรวมญาติของคณะวิศวะทั้ง 2 สถาบัน ซึ่งเป็นสุดยอดวิศวะประเทศไทย ที่ทลายกำแพงด้านวิศวะของทั้ง 2 สถาบันลง ปรากฏการณ์วันนี้จะไม่มีประโยชน์แค่ 2 สถาบัน แต่จะเป็นการส่งสัญญาณให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 200 กว่าแห่ง จับมือกันสร้างหลักสูตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างนักศึกษาให้เป็นนักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ต่อไป
ส่วนผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดี CMKL เสริมว่า เราเป็นสถาบันที่ดำเนินการภายใต้การจัดการการศึกษาร่วม ระหว่างสถาบันฯ คือ เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน สหรัฐอเมริกา ที่มีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีขั้นสูงระดับโลก และได้ผลิตบัณฑิตด้านหุ่นยนต์สมองกล วิทยาศาสตร์ข้อมูล ความปลอดภัยไซเบอร์ เครือข่ายไร้สาย เมืองอัจฉริยะ พลังงานและเทคโนโลยีสุขภาพ ซึ่งบัณฑิตที่จบหลักสูตรนี้ จะเป็นคนสำคัญที่ตลาดเทคโนโลยีต้องการ
“ถามว่าจะทันกับความต้องการไหม ในฐานะที่มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ผลิตบุคลากร ท่ามกลางผลกระทบขององค์กรที่ได้รับผลจาก Thailand 4.0 และปรากฏการณ์ Digital Disruption เทคโนโลยีวันนี้จึงมีการหลอมรวมเรื่องของ Robot และ AI เข้าด้วยกัน วิศวะแบบเดิมไม่สามารถตอบได้อย่างสมบูรณ์ การจะตั้งภาควิชาใหม่ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่ การหลอมรวมของภาควิชาวิศวะของ 2 สถาบันจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกว่า ทันไหม ระยะสั้น เราแก้ปัญหาเอาคนจากวิศวะฐานเดิม เช่น ไฟฟ้า เครื่องกล มาเทรนเพิ่มขึ้น upgrade ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อดีมานด์ สามารถผลิตคนในระยะสั้นซึ่งก็ยังไม่พอ ส่วนระยะยาว เพื่อให้ประเทศไทยไม่หลุดจากความสามารถในการแข่งขัน เราต้องเริ่มวันนี้” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
FYI: ผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัย CMKL โดยมีหน่วยกิตให้เก็บอยู่ประมาณ 130-140 หน่วยกิตการเรียนการสอนในลักษณะ Project-based Learning ทดลองกับเครื่องจริง (Hands on) ไม่เน้นบรรยายเพราะองค์ความรู้มีมากแล้ว เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว พรุ่งนี้ก็ใช้ไม่ได้ วิศวกรรมศาสตร์แบบดั้งเดิมจะถูกเปลี่ยนเป็นให้นักศึกษาลงมือทำ (Learning Base) ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์, Robot & AI ของ CMKL สำหรับนักเรียนระดับม.6 มีทุนการศึกษาให้สอบอย่างไม่อั้น รุ่นแรกสำหรับปีการศึกษา 2561 คาดว่าจะเปิดรับในราวเดือนสิงหาคมนี้