Samart ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 2.3 หมื่นล้าน

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

samartสามารถประกาศทิศทางธุรกิจปี 52 ตั้งเป้ารายได้ 23,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% ใช้กลยุทธ์บริหารความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยมุ่งเน้นทั้งการขยายผลจากธุรกิจปัจจุบันและพุ่งเป้าที่โครงการประมูลภาครัฐ ซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 1 แสนล้านบาท 

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงทิศทางธุรกิจในปี 2552 ว่า กลุ่มสามารถคาดว่าจะมีรายได้ 2.3 หมื่นล้านบาทคิดเป็นการเติบโตขึ้น 30% โดยรายได้ที่สำคัญที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากสายธุรกิจที่ให้ผลกำไรสูงและการแข่งขันต่ำ นั่นคือสายธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม หรือ ICT Solutions ซึ่งนำโดย บริษัท สามารถเทลคอม ตั้งเป้ารายได้รวมทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 200% เมื่อเทียบกับปี 51

ทั้งนี้ เพราะมีปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมไอซีที คือการเข้ามาของเทคโนโลยีและเครือข่ายการสื่อสารใหม่ๆ เช่น 3G, CDMA, WiMAX รวมทั้งโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อการพัฒนาระบบเครือข่ายโทรคมนาคมและไอทีของประเทศ ซึ่งจะมีการใช้จ่ายงบประมาณมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท และด้วยความชำนาญในเรื่องเทคโนโลยีและความพร้อมในการลงทุน กลุ่มสามารถจึงมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมประมูลไม่ต่ำกว่า 10% ของมูลค่ารวม

กลุ่มสามารถคาดว่าจะเข้าร่วมประมูลในโครงการต่างๆ มูลค่ารวมกว่า 7,000 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปีนี้เช่น

  • โครงการขยายโครงข่าย IP Broadband เพื่อรองรับการใช้งาน Internet Broadband มูลค่าประมาณ 4,200 ล้านบาท ควบคู่ไปกับโครงการ Broadband 1 ล้านพอร์ต มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2553 ของบริษัท ทีโอที
  • โครงการไอพีคอร์ มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท
  • โครงการเคเบิลใต้น้ำมูลค่า 600 ล้านบาท
  • โครงการโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมในพื้นที่ห่างไกลชนบท Universal Service Obligation (USO) มูลค่า 280 ล้านของบริษัท กสท โทรคมนาคม
  • และมีโครงการที่อยู่ในระหว่างรอการประมูลอีกกว่า 5 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการมิเตอร์อัจฉริยะ(AMR) ส่วนขยาย โครงการ NGN โครงการ e-learning โครงการ Airport CUTE ซึ่งยังไม่นับรวมโครงการประมูลขนาดใหญ่ซึ่งมีมูลค่าราว 30,000 ล้านบาท คือโครงการลงทุนโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G ของทีโอที

‘ปี52 สำหรับกลุ่มสามารถคือปีแห่งการฝ่าวิกฤตและพิชิตโอกาสหรือ 2009 Year of Risk & Opportunity Management ซึ่งทุกสายธุรกิจภายใต้กลุ่มสามารถจะใช้กลยุทธ์หลักร่วมกัน นั่นคือการบริหารความเสี่ยงโดยเน้นการบริหารต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่าย บริหารจัดการข้อมูล การบริหารงานด้าน HR ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และการแสวงหาโอกาสในการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเตรียมการสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต’

นอกจากโอกาสการเติบโตที่โดดเด่นของสายไอซีทีแล้ว ยังมีธุรกิจอื่นๆของกลุ่มสามารถที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Content, Contact Center, e-learning และ ICT Outsourcing ซึ่งทั้งหมดนี้กลุ่มสามารถได้วางรากฐาน ไว้อย่างดีและพร้อมที่จะขยายผลอย่างต่อเนื่อง

นายวัฒน์ชัยกล่าวว่าในส่วนสายธุรกิจ Mobile Multimedia ซึ่งคาดว่าตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศจะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ บริษัท สามารถ ไอ-โมบายได้เตรียมกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นตลาดโดยเน้น 3 ส่วนหลักคือ

  1. New Network/New Device
    การนำเสนอโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่เพื่อรองรับระบบ 3G และ ระบบ CDMA ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของการใช้งานบรอดแบนด์ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Terminal Device รูปแบบใหม่ๆ เช่น โทรศัพท์ 3G ที่ใช้ OS Android ที่มีแอปพลิเคชั่นในการใช้งานที่หลากหลาย, USB Modem ที่มีทีวีจูนเนอร์สามารถดูทีวี ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ได้, เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กราคาถูกหรือเน็ตบุ๊ก
  2. New markets
    การแสวงหาตลาดใหม่ที่มีการแข่งขันต่ำด้วยการนำเสนอโทรศัพท์มือถือที่มีคุณสมบัติการใช้งานตรงกับความต้องการของตลาด อาทิ โมบายทีวีโดยยังพุ่งเป้าขยายตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง และเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เพื่อโอกาสในการสร้างยอดขายอย่างต่อเนื่อง เช่น อินเดีย และ อินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศในแถบตะวันออกกลางซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจไม่มากนัก
  3. New Fighting Strategies
    การกำหนดกลยุทธ์เพื่อสร้างความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์ และยกระดับในการแข่งขัน รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้บริโภคเห็นความคุ้มค่าในการเปลี่ยนเครื่องใหม่ เช่น นำเสนอประสิทธิภาพที่เหนือระดับโดยคัดสรรเทคโนโลยีที่โดดเด่นทั้ง ภาพ เสียง หน้าจอ และคุณสมบัติอื่นๆ ที่มีคุณภาพสูงในราคาคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งเป็นผู้นำในการเสนอฟังก์ชันที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ นอกจากนี้ยังสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าด้วยมาตรฐานบริการ สะดวก รวดเร็ว มั่นใจในอะไหล่แท้ ผ่านศูนย์บริการที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วภูมิภาค

สำหรับธุรกิจคอนเทนต์จะเติบโตอย่างต่อเนื่องและจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อมีการใช้บริการระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง (Wireless broadband) อาทิ 3G และ CDMA 1xEV-DO ซึ่งกลุ่มสามารถเป็นผู้มีความพร้อมในการให้บริการด้วยรูปแบบคอนเทนต์ที่หลากหลายเช่น บริการด้านโหราศาสตร์ (Horo), ทางด้านกีฬา ,ข้อมูลกินดื่มเที่ยว และอื่นๆ  โดยในปี 52 คาดว่าจะมีรายได้ 930 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 15%

‘สายธุรกิจโมบาย มัลติมีเดีย ตั้งเป้ารายได้รวม 12,500 ล้านบาท ด้วยยอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ 5 ล้านเครื่อง โดยแบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 2.7 ล้านเครื่องและต่างประเทศ 2.3 ล้านเครื่อง โดยในปี 52 จะมีการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือใหม่กว่า 30 รุ่น มากกว่าปี 51 เท่าตัว’ 

สายธุรกิจ Technology Related ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 2,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นธุรกิจภายในประเทศ 1,400 ล้านบาท จากบริษัท วันทูวันคอนแทคส์ , บริษัท สามารถวิศวกรรมและบริษัท สุวรรณภูมิ เอ็นไวรอนเม้นท์ แคร์ ส่วนธุรกิจในต่างประเทศตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 1,100 ล้านบาท  จากธุรกิจของบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิก เซอร์วิสเซส จำกัด และบริษัท Kampot Power Plant 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนของรายได้ของกลุ่มสามารถในปี 52 จะเห็นว่ามาจากสายโมบาย มัลติมีเดีย 55% สายไอซีที โซลูชัน 35% และสาย Technology Related 10%โดยสายไอซีทีมีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน จากเดิมที่เคยสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มสามารถ 20% นับเป็นสัญญาณบวกต่อภาพรวมการดำเนินงานของกลุ่มสามารถ เพราะเป็นสายธุรกิจที่ให้ผลกำไรสูงและมีโอกาสในการต่อยอด เพื่อสร้างรายได้ประจำอีกด้วย

Source: ASTV ผู้จัดการออนไลน์


  •  
  •  
  •  
  •  
  •