ในวันที่เราเห็นการใช้งานสมาร์ทโฟนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือก็สูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้เกิดการแข่งขันในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และไม่ใช่แค่แบรนด์ที่ผลิตและจำหน่ายมือถือ เพราะยังรวมถึงผู้ให้บริการเครือข่าย (โอเปอเรเตอร์) แต่สิ่งที่หลายฝ่ายยังสงสัยก็คือเรื่องการประมูลและจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ รวมถึงความคาดหวังในการจัดประมูลคลื่นความถี่ในปี 2561
โดยวันนี้ เนชั่นทีวี ได้เปิดเวทีเสวนา “จับตาประมูลคลื่นความถี่ไทยจะเป็นอย่างไร? ปีหน้า” เพื่อวิเคราะห์ถึงโอกาสและความเสี่ยงในการจัดสรรประมูลคลื่นความถี่ 900/1800 MHz (เมกะเฮิรตซ์) ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นักวิชาการ และนักวิเคราะห์ภาคเอกชน
ปี ’61 มีประมูลแน่ 2 คลื่น ชี้ราคาประมูลสูง = ผลักภาระให้ผู้บริโภค
นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม แสดงความเห็นบนเวทีเสวนาดังกล่าว โดยระบุว่า คลื่นความถี่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่ไม่อยากให้ทุกฝ่ายมองว่าการประมูลคลื่นความถี่ ทั้ง 900MHz และ 1800MHz ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 ด้วยราคาเริ่มต้นมากกว่า 37,000 ล้านบาทเป็นสิ่งที่เหมาะสม เพราะตัวเลขดังกล่าวถือเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งท้ายที่สุดจะถูกผลักภาระมายังผู้บริโภคที่ใช้บริการ แม้จะมีเงื่อนไขราคาค่าบริการขั้นต่ำควบคุมอยู่แล้วก็ตาม
“กสทช. ยังต้องมีเงื่อนไขควบคุมค่าบริการอยู่แล้ว เครื่องมือที่ใช้อยู่ตอนนี้คือการออกเงื่อนไขค่าบริการขั้นต่ำ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมคือการแข่งขัน ไม่ใช่การควบคุมราคา เพราะเมื่อมีผู้แข่งขันในระบบครบ 4 ราย เชื่อว่าจะสามารถทำให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดย กสทช. ไม่ต้องตั้งเงื่อนไขดังกล่าว แต่ในความเป็นจริง เมื่อเกิดการประมูลคลื่นความถี่หรือแม้แต่การพัฒนาเทคโนโลยีในยุคเปลี่ยนผ่าน จึงกลายเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งสิ้น ดังนั้น การมีเงื่อนไขควบคุมค่าบริการให้ถูกลงจึงกลายเป็นความขัดแย้งซึ่งสุดท้ายก็จะตกอยู่กับผู้บริโภคนั่นเอง”
ส่วนบทบาทของ กสทช. นั้น ตนมองว่าการทำหน้าที่ถ่วงดุลถือเป็นเรื่องดี แต่ไม่ควรอยู่ในบทบาทตัวควบคุม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการสรรหากรรมการ กสทช. ชุดใหม่ จะทันกำหนดเวลาที่วางไว้ในเดือนพฤษภาคม 2561 อย่างแน่นอน
กระตุ้นให้เกิดประมูล รอสิ้นสุดระบบสัมปทานของจริง ปี ’68
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวบนเวทีสัมมนาดังกล่าวว่า แบนด์วิธ คือ ส่วนสำคัญต่อการให้บริการ เงื่อนไขการกำหนดคลื่นความถี่ชุดละ 15MHz ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้งาน ซึ่งควรจะไม่ต่ำกว่า 20MHz จึงเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง จึงควรกำหนดชุดคลื่นความถี่ใหม่เป็นจำนวนดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ ส่วนประเด็นการสิ้นสุดยุคระบบสัมปทานนั้นต้องรอปี 2568 ซึ่งจะเป็นปีที่เอกชนจะหมดสิทธิ์ใช้คลื่นความถี่ระบบสัมปทานอย่างแท้จริง
“ในปี 2568 จึงจะเป็นปีที่ระบบสัมปทานจะหมดไปอย่างแท้จริง ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าจะมีการนำคลื่นความถี่ใดมาจัดสรรประมูลบ้าง แต่การประมูลนั้นถือเป็นการดีกับทุกฝ่าย ทั้งเอกชน นักลงทุน ภาครัฐ หรือแม้แต่ Regulator เอง แต่เนื่องจากระบบไม่สามารถวางเงื่อนไขหรือแผนการประมูลล่วงหน้าได้ในระยะเวลานานขนาดนั้น ทำให้หากทำได้จริงจะสร้างโอกาส เกิดผลดีต่อทุกฝ่ายในการวางแผนดำเนินการและธุรกิจ”
นอกจากนี้ กสทช. ยังมีหน้าที่สำคัญ คือ การคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ใช้ค่าบริการราคาถูก แม้ว่าโครงสร้างค่าบริการในปัจจุบันจะเปลี่ยนจากอดีตที่คิดอัตราค่าใช้เป็นนาที สู่รูปแบบการคิดเหมาจ่ายทำให้ค่าใช้บริการเสียงต่ำมากก็ตาม แต่ค่าใช้จ่ายรายเดือนในปัจจุบันยังคงอยู่ในอัตราสูงเนื่องจากผู้บริโภคใช้งานดาต้ามากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็นำเสนอบริการรูปแบบอื่นเพิ่มเติมทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้งานบริการเสริมมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าหากมีผู้ให้บริการรายใหม่เกิดขึ้นในตลาดก็จะทำให้เกิดการแข่งขันแบบเสรีอย่างแท้จริงและทำให้ค่าบริการลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการรายใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ให้บริการระดับประเทศ แต่อาจเป็นรายเล็กที่ให้บริการในบางพื้นที่ในรูปแบบ MVNO (ผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน) เพื่อมีตัวเลือกหลากหลายในการให้บริการและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงใจ
ไทยประมูลคลื่นแพง เหมือนไล่นักลงทุนทางอ้อม!
นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่เมื่อปี 2558 ซึ่งมีราคารวมมากกว่า 80,000 ล้านบาทนั้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจต่อการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากกังวลเรื่องความไม่โปร่งใสและพิจารณาประเทศอื่นเป็นตัวเลือกในการลงทุนทางเทคโนโลยีมากกว่าประเทศไทย แม้ว่าคนไทยจะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ภาพรวมถือว่าตลาดยังขาดความแน่นอน
“การประมูลไม่ได้สร้างความแน่นอนให้ตลาด โอกาสที่ไทยจะมีโอเปอเรเตอร์รายใหม่นั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากตลาดเข้าสู่ยุค 4G มานานแล้ว หากมีรายใหม่เกิดขึ้นจริงก็ต้องใช้เวลาสร้างโครงข่าย ซึ่งใช้เวลานาน ดังนั้น หากการประมูลครั้งนี้ dtac ไม่ได้คลื่นความถี่ก็เปรียบเหมือนปิดโอกาสตัวเอง และทำให้รายใหญ่อีก 2 รายไล่บี้ให้ dtac หายไปจากตลาด”
อยากเห็นผู้แข่งขันรายใหม่ เติมเต็มการแข่งขันให้สมบูรณ์
นางนิตยา สุนทรสิริพงศ์ นักวิชาการด้านโทรคมนาคม ได้แสดงความเห็นบนเวทีดังกล่าวว่า กสทช. คือ Regulator ต้องทำหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งเปรียบเสมือนมีดาบในมืออยู่แล้วและต้องใช้เพื่อกำกับทั้งด้านราคาและเงื่อนไขต่างๆ ส่วนการแข่งขันด้านราคานั้น เชื่อว่าหากมีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ อาจเป็นรายเล็กๆ ที่ให้บริการแบบ MVNO ก็สามารถทำให้เกิดการแข่งขันได้ เนื่องจากการประมูลคลื่นความถี่ใหม่มีต้นทุนสูงและต้องใช้เวลาในการดำเนินการพร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยี แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดโทรคมนาคมในไทยควรมีผู้ให้บริการมากกว่า 3 ราย เพื่อสร้างการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ในตลาด.