เจาะแนวคิดของ โมเดลธุรกิจ ‘Social Enterprise’ ทำอย่างไร ถึงจะประสบผลสำเร็จแบบยั่งยืน

  • 6K
  •  
  •  
  •  
  •  

Singha-F

คุณเคยรู้จักคำว่า “Social Enterprise” มาก่อนมั้ยเอ่ย? อันที่จริง “Social Enterprise” ถูกพูดถึงในบ้านเรามาได้สักพักใหญ่แล้ว มันคือแนวคิดที่มีต้นกำเนิดจากสหราชอาณาจักร (UK) ถูกเรียกเป็นคำไทยว่า ‘วิสาหกิจเพื่อสังคม’ อาจจะฟังดูทางการ แต่พูดให้เข้าใจง่ายๆคือ ‘การที่องค์กรภาคธุรกิจหันมาใส่ใจและแก้ปัญหาสังคมด้วยแนวทางที่ยั่งยืน’

แล้วมันต่างกับ CSR อย่างไรบ้าง? CSR (Corporate Social Responsibility) คือ การที่องค์กรภาคธุรกิจหันมาใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม เสมือนการคืนกำไร ด้วยการปันทรัพยากรบางส่วนจากองค์กร ไปพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่ง Social Enterprise กับ CSR มีความแตกต่างกันพอสมควร เพราะ ‘Social Enterprise’ จะเอาปัญหาหลักของสังคมมาตั้งเป็นโจทย์ แล้วกำหนดแนวทางมาแก้โจทย์นั้น โดยมีเป้าหมายว่าต้องเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาของสังคมได้อย่างยั่งยืน หากวันใดที่ไม่มีการเกื้อหนุนจากภาคธุรกิจแล้ว สังคมนั้นต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง

Singha-2

Marketing Oops! มีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้บุกเบิก ‘Social Enterprise’ ในเมืองไทย “รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ – อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม้ฟ้าหลวง” โดย รศ.ดร.วันชัย ได้ริเริ่มโมเดลต้นแบบ ‘Social Enterprise’ อยู่ที่ SINGHA PARK จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าเป็นวงกว้างแก่ผู้คนในจังหวัด

 

Social Enterprise ในบ้านเรามีความเป็นมาอย่างไร

รศ.ดร.วันชัย: บริษัทที่ทำธุรกิจจนมั่นคงและมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านและมีความสนใจที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริงด้วยโมเดลของ ‘Social Enterprise’ ได้ โดยเริ่มจากการมองให้ลึกว่าอะไรคือปัญหาหลักของสังคมที่เราจะเข้าไปพัฒนา ตั้งเป็นโจทย์ขึ้นมาแล้วพัฒนาแนวคิดและแผนธุรกิจให้สอดรับกับปัญหานั้น ส่วนผลกำไรที่ได้จากธุรกิจ ‘Social Enterprise’ ก็ปันไปสู่สังคมในรูปแบบของการสร้างระบบที่จะพัฒนาต่อได้ในระยะยาวและเมื่อมีเหลือมากพอก็สามารถกำหนดให้ปันผลคืนบริษัทแม่ที่ลงทุนได้

 

นั่นหมายถึงต้องเป็นธุรกิจที่ทำแล้วมีกำไร SE ต้องอยู่ได้ก่อน มิใช่ให้บริษัทแม่ต้องอุ้มชูตลอดไปสังคมจึงจะพัฒนาต่อได้ กำไรที่กลับคืนสู่สังคมอาจไม่ได้อยู่ในรูปของเม็ดเงิน แต่คือระบบที่ก่อให้เกิดชุมชนวิชาชีพ คนในพื้นที่ต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ ทั้งหมดคือการพัฒนาที่ใฝ่หาความยั่งยืน เพราะบริษัทแม่ที่เข้าไปช่วยเหลือไม่สามารถอุ้มชูชุมชนไปได้ตลอด

 

แม้เราจะบอกว่าสหราชอาณาจักรเป็นผู้ริเริ่ม ‘Social Enterprise’ แต่เรารับมาแล้วก็ต้องมาปรับ ยกมาใช้เลยแบบเขาไม่ได้ ต้องมาปรับให้เหมาะกับรูปแบบสังคมและความเป็นอยู่ของคนบ้านเรา ซึ่งโดยหลักการของมันจะต้อง ‘win-win-win’ คือวินกันทั้ง บริษัทผู้ให้ ชุมชน และสังคม

 

Singha-3

ทำไมองค์กรต่างๆ จึงเริ่มหันมาสนใจโมเดลธุรกิจ Social Enterprise

รศ.ดร.วันชัย: จริงๆ แล้วการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบที่เคยมีมาอย่าง CSR มันก็เป็นเรื่องที่ดีและมีคุณค่า แต่มันยังคงเป็นเรื่องเฉพาะกิจเฉพาะคราว จะทำเป็นแผนระยะยาวก็ทำได้อยู่ แต่มันไม่ยั่งยืน ส่วนแนวคิดของ ‘Social Enterprise’ เนี่ย มันเป็นแนวคิดที่น่าจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้มากกว่าในแง่ของการพัฒนาชุมชน เพราะมันเป็นการทำให้เกิดธุรกิจโดยชุมชนเป็นผู้มีส่วนร่วมกับบริษัท เกิดเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และขยายคุณค่าไปสู่สังคม การสร้างระบบแบบนี้ขึ้นมาจะยั่งยืนมากกว่า โมเดลนี้จึงเป็นโมเดลที่สามารถตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้ในแง่ของการช่วยเหลือสังคมได้อย่างยั่งยืน

 

อะไรคือหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ Social Enterprise เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ

รศ.ดร.วันชัย: หลักการของ ‘Social Enterprise’ ที่ SINGHA PARK ใช้เป็นโมเดลต้นแบบนั้นมาจากหลัก “PPPS” หรือ People, Planet, Profit และ Sustainability คือเริ่มจาก People คนคือส่วนสำคัญ จะเป็นผู้ด้อยโอกาสหรือคนในบริษัทก็ตามแต่ ส่วน Planet คือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีของโลก ตามมาด้วย Profit คือทำแล้วมันควรจะมีกำไร เพื่อให้อยู่ได้ทั้งตัวบริษัทเองและชุมชนที่เข้าไปช่วยเหลือ และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ Sustainability คือความยั่งยืน แต่การเริ่มต้นทั้งหมดมันควรจะเริ่มด้วยจิตใจเป็นกุศลที่พร้อมจะแบ่งปัน

 

SINGHA PARK กับโมเดล Social Enterprise มีจุดเริ่มต้นและดำเนินการไปได้อย่างไร

รศ.ดร.วันชัย: เริ่มจาก SINGHA PARK เนี่ย…เขามีที่ดินอยู่ประมาณ 8,000 กว่าไร่ที่จังหวัดเชียงราย ทีนี้ด้วยความที่ SINGHA เป็นบริษัทที่มั่นคงแล้ว เขาเลยคิดว่าอยากจะทำอะไรตอบแทนสังคมบ้าง แล้วมองกลับมาที่เชียงรายเอง ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘Social Enterprise’ ที่ดี เพราะเชียงรายนั้นเป็นเมืองที่ยังมีคนด้อยโอกาสและต้องการพัฒนาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่บริเวณรอบๆไร่บุญรอด (SINGHA PARK) ก็เลยคิดว่าเราอยากจะตั้งองค์กรขึ้นมาสักองค์กรนึง แล้วดึงชาวบ้านรอบๆเข้ามาร่วมด้วย ก็เลยจัดเป็นธุรกิจต่างๆขึ้นมาก่อนสามสี่อย่าง เช่น ธุรกิจไร่ชา ธุรกิจสวนผลไม้ ธุรกิจร้านอาหาร แล้วก็ดึงชาวบ้านโดยรอบเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจนี้ด้วย ส่วนใหญ่เป็นชาวเขา

Singha-4

การเข้ามามีส่วนร่วมเนี่ย… เริ่มแรกที่พวกเขาเข้ามาเราก็ยังไม่แน่ใจ ก็คิดว่าเข้ามาเป็นคนงาน สร้างอาชีพให้พวกเขาก่อน เมื่อสร้างอาชีพแล้ว งานต่อไปคือสอนอาชีพให้เขามีวิชาชีพติดตัว เพราะถึงแม้เขาไม่ได้ทำกับเราแล้วเขาก็ไปทำอย่างอื่นเองได้ เราพยายามเกื้อหนุนสังคมที่อยู่โดยรอบให้มีความเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นการตั้งต้นทำธุรกิจเนี่ยต้องมาจากความต้องการช่วยเหลือสังคมอย่างจริงจัง ไม่ได้เอาการมุ่งหวังกำไรเป็นตัวตั้ง แต่ก็ไม่ควรจะทำแล้วขาดทุน ถ้าเราขาดทุน ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ การช่วยเหลือชุมชนก็จะไปต่อไม่ได้

 

SINGHA PARK พยายามรัน ‘Social Enterprise’ โดยใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการบริษัท มาปรับใช้กับการบริหารวิสาหกิจเพื่อสังคม ในที่สุด SINGHA PARK ก็เจริญเติบโตขึ้น เริ่มมีรายได้เข้ามา ชาวบ้านที่เข้ามาร่วมก็เริ่มมีฐานะดีขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ผลพลอยได้ที่ตามมา แล้วทำให้จังหวัดเชียงรายเติบโตไปในทางที่ดี คือ เราทำให้ SINGHA PARK เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดด้วย เพราะเชียงรายมีจุดอ่อนอย่างนึงคือมีแหล่งท่องเที่ยวน้อย แหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิมเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนไม่ค่อยจะไปซ้ำ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้เกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นการทำเพื่อสังคม

 

 

เพื่อสังคมยังไง… พอมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่เกิดขึ้นเนี่ย คนก็เริ่มเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงรายกันมากขึ้น คนที่เข้ามาเที่ยวเขาก็ต้องใช้เงิน ที่พัก อาหาร คมนาคม ความบันเทิง เงินก็หลั่งใหลเข้ามาหมุนเวียนในจังหวัด ในที่สุดธุรกิจ ‘Social Enterprise’ ของ SINGHA PARK ก็เริ่มเติบโตขึ้น และเริ่มบรรลุเป้าหมายของการเป็น ‘Social Enterprise’ อย่างเต็มที่ ก็คือประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น สังคมดีขึ้น บริษัทก็เริ่มที่จะดูแลตัวเองได้ และสุดท้ายมันเริ่มที่จะก้าวไปสู่ตัว S คือความยั่งยืน มันเป็นสเต็ปๆของมันอย่างต่อเนื่อง

Singha-1

อุปสรรคสำคัญของ ‘Social Enterprise’ คืออะไร

รศ.ดร.วันชัย: อย่างแรกเลยคือเงินทุน บริษัทที่จะทำ ‘Social Enterprise’ ต้องมีเงินลงทุนก้อนนึงก่อน ต้องวางแผนการลงทุนและดำเนินงานอย่างรอบคอบ เพราะถ้ารันไม่ดีมันก็เสี่ยงต่อการขาดทุน ถ้าบริษัทขาดทุนต่อเนื่องนานๆ การช่วยเหลือสังคมก็เป็นไปได้ยาก

อย่างที่สองคือ ต้องทำความเข้าใจกับคนในบริษัทให้ได้ก่อนด้วย ต้องเห็นพ้องต้องกันก่อนว่าเราจะทำเรื่องนี้ จากนั้นจึงตั้งวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าเราจะทำเพื่อสังคม อย่าไปมุ่งหวังกำไรตั้งแต่ตอนแรก ต้องเอาผลประโยชน์ของสังคมเป็นตัวตั้ง

อย่างที่สามคือ ชุมชนต้องให้ความร่วมมือ ถ้าชุมชนไม่ร่วมมือ ไม่สนใจ เราก็ทำไม่ได้ ในข้อนี้เองที่เราต้องคิดหาธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ เราจะเอาธุรกิจแบบไหนไปช่วยเหลือเขา โดยที่พวกเขาเห็นพ้องด้วย และไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมบ้านเกิดเขาเสียหาย

 

และโดยหลักการเราไม่ควรทำธุรกิจอย่างเดียว หมายถึงเราควรจะมีหลายธุรกิจย่อยๆอยู่ในระบบ SINGHA PARK ทำไร่ชา สวนผลไม้ ร้านอาหาร และกำลังพัฒนาธุรกิจย่อยสาขาอื่นให้คนในชุมชนได้เข้าไปดูแล การทำหลายอย่างจะลดความเสี่ยง เพราะถ้าทำอย่างเดียวแล้วขาดทุนมันก็หมด แต่ถ้าทำอย่างนึงขาดทุน อีกสองอย่างได้กำไร มันก็ยังเอากำไรมาถัวกันได้

 

‘Social Enterprise’ สร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมแก่ SINGHA PARK อย่างไรบ้าง

รศ.ดร.วันชัย: เห็นได้ชัดสุดคือ ชาวบ้านมีอาชีพ และเป็นรูปแบบอาชีพที่มีความยั่งยืน และพวกเขาเริ่มที่จะเรียนรู้การฝึกอาชีพที่เขาสามารถจะไปทำเองได้ ส่วนภาพใหญ่คือ สังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของเชียงรายเติบโตขึ้น เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวใหญ่เพิ่มขึ้นมา SINGHA PARK นั้นเป็นเหมือนแลนมาร์คของเชียงราย เพราะใครๆที่มาเชียงรายก็จะมา SINGHA PARK เป็นการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่เป็น mam-maid ซึ่งที่เรามีอยู่แล้วก็จะเป็นโบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม พอเรา SINGHA PARK เพิ่มเข้ามามันก็หลากหลายยิ่งขึ้น

Singha-5

ธุรกิจแบบไหนที่เหมาะจะนำโมเดล ‘Social Enterprise’ ไปใช้เฉกเช่น SINGHA PARK

รศ.ดร.วันชัย: ได้ทุกธุรกิจ แต่ส่วนใหญ่ ‘Social Enterprise’ มักจะดีลกับคนด้อยโอกาส ดีลกับคนยากจน กลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งและไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำเราต้องดูพื้นเพ ปัจจัยหลายๆอย่างที่เกี่ยวข้องว่าเราจะทำได้มั้ย กลุ่มที่ผมเล็งเห็นคือกลุ่มชาวเขาที่บุกรุกพื้นที่ป่า ถ้าธุรกิจไหนสามารถพาพวกคนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นสมาชิกของ โซ ได้ และส่งเสริมให้เขามีอาชีพ มีตลาดรองรับสินค้าที่พวกเขาผลิตได้โดยให้เขามีรายได้ไม่น้อยกว่าที่เขาบุกรุกทำลายป่า ซึ่งโดยความจริงๆแล้วกลุ่มคนพวกนี้เขาไม่อยากทำลายป่ากันหรอก แต่เขาไม่ได้มีทางเลือกมากมาย เขาต้องหาหนทางเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด ผมจึงคิดว่าถ้ามี ‘Social Enterprise’ ที่เข้าไปช่วยโอบอุ้มดูแล พวกเขาก็น่าจะละทิ้งพฤติกรรมตัดไม้ทำลายป่าได้

 

เอาเสื้อผ้าไปให้ เอาอาหารไปให้ เอาสิ่งของไปให้มันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น ช่วยให้เขามีอาชีพ ให้เขาได้มาเป็นส่วนหนึ่งในระบบอาชีพที่เราสร้างขึ้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า ยั่งยืนกว่า แล้วเราก็ไม่ได้มองว่าเขาเป็นลูกจ้าง ตัวเขาเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นลูกจ้างแต่เขาใช้คำว่าเรา We…We are SINGHA PARK
เมื่อเรามั่นคงแล้ว เราร่ำรวยแล้ว เราน่าจะทำอะไรให้สังคมมีความสุขมากขึ้น ต้องเป็นความสุขที่ยั่งยืน ไม่ได้เอาของไปแจก ต้องให้เค้าสามารถเลี้ยงตัวเองได้ พึ่งพาตัวเองได้ เราไม่สามารถมีคฤหาสถ์อยู่อย่างมีความสุขได้ ถ้าเราเหลือกินเหลือใช้แล้วเราควรแบ่งปัน แบ่งปันในรูปแบบที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้วันหนึ่งผู้รับสามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเอง


  • 6K
  •  
  •  
  •  
  •