พลิกโฉมแหนมตุ้มจิ๋วแบบเดิมๆ สู่งาน Redesign แพ็กเกจฉีกง่าย-ไร้หนังยาง แก้ปัญหาแกะยาก-ลุคเชย

  • 2.3K
  •  
  •  
  •  
  •  

Redesign-Sour-Pork- Sausage-Package

“แหนมตุ้มจิ๋ว” อาหารแปรรูปท้องถิ่นของเมืองไทยที่คนไทยคุ้นเคย และหลายคนชื่นชอบ บรรจุอยู่ในแพ็กเกจพลาสติกห่อเล็กๆ ขนาดพอดีคำ ตรงปากถุงมัดด้วยหนังยางรัด

แต่กว่าจะได้ลิ้มรสความอร่อย ก็แทบจะใช้ทุกกระบวนท่าในการแกะ “หนังยางรัด” บางคนใช้มือค่อยๆ แกะหนังยาง และหลายคนตัดปัญหา ยุ่งยากนัก พึ่งอุปกรณ์ช่วยซะเลย ไม่ว่าจะเป็นมีด หรือกรรไกรตัด

จากนั้นก็บีบเข้าปาก แต่บางครั้งกลับรู้สึกมีรสชาติขมนิดๆ ซึ่งความขมที่ว่านี้ ไม่ใช่รสชาติของแหนม แต่เกิดขึ้น จากหนังยางสัมผัสกับถุงพลาสติก และเวลารับประทานริมฝีปากสัมผัสกับปากถุงพลาสติกอีกที

และอีกหนึ่งปัญหาค้างคาใจผู้บริโภคมาโดยตลอด คือ กังวลอันตรายที่เกิดขึ้นจากการรับประทาน “แหนมดิบ” ทำให้หลายคนตัดสินใจไม่ซื้อดีกว่า หรือต้องเอามาปรุงให้สุกก่อน ไม่ว่าจะต้ม ทอด หรือถ้าเข้าไมโครเวฟ ก็เตรียมตัวรับมือกับกลิ่น ทั้งติดอยู่ในเครื่อง และโชยออกมารบกวนคนรอบข้าง!

จาก Pain Point ผู้บริโภค ทั้งความกังวลของการรับประทาน “แหนมดิบ” และด้านแพ็กเกจจิ้งของ “แหนมตุ้มจิ๋ว” แบบเดิมๆ ที่ใช้หนังยางรัด ทำให้ภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์แหนมดูไม่ทันสมัย สิ่งเหล่านี้เป็นทั้ง Pain Point ของผู้บริโภคมายาวนาน และยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อผู้ประกอบการธุรกิจแหนม

เมื่อเป็นเช่นนี้ หนึ่งในผู้ผลิตแหนมมากว่า 40 ปี “บริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด” เจ้าของแบรนด์ “แหนมดอนเมือง กม.26” ซึ่งถือเป็นต้นตำรับแหนมดอนเมือง และ “แหนมสุทธิลักษณ์” จึงได้หาหนทางแก้สองโจทย์ใหญ่

Sour Pork Sausage
Photo Credit : Facebook แหนมสุทธิลักษณ์

 

Redesign บรรจุภัณฑ์ “Easy Peel” นวัตกรรมที่เกิดจากการฟัง “ปัญหาลูกค้า”

Packaging Design ที่ดี ไม่ได้มีหน้าที่แค่เพียงห่อหุ้มสิ่งของที่อยู่ข้างในให้ปลอดภัย และทำให้ผลิตภัณฑ์ดูสวยงาม น่าซื้อ น่าใช้เท่านั้น แต่อีกความสำคัญหนึ่งที่แบรนด์ควรตระหนักคือ บรรจุภัณฑ์นั้นๆ สามารถแก้ปัญหา หรือ Pain Point ผู้บริโภคจากประสบการณ์การใช้งานที่เขาเคยประสบมาก่อนหรือไม่

ดังนั้น Packaging Design ที่ดีต้องตอบโจทย์ 3 ด้าน

  • ทำหน้าที่ห่อหุ้มสิ่งของให้ปลอดภัย

  • เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สร้างความสะดวกให้กับผู้บริโภค

  • ดีไซน์สวยงาม เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ และดึงดูดสายตาผู้บริโภค ท่ามกลางสินค้าที่มีให้เลือกมากมาย

ด้วยเหตุนี้เอง จากปัญหาของการบริโภค “แหนมตุ้มจิ๋ว” ที่ผ่านมา นำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใหม่ของ “แหนมสุทธิลักษณ์” โดยใช้เวลา 4 ปีเต็ม! ในการค้นคว้า ทดลองแล้วทดลองอีก กระทั่งได้ออกมาเป็นแพ็กเกจจิ้ง “Easy Peel” ที่ไม่ต้องพึ่ง “หนังยาง” อีกต่อไป

เบื้องหลังจุดประกายความคิดลุกขึ้นมาปรับโฉมแพ็กเกจจิ้งครั้งใหญ่ในรอบกว่า 40 ปีที่แหนมสุทธิลักษณ์เปิดดำเนินธุรกิจมา คือ “จดหมายฉบับหนึ่งจากลูกค้า” ส่งเข้ามาที่บริษัทฯ และผู้บริหารได้รับรู้เรื่องราวปัญหาดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนาแพ็กเกจจิ้งใหม่ล่าสุดนี้

Redesign-Sour-Pork- Sausage-Package
แหนมตุ้มจิ๋วสุทธิลักษณ์โฉมใหม่ มาพร้อมกับแพ็กเกจ Easy Peel

“จากแหนมตุ้มจิ๋วแบบดั้งเดิมที่อยู่คู่มากับ “หนังยาง” หรือที่เราเรียกกันติดหู ว่า “ยางรัดแกง” วัสดุจากยางพาราที่ใช้เวลาในการย่อยสลายหลายสิบปี ซึ่ง “หนังยาง” ที่ใช้รัดแหนมตุ้มจิ๋วแบบดั้งเดิมนั้น เป็นส่วนสำคัญที่อาจทำให้แหนมมีรสชาติขม

เพราะหนังยางไปสัมผัสกับถุงพลาสติกและสัมผัสริมฝีปากเวลารับประทาน จนลูกค้าเขียนร้องเรียนเข้ามา ประกอบกับเราพบข้อมูลที่น่าสนใจจากการทำ Consumer Insight พบว่าลูกค้ากลุ่มนักเรียน นักศึกษา ไม่นิยมรับประทานแหนมตุ้มจิ๋ว เนื่องจากกังวลเรื่องภาพลักษณ์ที่ดูไม่แพง ไม่ทันสมัย

ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แหนมตุ้มจิ๋วให้ตอบโจทย์ ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ที่มีความต้องการที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องภาพลักษณ์ และแก้ไขปัญหาในเรื่องรสชาติขมที่ลูกค้าบางส่วนมีความเชื่อว่าเป็นรสชาติที่ปนเปื้อนมาจากหนังยางที่รัดจุกแหนมตุ้มจิ๋วเอง

กว่า 4 ปี กับการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า จากการทุ่มเทค้นคว้าวิจัยรูปแบบแพ็กเกจจิ้งจากทั่วโลก ในที่สุดเราก็สามารถพัฒนาแพ็กเกจที่ขนาดพอดีกับแหนมตุ้มจิ๋ว แกะง่าย ไม่เปื้อนมือ และดูทันสมัยตอบโจทย์ Pain Point ในเรื่องภาพลักษณ์ของสินค้า และการปนเปื้อนที่อาจทำให้แหนมเสียรสชาติได้อย่างครบถ้วน

รวมถึงช่วยลดปริมาณขยะจากหนังยาง และถุงพลาสติกที่เหลือจากการตัดมุม ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก ช่วยลดขยะที่ไม่จำเป็น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เราทำงานอย่างหนัก เพื่อคัดเลือกและค้นหาเครื่องจักร และ Know How ต่างๆ ที่สามารถพัฒนาแพ็กเกจแหนมตุ้มจิ๋วใหม่ เพื่อให้แหนมตุ้มจิ๋วอาหารพื้นบ้านแบบไทยๆ ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น สามารถส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้รับประทานต่อไป

ไทยอินโนฟู้ด เรามีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมอาหารแปรรูปที่ดีที่สุดในประเทศไทย เพื่อส่งต่ออาหารแปรรูปที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคต่อไป” คุณภาคภูมิ หอมสุวรรณ CEO บริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด เล่าที่มาของนวัตกรรมแพ็กเกจจิ้งใหม่

Redesign-Sour-Pork- Sausage-Package

 

“แหนมฉายรังสีแกมมา” สร้างความมั่นใจกินแหนมไร้กังวล

จากที่มีข่าวการรับประทานแหนมดิบที่ก่อให้เกิดโรคหูดับหรือโรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคจนถึงขั้นเสียชีวิต ทำให้คนไม่กล้ารับประทานแหนมดิบ แต่ปัจจุบันมีนวัตกรรม “แหนมฉายรังสี” ที่สามารถรับประทานสดๆ ได้เมื่อนำมาผ่านกระบวนการฉายรังสีแล้ว

แหนม “สุทธิลักษณ์” ได้นำนวัตกรรม “การฉายรังสีแกมมา” มาใช้ จากความร่วมมือกับศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับคนยุคใหม่ ที่ต้องการบริโภคแหนมไปพร้อมๆ กับความมั่นใจในด้านความสะอาดและปลอดภัย

“รังสีแกมมา” เป็นรังสีประเภทหนึ่งที่ได้จากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสี มีลักษณะเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์ และพยาธิที่อยู่ในอาหารได้โดยไม่ก่อให้เกิดสารกัมมันตรังสีในวัตถุที่มันวิ่งผ่านไป ทำให้นอกจากจะสามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคและพยาธิได้แล้ว ยังไม่ทำให้รสชาติของแหนมเปลี่ยนแปลงอีกด้วย

Redesign-Sour-Pork- Sausage-Package

ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า “Innovative Thinking” ไม่จำเป็นต้องเป็นนวัตกรรมที่คิดล้ำไปไกลยังโลกอนาคตเสมอไป หากแต่แบรนด์ ก็สามารถจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรม จากการสังเกตเรื่องราวที่เกิดขึ้นใกล้ตัว อย่างเรื่อง “Consumer Pain Point” เช่นในกรณีของแหนมสุทธิลักษณ์

แล้วนำมาคิดหาหนทางว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ “ประสบการณ์ของผู้บริโภค” ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อในที่สุดแล้ว จะสร้าง Win-Win Situation ได้ทั้งสองฝ่าย คือ “แบรนด์” มีนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้สร้างโอกาสการเติบโตใหม่ๆ เช่น ขยายฐานลูกค้าใหม่, ช่วยปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ทันสมัยขึ้น ในขณะที่ “ผู้บริโภค” ได้ประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่ทำให้การใช้ชีวิตสะดวกขึ้น – ง่ายขึ้น


  • 2.3K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ