การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2561 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 22,363 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 7.1% เมื่อรวมไตรมาสแรกขยายตัว 11.3% ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในทุกๆ ตลาดสำคัญ ทั้งอินเดีย อาเซียน CLMV และสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมี.ค. 2561 ซึ่งการส่งออกขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดอินเดีย อาเซียน CLMV และสหรัฐฯ ซึ่งมีการขยายตัวในระดับสูง สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13
สินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า แต่การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว และถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ที่ 3.3% สาเหตุหลักมาจากการหดตัวของยางพารา รวมทั้งน้ำตาลทราย ขณะที่สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป
คาดไตรมาส 2 ก็จะปรับตัวดีขึ้น
คุณพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกไทยในไตรมาสแรกของปี ขยายตัว 11.3% หรือคิดเป็นมูลค่า 62,829 ล้านดอลลาร์ สูงสุดในรอบ 7 ปี โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงได้แก่ อินเดีย เอเชียใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS
ส่วนแนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 15 ไตรมาส และดัชนีคาดการณ์ความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก ที่อยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
นอกจากนี้การส่งออกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในเกณฑ์ดี และมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐ และกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวได้ดี จากการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น จีน และหลายภูมิภาคในเอเชีย ขยายตัวได้ดีจากการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม
ส่วนการแข็งค่าของเงินบาท และมาตรการกีดกันทางการค้า ที่นอกจากจะกระทบต่อการส่งออก ไปยังตลาดที่เป็นคู่ขัดแย้งแล้ว ยังอาจส่งผลในวงกว้างไปยังตลาดอื่นๆ ที่เป็นตลาดรองรับการส่งออกสินค้าที่ถูกกีดกันในตลาดคู่ขัดแย้งอีกด้วย ดังนั้นผู้ส่งออกต้องเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยง กระจายสินค้าไปยังตลาดใหม่ ทำประกันความเสี่ยง เพื่อลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด