รู้จัก ‘Trinket’ โมเดลธุรกิจจาก ‘กระแสแฟนคลับ’ สู่การเพิ่มรายได้ให้ ‘ศิลปิน-ครีเอเตอร์’ ผ่าน ‘Merchandise’

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

 

‘วงการติ่ง’ คำหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน สะท้อนกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบ รัก และพร้อมสนับสนุนศิลปินของตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่การติดตามผลงาน หรือรับชมผ่านหน้าจออีกต่อไป แต่เป็น การลงทุนทางอารมณ์ ที่แฟนพร้อมลงแรง-ลงเงิน เพื่อแลกกับความรู้สึก “ได้อยู่เคียงข้าง” ไอดอลที่รัก ซึ่งความรักในรูปแบบนี้ได้เติบโตเป็นพลังทางเศรษฐกิจระดับโลกที่มีมูลค่าถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเติบโตขึ้นราว 10-20% ต่อปี ตามข้อมูลล่าสุดของ Goldman Sachs

 

จากยุคสื่อสารทางเดียว สู่ Creator Economy

 

ในอดีต เรามีสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ที่นำเสนอเฉพาะกลุ่มดารา นักร้อง นักแสดงเท่านั้นที่เราจะได้เห็นหน้าค่าตาผ่านจอทีวี แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล การเติบโตของโซเชียลมีเดียทำให้ ‘ทุกคน’ สามารถมีพื้นที่ของตัวเอง เราจึงเห็นกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์สายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักแคสต์เกม ยูทูบเบอร์ ติ๊กต่อกเกอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งพวกเขาอาจไม่ได้เป็นดาราเซเลบริตี้ดัง แต่กลับมีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นไม่ต่างกัน

แต่รายได้หลักของกลุ่มครีเอเตอร์เหล่านี้มักมาจากช่องทางเดียว เช่น นักแคสต์เกมมีรายได้จากแพลตฟอร์มหรือการโดเนทจากแฟนๆ ยูทูบเบอร์มีรายได้จากโฆษณาบน YouTube ซึ่งรายได้ช่องทางเดียวนั้น อาจทำให้พวกเขาพลาดโอกาสในการขยายศักยภาพในการสร้างรายได้ของตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย

ด้วยเหตุนี้เอง Merchandise (Merch) หรือสินค้าที่ระลึกจึงกลายเป็นช่องทางสำคัญในการขยายรายได้ให้กับศิลปิน-ครีเอเตอร์ เพราะมันไม่ใช่แค่สินค้าธรรมดาอีกต่อไป แต่เป็นการซื้อประสบการณ์และความผูกพัน ที่แฟนๆ พร้อมสนับสนุนด้วยความเต็มใจ

 

Trinket นิยามใหม่ของ Merch ที่ ‘ผลิตขึ้นเฉพาะบุคคล’

 

 

เมื่อเล็งเห็นช่องว่างนี้ Matthew G. Badalucco และ Fabian Martin สองผู้ร่วมก่อตั้งชาวอเมริกัน ซึ่งเคยมีประสบการณ์สูงในตลาด Venture Capital และ Tech Startups ในเอเชีย ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Trinket ขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อสองปีที่ผ่านมา เพื่อยกระดับวงการ Merch และ Fan Economy ให้เติบโตอย่างมีคุณค่ามากขึ้น ปัจจุบัน Trinket มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สหรัฐฯ โดยได้ซอฟต์ลอนช์แอปพลิเคชันในประเทศไทยเป็นที่แรกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และตั้งเป้ายอดดาวน์โหลดไว้ที่ 20,000–50,000 คนภายในปีนี้

หลังซอฟต์ลอนช์เพียงไม่กี่เดือน Trinket มีฐานสมาชิกแล้วกว่า 10,000 คน โดยสมาชิกกว่า 82% เป็นคนไทย และที่เหลือเป็นผู้ใช้งานจากสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ อีกเล็กน้อย สะท้อนถึงความสำเร็จและโอกาสในการขยายตลาดต่อไปในระดับสากล โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้

 

Trinket กับโมเดลธุรกิจ

 

Trinket โดดเด่นด้วยการสร้าง Hyper-Personalized Merch ทุกชิ้นจะมี QR Code เป็นใบรับรองดิจิทัลที่แสดงชื่อเจ้าของ วันที่ผลิต และรายละเอียดเฉพาะบุคคลอื่นๆ เพื่อทำให้แฟนคลับรู้สึกว่าเป็น “สินค้าชิ้นเดียวในโลกที่ผลิตเพื่อฉันคนเดียว” อีกทั้งยังสามารถแชร์ใบรับรองนี้บนโซเชียลมีเดียได้ทันที เพื่อแสดงความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของ

แพลตฟอร์ม Trinket มีจุดเด่นในเรื่องความ Exclusive เพราะสินค้าทุกชิ้นมีจำนวนจำกัดและเวลาจำกัดในการซื้อขาย (เช่น เปิดขายแค่ 1 นาที ถึงสูงสุด 2 ชั่วโมง) มีระบบกล่องสุ่ม (Clear Box, Blind Box, Mystery Box) เพื่อเพิ่มความตื่นเต้นและแรงจูงใจในการสะสม

ที่สำคัญ Trinket ยังมี Vintage Shop ซึ่งแฟนคลับสามารถซื้อขายสินค้าแบบ Auction กันเองภายในแอปพลิเคชัน ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนมือของสินค้า ศิลปินจะได้รับค่าลิขสิทธิ์ 5% จากราคาขายเสมอ นับเป็นโมเดลที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้ศิลปินได้แบบต่อเนื่อง

 

 

ทำไมเลือกเปิดตัวที่ไทย?

 

ประเทศไทยเป็นตลาด Merch ที่มีมูลค่ากว่า 3,500 ล้านบาท ในปี 2567 โดยมีอัตราการเติบโตถึง 30% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เช่น ช่องวัน 31 ซึ่งมีรายได้จาก Merch เพิ่มขึ้นจาก 280 ล้านบาท เป็น 440 ล้านบาทในเวลาเพียงหนึ่งปี สะท้อนศักยภาพตลาดที่เติบโตสูง

คนไทยและแฟนคลับชาวจีนต่างชื่นชอบ Merch ที่มีความเฉพาะตัว นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีขนาดตลาดที่เหมาะสม ไม่เล็กเกินไปจนไร้โอกาส แต่ก็ไม่ใหญ่เกินไปจนมีการแข่งขันที่สูงจนยากที่จะโดดเด่น Trinket จึงเลือกไทยเป็นตลาดนำร่องที่เหมาะสมที่สุด

 

กลยุทธ์การขยายศิลปิน โฟกัสที่ความหลากหลาย

 

 

Trinket เน้นเลือกศิลปินและครีเอเตอร์หลากหลายกลุ่ม ไม่จำกัดแค่ดาราเซเลบริตี้ระดับ A-list เท่านั้น แต่ยังรวมถึงศิลปินอิสระหรือไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่มีฐานแฟนคลับไม่ใหญ่มากแต่เหนียวแน่น โดยใช้โมเดลทดลอง เช่น นำสายสะพายจากเวทีมิสยูนิเวิร์สมาขาย หรือการขายรูปโพลารอยด์ของศิลปิน ซึ่งล้วนได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากแฟนๆ

ระบบของ Trinket ยังมีการจัดอันดับแฟนคลับตามยอดใช้จ่าย (Spender Ranking) เพื่อมอบสินค้าแบบ Exclusive ให้กับ Superfan หรือแฟนคลับกลุ่ม Top 10% เท่านั้น โดยระบบนี้ถูกออกแบบให้เห็นสินค้าได้ทุกคน แต่สามารถซื้อได้เฉพาะกลุ่มที่กำหนดไว้ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นและการแข่งขันในหมู่แฟนคลับด้วยกัน

 

อนาคตของ Trinket จากไทย สู่ระดับโลก

 

จากจุดเริ่มต้นที่ไทย Trinket มีแผนจะขยายไปในตลาดอินโดนีเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ต่อไป แม้จะมีคู่แข่งอย่าง Weverse แต่ Trinket เชื่อมั่นในจุดเด่นที่เหนือกว่าด้าน Personalization และ Exclusivity โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการ Merch ทั่วโลก

ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารที่เคยปั้นแอปพลิเคชันสู่ตลาดหลักทรัพย์มาแล้ว เช่น iflix และ iProperty ซึ่งบางตัวมีมูลค่าราวหมื่นล้านบาท Trinket จึงมีทั้งวิสัยทัศน์และความพร้อมในการนำ Fan Economy ไปสู่ระดับใหม่ และเป็นสะพานที่แข็งแรงให้ศิลปิน-แฟนคลับเดินหน้าเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง

 

Source: Goldman Sachs


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •