เบื้องหลังความสำเร็จของ “Forever 21” เกิดจากสองมือของอดีตเด็กปั๊ม ผู้อพยพชาวเอเชีย

  • 8
  •  
  •  
  •  
  •  

forever2

เชื่อว่าคนไทยหลายคนคงรู้จักแบรนด์เสื้อชื่อดังจากสหรัฐ อย่างForever 21 เป็นอย่างดี โดยนิตยสาร Forbes จัดอันดับให้แบรนด์เสื้อผ้ารายนี้ติดหนึ่งในบริษัททรงอิทธิพลของโลก พร้อมกับข้อมูลที่ระบุว่าเมื่อปี 2014 สามารถทำเงินได้สูงถึง 3.85 พันล้านเหรียญฯ แต่ทราบหรือไม่ว่าเจ้าของผู้ก่อตั้ง Forever 21คือ 2 ชาวเอเชียผู้อพยพจากเกาหลีใต้ เดินทางมาแบบที่ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรติดตัวนอกจากความหวัง ความฝันเท่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1981 Jin Sook และ Do Won (Don) Chang สองสามีภรรยาผู้อพยพย้ายถิ่นฐานจากเกาหลีใต้เดินทางมายังลอสแองเจลีส สหรัฐฯ ไขว่คว้าทุกโอกาสที่จะทำให้สามารถยืนหยัดได้บนแผ่นดินใหม่นี้ ไล่ตามความฝันที่ทุกคนโหยหา หรือที่เรียกว่า American Dream” นั่นเอง

แม้ทั้งคู่จะอายุเพียงแค่ 26 ปี เมื่อตอนที่มาถึงแคลิฟอร์เนีย พร้อมภาษาอังกฤษที่กระท่อนกระแท่น และปราศจากดีกรีจากสถาบันการศึกษาใดๆ แต่ทั้งคู่ก็มีความเด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่นที่จะเปิดธุรกิจเล็กๆ โดยเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมกาแฟ แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ธุรกิจแรกล้มไม่เป็นท่า

forever1

เป็นเวลาถึง 3 ปี ที่ Don ทำงานเป็นภารโรง เด็กปั๊ม และบริกรเสิร์ฟกาแฟ แต่ด้วยความเป็นคนช่างสังเกต ทำให้เขาเกิดไอเดียปิ๊งบางอย่างขึ้นมา

“ผมสังเกตว่าคนส่วนใหญ่ที่ขับรถสวยๆ มักจะอยู่ในธุรกิจการ์เม้นต์เสียส่วนมาก”Don บอกกับ LA Time เมื่อตอนให้สัมภาษณ์ในปี 2010

สิ่งนี้ทำให้เขาตัดสินใจลองเปิดร้านเสื้อผ้าที่ LA เมื่อปี 1984 ซึ่งตอนนั้นใช้พื้นที่แค่ 900 ตารางฟุต และตั้งชื่อให้มันว่า Fashion 21 แต่แตกต่างจากธุรกิจเมื่อสามปีก่อน เพราะปรากฏว่ามันประสบความสำเร็จมาก กิจการของเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่าสามารถทำยอดขายได้สูงถึง 7 แสนเหรียญฯ ในปีแรกที่เปิดร้าน

เมื่อเขาทั้งสองคนเล็งเห็นแล้วว่า ธุรกิจไปได้สวยเขาจึงตัดสินใจใส่เกียร์เดินหน้าลุยเต็มที่ โดยเปิดสโตร์ใหม่อีกหลายแห่ง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Forever 21 อย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน

ปัจจุบันนี้ ธุรกิจของ Forever 21 ไปได้สวยมาก โดยมีข้อมูลอย่างหยาบๆ ว่าทำยอดขายเป็นเงินราว 4.4 พันล้านเหรียญจากกว่า 600 สาขา ในขณะที่ครอบครัว Changs มีทรัพย์สินเน็ทๆ รวม 6.1 พันล้านเหรียญ (อ้างอิงข้อมูลจาก Forbes)

กิจการ Forever 21 เป็นในรูปแบบธุรกิจครอบครัว โดย Don นั่งในตำแหน่งซีอีโอ ขณะที่Jin Sook ดำรงตำแหน่ง Chief merchandising officer ส่วนลูกสาวทั้งสองคนก็มีตำแหน่งสำคัญในบริษัทเช่นกัน โดย Linda ลูกสาวคนโตรับหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ในขณะที่ Esther ลูกสาวคนเล็ก ทำหน้าที่ Oversees the brand’s visual

“มันสำคัญมากสำหรับลูกสาวทั้งสองที่จะเรียนรู้การทำงานหนัก อย่างที่ผมและภรรยาทำในบริษัท”Don บอกกับ LA Times และว่า “ใครจะคอยดูแลกิจการได้ดีกว่าคนในครอบครัวอีกล่ะ?”

Forever 21 ให้ความหวังแก่ผู้คนที่มาที่นี่โดยที่ไม่มีอะไรติดตัวมาเลย และนี่มันคือรางวัลสำหรับคนยากจนอย่างผม อย่างที่เราทราบกันดี มีผู้อพยพมากมายมายังอเมริกา เช่นเดียวกับผม และพวกเขาก็สามารถเข้ามาที่ Forever 21 ได้ พร้อมกับรับรู้ว่าทั้งหมดนี้เริ่มต้นมาจากผู้อพยพชาวเกาหลีที่ไม่มีอะไรเลยยกเว้นความฝัน”

หวังว่าความมุ่งมันของ Don และภรรยาจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนสานฝันธุรกิจต่อไปให้ประสบความสำเร็จให้ได้สักวันหนึ่ง

แหล่งที่มา 


  • 8
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!