อมรินทร์ ขายหุ้นให้ 2 ทายาทเบียร์ช้าง มูลค่า 850 ล้าน เข้าถือหุ้นกว่า 47% หวังนำเงินพยุงธุรกิจทีวีดิจิทัล-ชำระหนี้

  • 1.2K
  •  
  •  
  •  
  •  

amarinhili

ความเคลื่อนไหววงการสื่อสารมวลชนที่น่าสนใจ มีรายงานจากตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN ได้ทำการเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น โดยขายหุ้นให้กับ 2 ทายาทเบียร์ช้าง ได้แก่ ฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี เป็นมูลค่ามากกว่า 800 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท ทำให้ทั้งคู่ครองหุ้นของอมรินทร์ถึง 47.62%

นางเมตตา อุทกะพันธุ์  ประธานกรรมการ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)  หรือ AMARIN แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการลดทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จำนวน 135 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม  220 ล้านบาท เป็นจำนวน 219.999 บาท โดยการตัดหุ้นสามัญที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ออกจำหน่าย

และอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จำนวน 200 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 219.999 ล้านบาท เป็ น  419.999 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ1 บาท เพื่อจัดสรรและเสนอขายให้แก่ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดยนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี (“ผู้ซือ้”) ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท รวมเป็นมูลค่า ทั้งสิ้น 850 ล้านบาท โดยภายหลังจากการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าว ผู้ซื้อจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 47.62 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ

amarin1

ในการนี้ หากราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของราคาตลาดย้อนหลัง 7-15 วันทำการก่อนวันแรกที่เสนอขายต่อผู้ซื้อ ผู้ซื้อจะไม่นำหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ที่ได้รับทั้หมดออกขายภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Silent Period) โดยภายหลังจากวันที่หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ดังกล่าวทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือน ผู้ซื้อจึงจะสามารถทยอยขายหุ้นที่ถูกสั่งห้ามขายได้ในจำนวนร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ถูกสั่งห้ามขาย

ทั้งนี้ จากการที่บริษัทฯ ประสบภาวะผลประกอบการขาดทุนจากการดำเนินงานในช่วง 2 –3 ปี ที่ผ่านมาซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดจนอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity) ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 ของบริษัทฯ มีอัตราที่สูงเท่ากับ 4.32 เท่า บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนที่จะได้รับจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจทีวีดิจิทัลที่อยู่ในช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจซึ่งมีต้นทุนการดำเนินการที่สูง โดยใช้สำหรับการชำระค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล (ใบอนุญาตดิจิทัลทีวี”) การชำระค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลรายเดือน การชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทฯ มีแผนการใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนนี้ภายในต้นปี 2561

นอกจากนี้บริษัทฯ จึงเห็นว่าการที่บริษัทฯ จะมีพันธมิตรทางธุรกิจ(StrategicPartner) ที่มีความพร้อมในด้านเงินทุนและมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมีสถานะทางการเงินและสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย จะทำให้บริษัทฯ ได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องการ และยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อไม่ประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯ และมีความประสงค์ที่จะขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯ โดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ (Whitewash) ทั้งนี้จะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ โดยกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 9 ธันวาคม 2559 และให้รวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นตามมาตรา 225  โดยวิธีปิดสมุดทะเบียนและพักการโอนหุ้นใน วันที่ 13 ธันวาคม 2559

สำหรับ ฐาปน และ ปณต สิริวัฒนภักดี เป็นลูกชายคนที่ 3 และคนที่ 5 ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีซีซี กรุ๊ป ปัจจุบัน ฐาปน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจส์ฯ ส่วน ปณต ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ทีซีซี กรุ๊ป


  • 1.2K
  •  
  •  
  •  
  •