ประตูสู่ประสบการณ์ที่เงินเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้! “AYDA 2018” กระตุกไอเดียคนรุ่นใหม่ เมื่อสังคมถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี

  • 196
  •  
  •  
  •  
  •  

NIPPON PAINT-01

เพราะประสบการณ์เป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ เราจึงได้เห็นนักเรียน นักศึกษา และผู้คนที่สนใจ พยายามแสดงไอเดีย ส่งผลงานร่วมประกวดในโครงการต่างๆ เพื่อชิงรางวัล ซึ่งความแตกต่างของโครงการเหล่านี้มักไม่ได้มีเงิน หรือสิ่งของหรูหรา เป็นรางวัลแก่ผู้ชนะ หากแต่…มาพร้อมโอกาส เช่น การศึกษาดูงาน การแลกเปลี่ยนหรือเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ คนดังแต่ละสายงาน สิ่งเหล่านี้ คือ กำไรชีวิต ที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสเข้าถึง

เมื่อไม่นานมานี้ ชื่อโครงการ Asia Young Designer Award (AYDA) ได้ผ่านเข้าหู แน่นอนว่าเราเป็นหนึ่งในคนทั่วไปที่ไม่เคยรู้จักกับโครงการนี้มาก่อนและไม่รู้เลยว่าการจัดงานครั้งนี้คือการย่างเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากรู้จักและเข้าใจแนวคิดของโครงการว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร ทำไมนี่จึงเป็นหนึ่งในโครงการที่ผู้คนและนักศึกษาในแวดวงออกแบบต่างกล่าวถึง เพราะหากพูดถึงกิจกรรมจัดประกวดไอเดียในประเทศไทย แน่นอนว่ามีมากจนจำไม่หมด ถ้าย่อยเหลือเฉพาะโครงการเกี่ยวกับไอเดียการออกแบบก็ยังเหลืออยู่นับสิบโครงการ แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะโครงการที่มีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนานาชาติ แต่ยังคืนประโยชน์ให้สังคม พร้อมๆ กับการเปิดกว้างทางความคิดแก่เจ้าของผลงาน แน่นอนว่าชื่อ AYDA 2018 เป็นหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่

เวทีโอกาส เก็บประสบการณ์มหาลัยชื่อก้องโลกเดียวกับหัวกะทิ

ความพิเศษของโครงการ Asia Young Designer Award ในปีนี้ คือ การได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา สาขาการออกแบบ (Harvard University Graduate School of Design) เพื่อให้สิทธิ์ผู้ชนะการประกวดเพียงหนึ่งเดียวในระดับเอเชียของโครงการ AYDA ทั้งสาขาสถาปัตยกรรมและสาขาการออกแบบภายใน ได้เข้าร่วมโปรแกรมเรียนรู้ด้านการออกแบบชนิดเข้มข้นที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในโปรแกรม AYDA / Harvard Design Discovery Summer Programme โดยจะได้เรียนรู้การทำงานจริงในสตูดิโอออกแบบ เข้าคลาสเรียนร่วมกับนักศึกษาฮาร์วาร์ดในวิชาต่างๆ ทำเวิร์คช็อปและร่วมกิจกรรมทัศนศึกษา รวมระยะเวลา 6 สัปดาห์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้นักออกแบบรุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ซึ่งมีค่า หาได้ยาก และนำกลับมาต่อยอดเพื่อพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศไทย ยังไม่นับรวมถึงโอกาสในการใกล้ชิดกับนักออกแบบและสถาปนิกระดับโลก อาทิ KENGO KUMA, KENYA HARA, SADAO TSUCHIYA, TOMOHIRO HATA, PAUL TANKE, SERINA HIJAS, TAKASHI SUGIMOTO, COLIN SEAH, DATO’DR KEN YEANG, SIBARANI SOFIAN

NIPPON PAINT-02

จุดประกายไอเดียจากทุนให้เปล่าเพื่อนักศึกษาชาวเอเชีย ณ ฮาร์วาร์ด

นอกจากโครงการ AYDA จะเป็นจากการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กับคณะกรรมการและคณาจารย์สถาบันต่างๆ รวมถึงสถาปนิก ดีไซเนอร์ เพื่อร่วมกันกระตุ้นและสร้างเยาวชนสถาปนิกและดีไซเนอร์รุ่นใหม่ เพื่อเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ นักออกแบบที่เปลี่ยนแปลงโลก แบรนด์นิปปอนเพนต์ภายใต้ร่ม นิปซีกรุ๊ป บริษัทแม่ที่เป็นอันดับ 1 ในเอเชีย ก็ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผ่านทุน “GENNOSUKE OBATA FELLOWSHIP FUND” ทุนให้เปล่าสำหรับนักศึกษาชาวเอเชียที่สามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อสนับสนุนและสร้างนักออกแบบ สถาปนิก ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ให้สามารถก้าวต่อไปในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยความมุ่งมั่น ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดสู่ความร่วมมือผ่านโครงการ AYDA 2018 ต่อมา

ไม่ใช่ CSR แต่เป็นการ “สร้างสังคมในอนาคตให้ดีขึ้น โดยลูกหลานของเราเอง”

อีกประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้ก็คือ การที่นิปปอนเพนต์ประกาศว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่การทำ CSR ไม่ใช่การจัดกิจกรรมเพื่อสร้าง Brand Awareness แต่นี่คือกิจกรรมที่นิปปอนเพนต์ต้องการจัดเพื่อจุดประกายไอเดียให้นักศึกษา โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายในอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและงานออกแบบไอเดียใหม่ๆ ที่สร้างประโยชน์ให้สังคมและประเทศดีขึ้น ซึ่งนิปปอนเพนต์ถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสีรายใหญ่ที่มียอดขายสูงสุดในเอเชีย กับพันธกิจที่ต้องการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ส่งเสริมและพัฒนาสังคม ภายใต้มาตรฐานและความปลอดภัยการก่อสร้างของบริษัท เพื่อชีวิตที่มีคุณภาพของผู้คนในสังคม

NIPPON PAINT-03 NIPPON PAINT-04

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โครงการ AYDA ได้รับความสนใจจากนักศึกษา 15 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น  จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย อิหร่าน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา บังกลาเทศ เวียดนาม ฮ่องกง ไต้หวัน และไทย โดยในปีที่ผ่านมามีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดเกือบ 5,600 ผลงาน ซึ่งในไทยก็มีกระแสตอบรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมาก็มีผู้ส่งผลงานเข้าถึง 1,210 ผลงาน เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับช่วงแรกๆ ของการจัดโครงการที่มีผลงานรวมอยู่ในหลักร้อย เทียบกับจีนหรืออินเดียที่มีจำนวนประชากรมากกว่าไทย ก็ยังตื่นตัวในการส่งผลงานร่วมประกวดน้อยกว่าประเทศไทย สะท้อนการนำเสนอไอเดียของเด็กไทยว่ามีความคิดไม่แพ้ต่างชาติ

ขณะเดียวกัน โครงการ AYDA ยังถือเป็นโครงการสนับสนุนงานออกแบบที่ใหญ่ที่สุดในไทย จากความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจารย์ผู้มีประสบการณ์ ผู้เชี่ยวชาญในสายงาน รวมถึงได้รับเกียรติจากสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลกอย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สาขาการออกแบบ (Harvard University Graduate School of Design) อาจทำให้โคงการ Asia Young Designer Award เป็นการประกวดด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายใน ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิกก็ว่าได้

เติมประโยชน์ สร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคม

ไม่ใช่แค่ประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับจากนำเสนอไอเดีย การได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกับผู้ร่วมโครงการคนอื่น หรือแม้แต่การรับฟังคำติชมจากกรรมการที่ตัดสินผลงาน หรือผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมโครงการ แนวคิดของโครงการ AYDA ในปีนี้ยังสะท้อนถึงประโยชน์ในการสร้างชุมชน ภายใต้หัวข้อ FORWARD, Challenging Design Boundaries” กับสถานการณ์ความเจริญทางเทคโนโลยี เมื่อย่านวัฒนธรรมต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง แต่ละพื้นที่ต้องการการพัฒนา มีการเข้ามาแทนที่ของกลุ่มคนกลุ่มใหม่ในชุมชน ทำให้ความเป็นย่านดั้งเดิมถูกแทนที่ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ ส่งผลกระทบให้การใช้ชีวิตและบริบทของชุมชนเปลี่ยนไป และเมื่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โจทย์ของกิจกรรมในปีนี้จึงต้องการเห็นไอเดียที่นำเสนอความคิดในการสร้างพื้นที่สำหรับชุมชน ที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนา และการมองเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ความเป็นย่าน พร้อมๆ กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อโจทย์ท้าทายไอเดีย กลายเป็นความท้าทายในการออกแบบและพรีเซนต์ผลงาน เพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นและควรดำเนินไปของสังคมไทย ผลงานของเหล่านักศึกษาที่จะถูกนำเสนอผ่านโครงการนี้ จึงยิ่งเพิ่มความน่าสนใจและน่าจับตา ว่าไอเดียคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมกันออกแบบสังคมไทยนั้น จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

NIPPON PAINT-05

ประสบการณ์จากศิษย์เก่า

อย่างที่เล่ามาแล้วข้างต้นว่าโครงการ Asia Young Designer Award ดำเนินมาอย่างยาวนานนับ 10 ปี ทำให้มีการถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นพี่ที่เคยได้รับรางวัล และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในต่างแดน ก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ประสบการณ์ที่ได้รับจากโครงการ AYDA ถือเป็นสิ่งมีค่าที่เงินไม่สามารถซื้อหาได้ ทั้งการอัพเดทความรู้เรื่องงานออกแบบและเทรนด์สีที่ทันสมัย ยิ่งเป็นการการันตีว่าประโยชน์ของงานออกแบบที่เริ่มต้นจากการใส่ใจสิ่งรอบตัว จากจุดเล็กๆ ที่เคยเป็นปัญหาในชุมชนหรือสังคมของคุณ ก็สามารถแก้ไขและเปลี่ยนให้กลายเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต ต่อชุมชน ต่อสังคมได้ง่ายๆ จากไอเดียของคนรุ่นใหม่นั่นเอง ส่วนเรื่องศักยภาพคนรุ่นใหม่นั้น เชื่อได้อยู่แล้วว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก เพียงแต่ต้องอาศัยการตีโจทย์ให้ละเอียด และต้องมีความกล้าในการนำเสนอผลงาน ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง และสามารถสื่อสารกับกรรมการบนเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งมีจำนวน 60-70 คน ที่รอฟังการถ่ายทอดไอเดียของคุณ

ทั้งหมดนี้ คงสะท้อนได้ดีว่า ประสบการณ์ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะสามารถซื้อได้ด้วยเงิน! และยังไม่รวมถึงเวทีแสดงความเห็นที่สามารถเปิดกว้าง ไม่จำเจ ไม่จำกัดอยู่กับกรอบเดิมๆ และหากคุณอยากคว้าโอกาสนั้นไว้ ก็ต้องเค้นไอเดียระดับหัวกะทิออกมาให้ได้ ซึ่งโครงการ Asia Young Designer Award 2018 กับหัวข้อ Forward: Challenging Design Boundaries เปิดรับสมัครถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2561 โดยสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.asiayoungdesigneraward-th.com และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ Asia Young Designer Award Thailand


  • 196
  •  
  •  
  •  
  •