ทำความรู้จัก “สภาดิจิทัลฯ” กับภารกิจที่ท้าทาย สู่ทิศทางการพัฒนาด้านดิจิทัลในประเทศไทย

  • 305
  •  
  •  
  •  
  •  

Digital Thailand Big Bang 2019

ใครๆ ก็มักจะบอกว่าประเทศไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัล แต่ในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล และดูเหมือนจะค่อยๆ เปลี่ยนผ่านเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมองต่างมุมในเรื่องของดิจิทัลระหว่างภาครัฐและเอกชน นั่นจึงทำให้การ Transformation ไปสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทยเป็นไปได้ช้า

โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวไว้ในการเปิดตัวสภาดิจิทัลฯ ภายในงาน Digital Thailand Big Bang 2019:ASEAN Connectivity ถึงการพัฒนาด้านดิจิทัลว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีการขยับอันดับในเรื่องของภาพรวมการแข่งขันด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น ขณะที่ไทยนั้นหล่นจากตำแหน่งเดิมไป 1 อันดับ เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ประเทศเพื่อนบ้านให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องของดิจิทัล

Digital Thailand Big Bang 2019

สำหรับ “สภาดิจิทัลฯ” มีชื่อเต็มว่า สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดยมีหน้าที่หลักในการร่วมมือกับภาครัฐเพื่อวางยุทธศาสตร์และพัฒนากฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย ผ่านความเห็นของภาคเอกชนที่มองเห็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถเข้าใจและแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทย

นอกจากนี้ สภาดิจิทัลฯ ยังมีหน้าที่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความต้องการของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ ซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ โทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจด้านดิจิทัลของไทย

Digital Thailand Big Bang 2019

ที่สำคัญ สภาดิจิทัลฯ ยังมีหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา จนไปถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลโดยนำมาประยุกต์ใช้โมเดลในลักษณะ Social Enterprise ที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจพร้อมกับการส่งเสริมการพัฒนาด้านสังคมไปพร้อมกัน

5 พันธกิจหลักของสภาดิจิทัลฯ

หลังจากที่รู้จักกับสภาดิจิทัลฯไปแล้ว สภาดิจิทัลฯยังมีพันธกิจที่สำคัญในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญประกอบไปด้วย 5 เรื่องทั้ง ความร่วมมือ (Collaboration) ที่จะเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างภาคเอกชน และภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศดิจิทัล โดยสภาดิจิทัลฯจะเป็นตัวแทนภาคเอกชนที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการผลักดันนโยบายต่างๆ

Digital Thailand Big Bang 2019

ความสามารถของบุคลากร (Digital Talents) ซึ่งถือเป็นหัวใจสําคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล แม้ว่าประเทศไทยในปัจจุบันจะเป็นประเทศที่มีการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในวงกว้าง(Digital Users) แต่ประเทศไทยก็ยังขาดบุคลากรที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการด้านดิจิทัลอยู่มาก (Digital Makers) สภาดิจิทัลฯจึงต้องผลักดันการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านการเปลี่ยนทักษะ (Reskill) การยกระดับทักษะ (Upskill) และการสร้างเสริมทักษะใหม่ๆ (New Skill)

การพัฒนาธุรกิจดิจิทัล (Digital Economy) ทั้งในด้านการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจดิจิทัลในไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ SMEs หรือ Startup ผ่านการสร้าง ecosystem ที่ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ และการสร้างโอกาสทางธุรกิจสภาดิจิทัลฯจึงเน้นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นตลาดดิจิทัลที่มีผู้บริโภคที่มีความรู้ความเข้าใจ และมีผู้ผลิตที่มีคุณภาพทัดเทียมสากล

Digital Thailand Big Bang 2019

การพัฒนานวัตกรรม (Digital Innovation) นวัตกรรมถือเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการให้ความสําคัญกับการวิจัยและพัฒนา(R&D) ซึ่งสภาดิจิทัลฯพร้อมส่งเสริมและสร้างนวัตกรรมด้านดิจิทัลใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชน และองค์ความรู้ (Knowledge) โดยประเทศไทยต้องเข้าใจถึงความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกสภาดิจิทัลฯจึงเน้นที่การพัฒนางานวิจัย โดยผลการวิจัยจากสภาจะช่วยให้ภาคเอกชน ภาครัฐและภาคประชาชนเข้าใจในอุตสาหกรรมดิจิทัลมากยิ่งขึ้น

ShowCase ตัวอย่างการพัฒนาด้านการแพทย์

หนึ่งในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ยุคดิจิทัลที่สำคัญคือเรื่องทางการแพทย์เนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศไทยการแพทย์ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้การแพทย์ที่ทันสมัยสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ห่างไกลได้ หรือแม้แต่กรณีของผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ป่วยที่เดินทางมาพบหมอได้ยากลำบาก เทคโนโลยีเหล่านี้ก็สามารถช่วยให้การแพทย์เข้าถึงได้ง่ายดายด้วยเช่นกัน

โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนทั้งในส่วนของ อุปกรณ์ติดกล้อง ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้ส่องกับผิว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ถึงลักษณะของผิว เช่น ผื่น ผดรวมไปถึงอาการโรคผิวหนังต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เพื่อวัดอุณหภูมิร่างกายและส่งต่อข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ไปที่คุณหมอเจ้าของไข้ได้ทันที ไม่ว่าคุณหมอจะอยู่ที่ใดก็ตาม

และอุปกรณ์ติดเครื่องวัด โดยแบ่งออกเป็นสำหรับวัดเสียงหัวใจและปอด, สำหรับวัดหู และสำหรับตรวจดูคอ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะเป็นรูปแบบเดียวกับที่ไปพบหมอที่โรงพยาบาล และหมอจะนำข้อมูลเหล่านี้มาวินิจฉัยเสมือนมาหาหมอจริงๆ ไม่ใช่แค่การซักถามอาการทางโทรศัพท์หรือ VDO Callในอนาคตหากสภาดิจิทัลฯ สามารถนำเทคโนโลยีนี้ใช้ได้จริงอย่างแพร่หลาย จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการแพทย์ของประชาชนได้อย่างมาก

อีกหนึ่งเรื่องที่ทางสภาดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของการศึกษา ซึ่งการใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการการศึกษา อาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับประเทศไทย โดยสภาดิจิทัลฯ จะต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงข้อมูลและหลักสูตรทางการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน เช่น นักเรียนในเมืองและนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และช่วยลดปัญหาเด็กออกนอกพื้นที่เพื่อเดินทางมาศึกษาในพื้นที่ใจกลางเมืองโดยทางสภาดิจิทัลฯ จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยผลักดันให้เทคโนโลยีทางด้านการศึกษาเกิดขึ้น และขยายผลไปยังพื้นที่ห่างไกลครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย

ทั้งหมดนี้คือความท้าทายของสภาดิจิทัลฯ ที่นอกจากจะลดความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ด้านด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีแล้ว การพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องที่สภาดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะนักพัฒนาที่จะช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นของประเทศไทยเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยส่งผลให้ภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก


  • 305
  •  
  •  
  •  
  •