ส่องกลยุทธ์ ‘foodpanda’ แตกโมเดล Q-Commerce สู่ ‘pandamart’ ปั้น warehouse และเริ่มทำ R&D เครื่องดื่ม – อาหาร

  • 152
  •  
  •  
  •  
  •  

 

มันยากจะปฏิเสธจริงๆ เกี่ยวกับปัจจัยการเติบโตของ ‘Delivery service’ จากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ที่เริ่มขยับขยายเป็นกลุ่มก้อนไปอยู่ในกลุ่ม ‘lazy culture’ มากขึ้น ตั้งแต่ที่ยังไม่มีการระบาดของไวรัส COVID-19 ด้วยซ้ำ แต่แรงกดดันและการแข่งขันมันดุเดือดขึ้นอีกหลายสเต็ป เพราะวิกฤติการระบาดมันลากยาวจนเกินไป

ดังนั้น แบรนด์ชั้นนำหลายๆ เจ้าในอุตสาหกรรม food delivery จึงขยันมูฟเมนต์กันอยู่เรื่อยๆ ที่ผ่านมา จนกระทั่งล่าสุด แพนด้าชมพูอย่าง ‘foodpanda’ ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ‘pandamart’ บนแอพพลิเคชั่นในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจะอยู่เป็น category – shops ให้เราสามารถซื้อของจิปาถะได้เลย โดยที่ไม่ต้องออกจากบ้านไปซื้อที่ร้าน หรือไปเดินไปร้านโชห่วยปากซอยอีกแล้ว

 

 

 

‘pandamart’ ขาใหม่ของโมเดลธุรกิจ ‘Quick Commerce’

ตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมา ที่ foodpanda เข้ามาในตลาดประเทศไทย ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าแรกๆ ของธุรกิจเดลิเวอรี่ก็ว่าได้ เราจะเห็นว่าบิซิเนสโมเดลของแบรนด์เดลิเวอรี่ชมพูรายนี้ ให้ความสำคัญกับ ‘on demand’ มากที่สุด และเป็นเจ้าแรกในไทยที่จัดส่งสินค้าแบบ on demand ด้วย

ดังนั้น การเดลิเวอรี่สำหรับ foodpanda ไม่ใช่แค่ ‘ความเร็ว’ อีกต่อไป แต่มันต้องหลากหลายด้วย อย่างคอนเซ็ปต์ใหม่ที่มาพร้อมกับ pandamart จะมี 3 pillars หลักๆ ด้วยกัน คือ ‘speed – convenience – variety’ ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจแบบ Quick Commerce (Q Commerce) ที่ทุกอย่างต้องรันด้วยความเร็ว สะดวกสบาย และครบ! ซึ่งกลยุทธ์ตรงนี้แหละที่เป็นหมัดเด็ดของ foodpanda ในการขยายธุรกิจต่อไป

 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน pandamart ซึ่งก็เปรียบเสมือนเป็น warehouse ของแพนด้านั่นเอง โดยเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ แล้วทั้งหมด 7 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ลาดพร้าว, วัฒนา, สาทร, สุทธิสาร, งามวงศ์วาน, บางนา และ ธนบุรี โดย 2 ใน 7 แห่งนี้มี ‘Cloud Kitchen’ อยู่ 2 แห่งด้วยกัน และเปรยๆ มาด้วยว่า ปลายปีนี้คลังสินค้าสีชมพูนี้ก็น่าจะขยายครบ 30 แห่งทั่วประเทศ ตามหัวเมืองใหญ่ ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น

ที่น่าสนใจอีกหนึ่งอย่างก็คือ การดำเนินธุรกิจ pandamart ซึ่งหลักๆ มีอยู่ 2 โมเดลด้วยกัน นั่นคือ เป็น retail business ของ foodpanda กับอีกทางก็คือ เป็นพาร์ทเนอร์กับร้านค้าชั้นนำมากมายกว่า 2,700 ร้านค้า ไม่ว่าจะเป็น CP, Freshmart, Gourmet Market, Tesco Lotus, Lawson, Beauty Buffet เป็นต้น

 

 

ขณะที่ คุณโทมัส บูชัน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเป็นคนที่ดูแล pandamart โดยตรง ได้พูดให้ฟังว่า “พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และการขยายธุรกิจที่ดีก็ต้องทำให้ครบทุกด้านมอบความสะดวก และประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้ คำว่า on demand เราได้ยึดถือคำๆ นี้มาตลอด สำหรับอุปสรรคในการแข่งขันในธุรกิจเดลิเวอรี่ ผมไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของคู่แข่งเยอะ หรือค่าธรรมเนียมการจัดส่งที่เรา offer ให้ฟรี แต่ foodpand ก็คือ ตัวเลือกอีกหนึ่งทางของผู้บริโภคก็เท่านั้น แต่อุปสรรคที่แท้จริง(ในกรุงเทพฯ) คือ รถติดมาก”

 

 

คุณโทมัส เปิดเผยด้วยว่า ตั้งแต่ที่เปิดตัว pandamart เมื่อ 4 เดือนก่อน กระแสตอบรับดีมาก ซึ่งสินค้า Top 5 ยอดนิยมของเราก็คือ เครื่องดื่ม-ขนม, น้ำแข็ง, ไอศครีม, ผลิตภัณฑ์สุขภาพและเสริมความงาม, พวกน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก หรือน้ำยารีดผ้า โดยตั้งแต่ 19.00 เป็นต้นไปออเดอร์จะพุ่งมากกว่า 25 เท่า เห็นได้ชัดว่า เริ่มดึกคนก็ไม่อยากออกจากบ้าน ดังนั้น  shops ของเราเปิดตลอด 24 ชั่วโมงก็น่าจะตอบโจทย์มากทีเดียว

 

 

ยิ่งตอนนี้มีโปรโมชั่นดึงดูดสุดๆ อย่าง ซื้อสินค้าครบ 50 บาท ‘จัดส่ง FREE’ แถมยังการันตีจัดส่งสินค้าให้ถึงมือภายใน 20 นาทีด้วย ซึ่งเห็นบอกว่า ในอนาคตจะลดทอนเวลาจัดส่งสั้นลงเรื่อยๆ เป็น 18 นาที 16 นาที หรือ 12 นาที เป็น game challenge ที่น่าติดตามมาก

ทั้งนี้ ฟีเจอร์ใหม่นี้ pandamart ในตอนนี้มีทั้งหมด 12 ประเทศทั่วเอเชีย-แปซิฟิกแล้ว (สิงคโปร์ ฮ่องกง ไทย มาเลเซีย ปากีสถาน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และ ญี่ปุ่น) ซึ่งไทย เป็นประเทศที่ 11 ขณะที่บริการ food delivery ของแพนด้าชมพูคาดว่า ในเดือน ต.ค.นี้จะครบทั่วทั้ง 77 จังหวัดในไทย

 

 

สตาร์ท R&D อาหาร – เครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ตัวเอง

การขยับตัวของ foodpanda ไม่ใช่แค่ position การเป็น ‘super app’ เท่านั้น แต่มันต้องแฝงไปด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้วย ซึ่งคุณจักรินทร์ สะสินิน ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ pandamart เล่าให้เราฟังว่า มีอีกหนึ่งโมเดลใหม่ที่ foodpand กำลังทำอยู่ตอนนี้ ก็คือ R&D อาหาร และเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ foodpanda ซึ่งนอกจากในไทยแล้ว ยังมี ‘ฮ่องกง – ฟิลิปปินส์’ ที่เริ่มทำโมเดลนี้ด้วยเช่นกัน

 

 

“เราเพิ่งเริ่มทำ R&D ได้ไม่นาน ตอนนี้หลักๆ ที่เริ่มไปแล้ว ก็มี ชานมไข่มุก (Want T), ไก่ทอด JFC (Jackson Fried Chicken) และ พาสต้า ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีแบรนด์ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเจ้าใหญ่บางราย ที่เข้ามาเทสรสชาติและแสดงความสนใจ” คุณจักรินทร์ กระซิบว่า “ถ้ามีร้านไหนสนใจทาง foodpanda ก็ไม่หวงนะ ซื้อเป็นแฟรนไชส์ได้ แต่ต้องวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มของ foodpanda ควบคู่ไปด้วย”

 

 

เห็นหลายๆ แบรนด์เดลิเวอรี่เคลื่อนไหวแล้ว ก็ยิ่งอยากเห็นแล้วสิว่า สนามการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้จะเดือดอีกแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ เจ้าแพนด้าชมพูรายนี้ก็น่าสนใจทีเดียว ก่อนหน้านี้เหมือนจะตามห่างๆ จากเดลิเวอรี่เจ้าอื่นอยู่ แต่ถึงเวลาขยับตัวที ก็แรงและสะเทือนเอาเรื่องอยู่เหมือนกันนะ


  • 152
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม
CLOSE
CLOSE