ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ก่อตั้งมายาวนาน แต่เนื่องจากโลกเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ส่งผลให้ SCB ต้องเผชิญกับความท้าท้ายจากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินธุรกิจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และนำไปสู่การปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการเป็น SCBX แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
แยกธุรกิจดั้งเพิ่มขีดความสามารถใหม่
จากมุมมองของ คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ชี้ให้เห็นว่า สำหรับ SCBX มีการแยกการบริหารออกเป็นสองส่วน โดยที่ส่วนแรก คือ การบริหารธุรกิจดั้งเดิม (Incumbent) ที่ควรปฏิบัติด้วยความรอบคอบ มุ่งเน้นการลงทุนอย่างมีวินัยและลดต้นทุน เพื่อรักษาเสถียรภาพของธุรกิจหลักที่ทำกำไรให้เป็น “Cash Cow” ที่มั่นคงและแข็งแกร่ง จากนั้นจึงนำทรัพยากรจาก Cash Cow ไปพัฒนาธุรกิจใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับโครงสร้างต้นทุนให้มีความสามารถในการแข่งขัน

พร้อมปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานรู้สึกภาคภูมิใจในการขับเคลื่อนธุรกิจหลัก เพื่อให้องค์กรมีภูมิคุ้มกันต่อการแข่งขันและปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันสิ่งที่องค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญ คือ การสร้างธุรกิจหรือสร้างขีดความสามารถใหม่ ซึ่งไม่ควรนำไปผนวกรวมกับธุรกิจดั้งเดิม แต่ควรถูกกำหนดให้เป็นหน่วยธุรกิจที่แยกออกมาและดำเนินการโดยใช้โมเดลการบริหารแบบ “สตาร์ทอัพ (Startup)”
สิ่งที่ควรให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องคือ “Asset Light” ที่ไม่ต้องลงทุนในสินทรัพย์หนักมากนัก เป็นองค์กรที่มีน้ำหนักเบา และใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการกำหนดโครงสร้างต้นทุนที่แข่งขันได้ถือเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน (Mission) และมีสิ่งที่องค์กรทำเพื่อผู้อื่นและสังคม (Purpose) ยังเป็นสิ่งสำคัญในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ (Talent) ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยทรัพยากรและเงินลงทุนที่นำไปใช้สำหรับธุรกิจใหม่นั้น ควรมาจากการจัดสรรทรัพยากรบนฐานของ Cash Cow อย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของธุรกิจดั้งเดิม
“เทคโนโลยี” หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน SCBX
SCBX มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้อย่างจริงจังและครอบคลุมทั้งกลุ่ม โดยตั้งเป้าหมายรายได้ 75% จะต้องมาจาก AI ภายใน 3 ปี รวมถึงการสร้าง AI ภาษาไทยชื่อ “Typhoon” ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเวอร์ชั่น 1.0 ที่คาดว่าจะเปิดตัวในช่วงกลางปี 2567 นี้ พร้อมทั้งมีการเตรียมจัดหลักสูตรการเรียนรู้ด้าน AI ให้กับพนักงานในกลุ่ม SCBX กว่า 20,000 คน
การนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลายในองค์กร ทั้งในระบบปฏิบัติการหลังบ้าน กลางบ้านและหน้าบ้าน ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขัน อย่างไรก็ตามยิ่งมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่อีกหนึ่งในความท้าทายที่องค์กรธุรกิจทั่วไปต้องเผชิญ คือ การจัดการความกังวลของพนักงานที่คิดว่าอาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีและตกงานในที่สุด
โดย คุณอาทิตย์ อธิบายเสริมว่า การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจและการสาธิตให้เห็นประสิทธิภาพของเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างสู่การเรียนรู้ และให้โอกาสกับการลองผิดลองถูกนั้นมีความสำคัญ เป็นสิ่งที่องค์กรต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและสร้างกระบวนการที่ดีขึ้น นอกจากเทคโนโลยี AI แล้ว SCBX ยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีอื่นมาใช้ อาทิ Blockchain, Cloud, และ Big Data โดยมีการจัดตั้งบริษัท DataX ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลอย่างเป็นระบบ ภายใต้กรอบของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
Typhoon เทคโนโลยีสำหรับคนไทย
แต่การสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเองจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล และไม่สามารถเห็นผลได้ในระยะสั้น แต่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีในระยะยาว ด้วยเหตุนี้เอง SCB 10X ในเครือ SCBX ที่แยกตัวอออกกมาจึงได้เริ่มสร้างเทคโนโลยีของตัวเอง หนึ่งในนั้นคือ “Typhoon” (ไต้ฝุ่น) เทคโนโลยีในรูปแบบ Large Language Model (LLM) ที่พัฒนาขึ้นสำหรับภาษาไทยโดยเฉพาะที่ช่วยให้เข้าใจคนไทย บริบทสังคมไทย และวัฒนธรรมไทย
นั่นเพราะการเทคโนโลยีรูปแบบ LLM ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษเป็นหลัก ในขณะที่ภาษาไทย ดังนั้น Typhoon จึงถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างทางภาษา จากการวัดผลด้วยข้อสอบภาษาไทยที่มีความยากเทียบเท่าข้อสอบมัธยมปลาย ซึ่งหลังจากทดสอบแล้วพบว่า ความสามารถและประสิทธิภาพเกี่ยวกับภาษาไทย วัฒนธรรมไทย และบริบทไทยต่างๆ สามารถแข่งขันได้กับ ChatGPT ได้
การสร้างเทคโนโลยีอย่าง Generative AI ภาษาไทย จะช่วยลดต้นทุนธุรกิจได้ในระยะยาว โดย Typhoon จะเป็นเทคโนโลยีแบบ Open Source ที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ และจะทำให้เกิดการแข่งขันในระดับโลก เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความร่วมมือในการขยาย Ecosystem ให้เติบโต ภายใต้วิสัยทัศน์ของ SCBX ที่มุ่งพัฒนา Financial Technology ที่ให้ทุกคนสามารถพัฒนาธุรกิจได้ด้วยเทคโนโลยี
เดินหน้าเทคโนโลยีด้าน Data
นอกจากการแยกตัวออกมาอย่าง SCB 10X แล้ว ยังมีการแยกตัวออกมาอย่าง DataX ในเครือ SCBX ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการข้อมูลทั้งหมดของ SCBX สำหรับวางรากฐานและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่ม SCBX ในระยะยาว ผ่านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ ทั้งจาก Big Data, Data Science และเทคโนโลยี AI เพื่อนำไปพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญ
ยกตัวอย่าง การสร้างแบบสอบถามที่ Pain Point คือการสร้างคำถามที่ต้องสมเหตุสมผล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาตามที่ต้องการผ่านรูปแบบ SQL แต่ด้วยการใช้ Generative AI ช่วยให้สามารถดึงข้อมูลเชิงลึกได้อย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็นต้องทำแบบสอบถามในรูปแบบ SQL ที่ซับซ้อนช่วยให้ได้ข้อมูลที่ต้องการผ่านการใช้ Data ระบบจะทำการประมวลผลข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
นอกจากจะช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกโดยไม่ต้องคิดหาคำถามเพื่อใช้ทำแบบสอบถามที่ซับซ้อนแล้ว ยังช่วยให้ได้ข้อมูลในเวลาที่รวดเร็วกว่าการทำแบบสอบถาม เป็นการนำข้อมูลมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ โดยที่สามารถนำพนักงานไปทำงานในส่วนที่สำคัญกว่าได้ โดยเฉพาะธุรกิจของ SCBX ที่มีข้อมูลมหาศาล ทำให้เรื่องของขนาดของ Database ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
คุณอาทิตย์ยังทิ้งท้ายไว้ว่า การขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยีในภาพรวม ต้องมีการวางแผนและเตรียมการอย่างรอบคอบในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและระบบไอที บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ การสร้างนวัตกรรม รวมถึงการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา