Uber VS กฎระเบียบของไทย นโยบาย Thailand 4.0 อยู่ในมือทุกคน

  • 19
  •  
  •  
  •  
  •  

Uber-vs-Taxi-in-Malaysia

ก่อนหน้านี้เราคงได้ยินกันอยู่บ่อยๆ กับคำว่า “Thailand 4.0” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ที่มุ่งหวังเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือเข้าใจง่ายๆ คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสานเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี

ดูเหมือนภาครัฐกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมาก เห็นได้จากการบูรณาการให้หน่วยงานรัฐสามารถเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้เครือข่ายเดียวกัน นอกจากนี้ภาครัฐยังเห็นอนาคตของเทคโนโลยีที่จะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน จึงเปิดตัวระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่จะสามารถเข้าถึงระบบ FinTech ของทุกคน

Uber เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับเรียกรถโดยสารที่ให้บริการทั่วกรุงเทพซึ่ง Uber ถึงกำเนิดขึ้นมาจากปัญหาการเรียกรถแท็กซี่ในต่างประเทศที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ Uber จึงหันมาให้บริการด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยลดปัญหาความยุ่งยากในการเรียกแท็กซี่ และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้เสริมของคนทั่วไป

uber

แต่เมื่อเข้ามาถึงประเทศไทย Uber ก็ต้องประสบกับปัญหาเรื่องกฎระเบียบของรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่ โดยกฎระเบียบการจะนำรถยนต์มาเป็นรถแท็กซี่ได้นั้น มีเนื้อหาคร่าวๆ ว่า ต้องเป็นรถใหม่ หรือใช้งานไม่เกิน 2 ปี ซึ่งต้องใช้งานไม่เกิน 20,000 กม. เครื่องยนต์ไม่ต่ำกว่า 1,500 ซีซี ต้องมีสีตามที่กรมขนส่งกำหนด ห้ามติดฟิล์มดำและระบบเซ็นทรัลล็อก ต้องมาตรบอกราคาค่าโดยสาร ต้องมีเครื่องหมายเป็นอักษรโรมัน “TAXI-METER” และต้องมีป้ายไฟ “ว่าง” รวมถึงป้ายแสดงใบขับขี่รถยนต์สาธารณะให้เห็นชัด และทะเบียนรถต้องเป็นป้ายพื้นสีเหลืองตัวอักษรสีดำ

IMG_32291

ซึ่งกรมขนส่งย้ำชัดว่า กฎระเบียบการจะนำรถยนต์มาเป็นรถแท็กซี่ ต้องทำตามระเบียบนอกเหนือจากนี้ไม่ถือว่าเป็นรถรับจ้างสาธารณะ และหากดำเนินการรับจ้างพาไปส่งในที่ต่างๆ ถือว่าเป็นรถรับจ้างสาธารณะเถื่อน ตามที่ พระราชบัญญัติรถยนต์ ปีพ.ศ.2522 ในมาตรา 22 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถยนต์อื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจําทางรับจ้างรับคนโดยสารซึ่งเสียค่าโดยสารเป็นรายตัวตามรายทางในทางที่ได้รับอนุญาตให้มีรถยนต์โดยสารประจําทางหรือในเขตจากทางนั้นไม่เกินหนึ่งร้อยเมตร ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

หากมองในแง่กฎหมายแล้ว กฎหมายได้วางไว้เพื่อปกป้องผู้โดยสารกรณีที่มีผู้นำรถยนต์อื่นที่ไม่ใช่รถแท็กซี่มารับจ้างจนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งหน่วยงานรัฐจะไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ขณะที่กรณีที่เป็นรถแท็กซี่หากมีการร้องรียนก็จะสามารถดำเนินการตรวจสอบได้ รวมไปถึงการดำเนินการบทลงโทษเป็นรายๆ และรวมถึงการขึ้นบัญชีดำทั้งของกรมขนส่งและเข้าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

Thai-taxi-nlue-pink

ขณะที่มุมมองของ Uber มองในส่วนของประชาชนผู้ใช้รถสาธารณะที่ปัจจุบันไม่ได้ประสบปัญหารถแท็กซี่ไม่เพียงำอต่อความต้องการ แต่ประสบปัญหาในเรื่องของการให้บริการ ไม่ว่าจะเป้นเรื่องการเรียกแล้วไม่ไป ติดส่งรถ ติดเติมแก๊ส เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ใช้เบื่อกับการเรียกรถแท็กซี่ยังไม่รวมไปถึงมารยาทของผู้ขับอีกด้วย ระบบของ Uber จึงเป็นลักษณะการจับคู่ (Matching) หรือเป็นบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing)

แต่เหมือนผลกระทบจากความนิยมของ Uber กำลังสั่นคลอนระบบแท็กซี่ในเมืองไทย ร้อนถึงหน่วยงานรัฐอย่างกรมขนส่งที่ต้องออกโรงมาแก้ปัญหา เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการเปิดขึ้นทะเบียนผู้ขับขี่รถแท็กซี่ โดยยืนยันว่าผู้ที่ขึ้นทะเบียนผู้ขับรถแท็กซี่เท่านั้นจึงมีสิทธิ์ขับรถรับจ้างสาธารณะ ซึ่งการดำเนินธุรกิจของ Uber จึงเป็นการหักคำมั่นสัญญาของหน่วยงานรัฐที่มีให้ก่อนหน้านี้

โดยกรมขนส่งก็เริ่มเดินเกมรุก ด้วยการจัดหน้าม้าใช้ระบบ Uber ในการเรียกให้ไปส่งยังจุดหมายปลายทาง แต่เมื่อไปถึงก็ถูกจับกุมจำนวน 18 ราย ด้วยความผิด พรบ.รถยนต์ มาตรา 22 โดยต้องเสียค่าปรับเต็มเพดานคือรายละ 2,000 บาท ถึงขนาดที่ Uber ยืนยันสามารถดำเนินการได้ พร้อมให้ผู้ขับขี่ของ Uber ดำเนินการได้ตามเดิม โดยค่าปรับ Uber พร้อมชำระให้

ขบ.-1

ด้าน นายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า “กรมฯ เตรียมเสนอขอใช้ ม.44 เพื่อปิดแอปพลิเคชันเหล่านี้ที่ทำลายระบบขนส่งสาธารณะของไทย โดยต้องทำให้คนไทยรู้ว่าการใช้บริการ UBER เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะได้รับความคุ้มครองน้อยกว่ารถแท็กซี่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องปรับปรุงการบริการของแท็กซี่ให้น่าสนใจมากขึ้นสำหรับผู้ใช้โดยกรมฯ กำลังเตรียมศึกษารูปแบบการทำแอพพลิเคชั่นสำหรับเรียกรถแท็กซี่ เพื่อความสะดวกสบายในการเรียกรถแท็กซี่ ลดปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร”

DSC_8029_resize

พร้อมกันนี้ ผู้บริหารของ Uber ยังชี้แจงว่าอย่างเป็นทางการว่า “ตั้งแต่ Uber เปิดให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2557 Uber ได้เข้าหารือและชี้แจ้งกับกรมการขนส่งทางบกอย่างต่อเนื่องตลอดมาว่า Uber ไม่ใช่บริการรถแท็กซี่ แต่เป็นรูปแบบบริการใหม่ที่เรียกว่าบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันยังไม่ได้รองรับการให้บริการรูปแบบนี้ที่พึ่งพาเทคโนโลยีผ่านแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน และมีความแตกต่างจากการให้บริการขนส่งสาธารณะ จึงทำให้เราไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะได้ ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรมการขนส่งทางบกจะรองรับการให้บริการในรูปแบบใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการเดินทางที่เป็นรูปแบบบริการร่วมเดินทาง”

และเพื่อสร้างกฎระเบียบใหม่ ที่จะกลายเป็นอีกทางเลือกใหม่ด้านการเดินทางที่เชื่อถือได้และอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทย  Uber ขอเชิญชวนสาธารณชนร่วมสนับสนุน การร่วมเดินทาง ผ่านการเรียกร้องเเละลงชื่อสนับสนุน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การเป็นประเทศที่เปิดรับนวัตกรรม ได้ที่ https://action.uber.org/th/

la-fi-tn-uber-panic-button-20150213

ผลสรุปครั้งนี้ยากเกินกว่าแค่การเจรจา เพราะนั่นหมายความว่าต้องเข้าไปแก้ไขที่ตัวกฎหมาย นั่นคือต้องนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อนำปัญหานี้เข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแก้กฎหมาย แต่ยังไม่เท่ากับภาพลักษณ์ที่ต้องการให้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี แต่ภาครัฐกลับปฏิเสธเทคโนโลยี

 

Copyright © MarketingOops.com


  • 19
  •  
  •  
  •  
  •