ปั้นผู้หญิงสู่สายงานไอที Microsoft ผุด DigiGirlz ครั้งแรกของไทย กระตุ้นเด็กเรียน STEM

  • 15
  •  
  •  
  •  
  •  

DigiGirlz_3

เพราะวัยรุ่นเป็นช่วงอายุที่ถูกชักจูงได้ง่าย ทั้งจากวัตถุหรือกิจกรรมที่ล่อตาล่อใจ จนอาจทำให้เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงนั้น อาจถูกชักจูงไปในทางที่ผิดจนละเลยความสำคัญในการเล่าเรียนได้… Microsoft จึงจัดกิจกรรม DigiGirlz 2017 (ดิจิเกิร์ลซ์) ขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย เพื่อสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงวัยมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลายตระหนักถึงประโยชน์ของวิชา STEM หรือ สะเต็มศึกษา อันได้แก่ Science (วิทยาศาสตร์) , Technology (เทคโนโลยี) , Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) , Mathematics (คณิตศาสตร์) โดยกิจกรรมดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ทั้งกิจกรรม ความรู้ และเวิร์กช็อป

“ในประเทศไทยมีผู้หญิงทำงานในอุตสาหกรรมไอทีประมาณ 40% ของตำแหน่งงานทั้งหมด โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานฝ่ายขายและการตลาด ขณะที่จำนวนผู้หญิงทำงานด้านคอมพิวเตอร์ โค้ดดิ้ง และสายงานด้านเทคโนโลยียังคงมีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากผู้หญิงส่วนมากไม่สนใจเลือกเรียนสะเต็มศึกษา เห็นเป็นเรื่องน่าเบื่อและดูไม่สวยงามเหมาะกับผู้หญิง ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าหากเรายังไม่เปลี่ยนมุมมองว่าสะเต็มศึกษาเป็นวิชาเฉพาะของผู้ชาย เพราะมุมมองผิดๆ เช่นนี้จะส่งผลให้ผู้หญิงเสียเปรียบในตลาดแรงงานในอนาคต Microsoft จึงขอเป็นผู้นำในการสานต่อภารกิจดังกล่าว เพื่อสร้างโอกาสอันเท่าเทียมกันของทุกคนบนโลกใบนี้” ชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวคิดในการจัดกิจกรรม DigiGirlz 2017

DigiGirlz_4

สำหรับกิจกรรม DigiGirlz 2017 มีเด็กผู้หญิงกว่า 120 คน ในช่วงอายุ 12-18 ปี เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อรับฟังคำแนะนำจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิชาสะเต็มศึกษา พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเห็น และทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ สาธิมา โล่ห์วัชรสันติ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด สาวเก่งที่นำน้องๆ ร่วมกิจกรรมช่วง Design Thinking เพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ , ดร.ธีรณี อจลากุล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และนารีรัตน์ แซ่เตียว ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท InsightEra โดยพวกเธอได้เป็นตัวแทนถ่ายทอดถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนด้านสะเต็มศึกษา รวมถึงปัญหาหรืออุปสรรคในสายงานดังกล่าวเพื่อให้คำแนะนำกับน้องๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ น้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวยังได้ มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์การฝึกโค้ดดิ้งในกิจกรรม Hour of Code เพื่อเสริมความสนใจให้กับวิชาวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะในช่วงท้ายของกิจกรรมยังมีช่วงนักเรียนนักประดิษฐ์ (Student Innovator) ให้น้องๆ ที่ผ่านประสบการณ์เวทีการแข่งขันด้านสะเต็มในระดับประเทศ มาเล่าประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นให้เด็กๆ ที่ร่วมกิจกรรมในวันนี้ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ อีกหลายคน.

 


  • 15
  •  
  •  
  •  
  •