ชุมชนคลองเตยอาจเรียกได้ว่าเป็นชุมชนแออัดที่สุดในกรุงเทพฯ ตามที่หลายคนคิด และในชุมชนแออัดที่คลองเตยนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า คุณภาพชีวิตอยู่ในระดับต่ำ ทั้งจากปัญหาเรื่องของยาเสพติด ความยากจน การศึกษาและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จนหลายหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้ชุมชนดังกล่าวมี “โอกาส” ในการพัฒนา
หลายองค์กรมีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือชุมชนดังกล่าวในการพัฒนา แต่ด้วยปัญหาที่สะสมมานาน รวมถึงความใหญ่โตของชุมชนทำให้ความช่วยเหลือดังกล่าวไม่ทั่วถึง หรือบางครั้งก็เป็นเพียงโครงการชั่วคราว ส่งผลให้ชุมชนคลองเตยมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการพัฒนาเพียงบางส่วนเท่านั้น อีกทั้งชุมชนคลองเตยยังมักจะเกิดปัญหาอัคคีภัยอยู่บ่อย และเพราะความแออัดทำให้ความช่วยเหลือเข้าถึงได้ยากมาก
เมืองไทยประกันภัยในฐานะที่มีผู้บริหารดำรงตำแหน่งประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง Harvard Graduate School of Design และศิษย์เก่า Harvard GSD ในประเทศไทย สำรวจและวิจัยพื้นที่ชุมชนคลองเตย ในโครงการ “คลองเตยดีดี” เพื่อพัฒนาให้เกิดความเท่าเทียมและความมั่นคง พร้อมมุ่งสร้างให้ชุมชนคลองเตยกลายเป้นโมเดลเพื่อขยายสู่การพัฒนาชุมชนอื่นทั่วประเทศ
คุณนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย
จำกัด (มหาชน) และ ประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ เอฟ.ซี. หรือ มาดามแป้ง ชี้ว่า เมืองไทยประกันภัยได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการกีฬา ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงผลักดันให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในฐานะที่เมืองไทยประกันภัยเป็นผู้สนับสนุนหลักของสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ ทำให้ได้ใกล้ชิดกับชาวคลองเตยเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน การพัฒนาพื้นที่คลองเตยจึงเป็นอีกหนึ่งพันธกิจที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
จากการสำรวจแล้วพบว่า ปัญหาหลักๆ ของชุมชนคลองเตยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ทั้งปัญหาทางกายภาพ โดยเฉพาะเรื่องของขยะที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด รองลงมาคือเรื่องของไฟส่องสว่างในชุมชนที่ยังขาดแคลน และเรื่องของของอัคคีภัยที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่วนเป็นเพราะความแออัดหนาแน่นของชุมชนที่ทำให้เกิดการลุกลามอย่างรวดเร็ว ประกอบกับความคับแคบของชุมชนทำให้การดับเพลิงเป็นไปได้ยาก
และปัญหาทางสังคม ซึ่งปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในส่วนนี้คือเรื่องของความไม่มั่นคงของที่อยู่อาศัย การศึกษาก็ยังมีปัญหาอยู่ในระดับสูง นั่นจึงก่อให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์แบบไม่พร้อม และก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ขณะที่ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมดูจะลดลงแต่ยังไม่หมดไปจากชุมชน โดยเป็นการเก็บข้อมูลจากการสอบถามชาวชุมชนคลองเตย
เพราะปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาทางสังคมใหญ่ที่สุด เมืองไทยประกันภัยจึงได้ร่วมมือกับ Harvard Graduate School of Design ซึ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัย เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนคลองเตยให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน โดยจะเข้ามาทำการสำรวจและวิจัยถึงความต้องการของชุมชน ภายใต้แนวคิด The NewLandscapes of Equity and Prosperity
โดยมาดามแป้งชี้ว่า คลองเตยดีดีจึงเป็นการร่วมมือกันในแบบ “East Meets West” โดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมของ Harvard Graduate School of Design ผสมผสานกับองค์ความรู้และประสบการณ์ในพื้นที่ของชาวคลองเตย บวกกับความตั้งใจของเมืองไทยประกันภัยที่ได้คลุกคลีกับชาวชุมชนคลองเตยมาระยะเวลาหนึ่งเพื่อวางแผนพัฒนาชุมชนคลองเตย
ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี โดย Harvard GSD จะส่งคณาจารย์และนักศึกษามาจัดตั้งสตูดิโอออกแบบในกรุงเทพมหานคร โดยจะเริ่มวิจัยตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน บ้านเรือน สิ่งก่อสร้างเชิงธุรกิจ โครงสร้างเชิงระบบนิเวศน์ ภูมิทัศน์ รวมถึงพื้นที่สาธารณะรูปแบบอื่นๆ ในเขตคลองเตย นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากศิษย์เก่า Harvard GSD ในประเทศไทยเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
ด้านเมืองไทยประกันภัยจะให้การสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงลงพื้นที่เพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับชุมชนต่างๆ ในพื้นที่คลองเตย เพื่อให้การดำเนินงานวิจัยดังกล่าวประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ในการเพิ่มมาตรฐานความเป็นอยู่ คาดว่าหากสำเร็จ “โมเดลคลองเตย” จะเป็นต้นแบบเพื่อส่งต่อโอกาสไปยังชุมชนอื่นๆ
มาดามแป้งยังชี้ว่า จากการที่ได้มีโอกาสเข้ามาดูแลสโมสรฟุตบอลการท่าเรือในฐานะประธานสโมสรฯ ซึ่งสนามกีฬาฝึกซ้อมก็อยู่ใกล้กับชุมชนคลองเตย ทำให้รู้จักและคุ้นเคยกับชุมชนจนทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วชุมชนคลองเตยสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ใครจะเชื่อว่าชุมชนคลองเตยมีระบบจัดเก็บและคัดแยกขยะของชุมชน มีหน่วยดับเพลิงในชุมชน มีการจัดการระบบต่างๆ ที่ทำขึ้นโดยชาวชุมชนเอง และชาวชุมชนคลองเตยก็พร้อมที่จะพัฒนาให้พื้นที่ในชุมชนดีขึ้น
#คลองเตยดีดี #เมืองไทยประกันภัยXฮาร์วาร์ด
#เมืองไทยประกันภัย #เชื่อแป้ง #เชื่อเมืองไทยประกันภัย