จากกระแสสินทรัพย์ดิจิทัลที่หลายบริษัทเริ่มทยอยออกบริการรับชำระค่าสินค้าต่าง ๆ ได้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เล็งเห็นว่า อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในวงกว้างนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน
ล่าสุด ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์ในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อไม่ให้สนับสนุนหรือส่งเสริมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตามที่ ธปท. และ ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกันและเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแล
โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ต้องไม่ให้บริการที่เป็นการสนับสนุน หรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การโฆษณา การชักชวน หรือแสดงตนว่า พร้อมให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการแก่ร้านค้า หรือการจัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการ การเปิดกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น
รวมถึงกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า ลูกค้าใช้บัญชีที่เปิดไว้เพื่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้บัญชีผิดวัตถุประสงค์ และไม่ตรงกับเงื่อนไขการให้บริการ รวมถึงระงับการให้บริการชั่วคราว หรือ ยกเลิกการให้บริการ
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ เช่น
• ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา
• ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์
• ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือ
• การถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในคริปโทเคอเรนซี่ ในช่วงนี้อาจจะต้องพิจารณาการลงทุน หรือการใช้บริการอย่างรอบครอบ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะเป็นการผิดกฎเกณฑ์ที่ทาง ก.ล.ต.กำหนดไว้นั่นเอง