เปิดเทรนด์ E-Commerce 2021 สงคราม “ราคา” ยังไม่พอ ต้องนำเสนออย่าง “สร้างสรรค์”

  • 722
  •  
  •  
  •  
  •  

 

แม้ว่าธุรกิจ E-Commerce จะมีมานานแล้วในประเทศไทย แต่ต้องยอมรับว่าในปี 2020 ที่ผ่านมา จากปัญหาโรคระบาด #โควิด19 ทำให้เกิดการเติบโตในธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปีทองของ E-Commerce ก็ว่าได้ ซึ่งจากความสำคัญของธุรกิจนี้เอง ในงาน #CTC2021 (Creative Talk Conference) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2021 ที่จัดแบบ Virtual Conference ก็มีการกล่าวถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ E-Commerce ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่น่าสนใจ ภายใต้หัวข้อ E-Commerce Trends 2021 โดย ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา CEO and Co-Founder Priceza และแบ่งกระแสที่น่าสนใจของการเติบโตในธุรกิจ E-Commerce ออกเป็น 5 เทรนด์ ดังนี้

 

#Trend1 E-Commerce Boom สร้างการแข่งขันที่สูงขึ้น

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มูลค่าตลาด E-Commerce ในปี 2020 มีมูลค่า 294,000 ล้านบาท โดยในปี 2019 อยู่ที่ 163,000 ล้านบาท เท่ากับว่า มีการเติบโตสูงขึ้นถึง 81%

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสินค้าที่เข้ามายังตลาด E-Marketplace (เฉพาะ Lazada  Shoppee  JD Central) เพิ่มสูงขึ้นถึง 32% โดยในปี 2019 มี 174 ล้านชิ้น แต่ปี 2020 มีสินค้า 230 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นถึง 32% ในขณะที่มีร้านค้า (ผู้ขาย) เพิ่มสูงมากขึ้นถึง 50% โดยแบ่งเป็น ร้านค้าในประเทศมี 37% และร้านค้าจากต่างประเทศ 63% จึงทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงมากขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าจากประเทศจีน ที่มีราคาที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย ไม่อาจสู้ในเรื่อง “ราคา” ได้ คำแนะนำคือ ควรที่จะใส่ “ความคิดสร้างสรรค์” ลงไปในสินค้าด้วย จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในการแข่งขันที่ E-Marketplace นี้ได้

#Trend2 Direct to Consumer แบรนด์มุ่งสู่ออนไลน์มากขึ้น

ในอดีตแม้จะมีการจำหน่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์อยู่บ้างแล้วในแบรนด์และธุรกิจต่างๆ แต่ก็ไม่ได้มากอะไร แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 เม็ดเงินจำนวนมากถูกชิพมายังช่องทางออนไลน์มากขึ้นอย่างทันที ในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น การเปิดเว็บออนไลน์เอง การใช้โซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่ E-Marketplace ทั้งนี้พบว่า มีร้านค้าและแบรนด์มุ่งสู่ตลาดอีมาร์เก็ตเพิ่มขึ้น (นับบน LazMall และ ShopeeMall) ถึง 46% โดยในปี 2019 มี 3,400 ร้านค้า แต่ในปี 2020 มีสูงถึง 5,000 ร้านค้า

สำหรับเหตุผลที่แบรนด์เริ่มทำการตลาดแบบ Direct to Consumer (D2C) บนออนไลน์มากขึ้น เพราะว่า

  • แบรนด์ต้องการสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้า
  • ตลาด E-Commerce ได้รับการพิสูจน์ว่ามีแนวโน้มที่เติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 และในปีนี้การกลับมาในระลอกใหม่ก็คาดว่าการการค้าออนไลน์ของไทยจะเติบโตขึ้นอีกครั้ง
  • ลูกค้าต้องการที่จะซื้อตรงจากแบรนด์ในช่องทางออนไลน์ เพราะมั่นใจในเรื่องความเป็นของแท้

 

#Trend3  เปลี่ยนจากสินค้า “รอการค้นหา” เป็นสินค้า “เข้าหาลูกค้า”  

จากอดีตที่ผู้บริโภคเข้ามาค้นหาสินค้า ได้ถูกเปลี่ยนเป็น “สินค้า” เข้าหาผู้บริโภคเองมากขึ้น โดยพบว่า ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัดสินใจซื้อสินค้าเพราะมีสินค้าและโฆษณาที่พวกเขาต้องการเข้ามาถึงตัวเขาถึง 53% ในขณะที่การเสิร์ชเพื่อค้นหาสินค้าและตัดสินใจซื้อมีเพียงแค่ 35% เท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่า 40% นักช้อปออนไลน์คนไทย ซื้อสินค้าผ่าน Social Media  ซึ่งมากกว่าในหลายๆ ประเทศ มากกว่าสหรัฐฯ อินโดนีเซีย และอินเดีย เป็นต้น

#Trend4 จาก Influencer Marketing สู่ Influencer Commerce

เป็นที่ทราบดีกว่ากลยุทธ์ Influencer ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่เพียงแค่การทำการตลาดกับ Influencer หรือที่เรียกว่า Influencer Marketing ไม่อาจเพียงพออีกต่อไป แต่ Influencer ยังจะต้องช่วยปิดการขายได้ด้วย ซึ่งเรียกว่า Influencer Commerce ซึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องอย่างมาก ได้แก่ ประเทศจีน โดยเฉพาะกลยุทธ์ KOL ที่ได้รับความนิยมสูงมากที่สุดในบรรดากลยุทธ์การตลาดออนไลน์ของจีน

#Trend5 Convergence of Platforms

การที่แพล็ตฟอร์มเกิดการขยายตัวออกจากจุดเริ่มต้นเดิมของตัวเอง ไปสู่การเป็นแพล็ตฟอร์มอื่นๆ ได้  เช่น การที่ Google ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เสิร์ชเอนจิ้น แต่ยังทำงานได้ทั้งแอดเวอร์ไทซิ่ง, อีคอมเมิร์ซ, เพยเมนต์ และลอจิสติก หรือแม้แต่ ธนาคารไทย ที่ไม่ได้หยุดแค่การเป็นฟินเทค แต่ยังก้าวสู่การเป็น ฟู้ดเดลิเวอร์รี่ด้วย เป็นต้น

ทั้งหมดนี้จะเห็นแนวโน้มการเติบโตที่มีมากขึ้นในปี 2020 ที่ผ่านมา และจะมีมากขึ้นในปี 2021 นี้อย่างแน่นอน รวมทั้งจะพัฒนาต่อไปอีกในอนาคต ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่แบรนด์ นักการตลาด และนักโฆษณาจะต้องอัปเดทเทรนด์ E-Commerce นี้ให้ทัน


  • 722
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!