กรีนอีคอมเมิร์ช ช๊อปออนไลน์หัวใจสีเขียว

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน ทั้งสภาพอากาศที่เลวร้ายผิดฤดูกาล ความรุนแรงของภัยแล้งและน้ำท่วมที่มากขึ้น มีสาเหตุหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผู้บริโภคทั่วโลกได้ปรับตัวหันมาใส่ใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือสินค้าสีเขียว (Green Products and Services) มากขึ้น สำหรับในโลกออนไลน์กระแสกรีนอีคอมเมิร์ชเริ่มมาแรงเช่นเดียวกัน

เว็บไซต์ชื่อดังอย่าง amazon.com รุกตลาดสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าแรกๆตั้งแต่ปี 2550 โดยเปิดหน้าเว็บเฉพาะชื่อว่า Amazon Green รวบรวมและขายสินค้าที่ได้รับการรับรองประเด็นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น สินค้าอินทรีย์ สินค้าที่รีไซเคิลได้ สินค้าที่ประหยัดพลังงาน สินค้าที่ประหยัดน้ำ โดยมีหมวดสินค้าหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ ของใช้สำหรับเด็ก หนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ของขวัญ ของแต่งบ้าน สินค้ากีฬา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีข้อมูลคำแนะนำสำหรับผู้บริโภคเพื่อให้เห็นความสำคัญ สร้างความรู้ความเข้าใจ และเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคมายังสินค้าสีเขียวมากขึ้น ผลการสำรวจล่าสุดในเดือนเมษายน 2554 ที่ผ่านมาพบข้อมูลที่น่าตื่นเต้นมากว่า ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเว็บไซต์ amazon.com มากขึ้น โดยบางพื้นที่มีผู้ซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสินค้าปรกติ ซึ่งเป็นการยืนยันได้อย่างดีว่าโลกออนไลน์พร้อมต่อการปรับตัวสู่กระแสกรีนอีคอมเมิร์ช
ในฝั่งเอเชีย การประชุม เอเปคอีคอมเมิร์ช (APEC e-Commerce Business Alliance & Analysys International) ในเดือนมีนาคม 2554 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ได้มีการหยิบประเด็นด้านการส่งเสริมอีคอมเมิร์ชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาพูดคุยในวงกว้าง

โอกาสทางการตลาดของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ชไทย ยังเปิดกว้างทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะภายในประเทศมีความต้องการมหาศาลจากภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รายงานจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 กำหนดให้ในปี 2554หน่วยงานภาครัฐระดับกรมทั้งหมด จำนวน 170 หน่วยงาน ต้องเข้าร่วมดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมูลค่าการจัดซื้อสูงหลายหมื่นล้านบาทในแต่ละปี

เว็บไซตื Thaiecomarket.com

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็เป็นหน่วยงานแรกๆของไทย ที่ได้เริ่มพัฒนาเว็บไซต์ที่รวบรวมสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมชื่อว่า www.thaiecomarket.com โดยจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อให้สืบค้นสินค้าหรือบริการ ตอบสนองความต้องการในการซื้อสินค้าของภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป  เช่น กระดาษคอมพิวเตอร์ กระดาษชำระ กล่องใส่เอกสาร ซองบรรจุภัณฑ์ ตลับหมึก ปากกาไวต์บอร์ด ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด สีทาอาคาร หลอดฟลูออเรสเซนต์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ เครื่องเรือนเหล็ก แบตเตอรี่ปฐมภูมิ แฟ้มเอกสาร หรือแม้กระทั่งบริการโรงแรมสีเขียว โดยอ้างอิงมาตรฐานสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ ฉลากเขียว โรงแรมใบไม้เขียว และผลิตภัณฑ์ Green Products (สัญลักษณ์ G) การสั่งซื้อสินค้าหรือบริการนั้น ผู้บริโภคสามารถติดต่อโดยตรงกับผู้ผลิตตามหมายเลขโทรศัพท์ในฐานข้อมูล และผู้ประกอบการสามารถสมัครสมาชิกและส่งสินค้าของตนเข้าสู่เว็บไซต์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งแน่นอนว่าสินค้าหรือบริการนั้นต้องมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เคล็ดลับสำคัญของผู้ประกอบการที่จะก้าวสู่ตลาดกรีนอีคอมเมิร์ช คือจะต้องมีใจรักสิ่งแวดล้อมมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตหรือเสาะหาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาขาย รวมถึงต้องมีความรู้ด้านมาตรฐานสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ความรู้เหล่านี้หาไม่ยากในอินเตอร์เน็ตหรือที่เว็บไซต์ www.thaiecomarket.com ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็มีข้อมูลเช่นกัน

ในฝั่งของผู้บริโภคไม่เพียงแต่การเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่การ “ช๊อปออนไลน์” ยังช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย  ผลการสำรวจของ Interactive Media in Retail Group (IMRG) พบว่า ผู้บริโภคในประเทศอังกฤษประมาณ 73% ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นกว่าปีก่อนถึง 25% คิดว่าการซื้อสินค้าออนไลน์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าซื้อสินค้าที่ร้านค้า เหตุผลหลักก็คือการซื้อสินค้าออนไลน์คือสะดวกและไม่ต้องเดินทางนั่นเอง
วันนี้ ทั่วโลกพร้อมสู่กระแส “กรีนอีคอมเมิร์ช” แล้วคุณและเมืองไทยล่ะพร้อมหรือยัง

บทความโดย พงษ์ชัย เพชรสังหาร
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทรคอน (เว็บไซต์) จำกัด
info@treconwebsite.com


  •  
  •  
  •  
  •  
  •