ด้วยมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซประเภทอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่มีราวๆ 3 หมื่นล้าน “ดิว – ธนิกานต์ พิริยะวณิชย์ เจ้าของร้าน Omocha” มองเห็นช่องว่างของตลาดสินค้าตกแต่งบ้านบนออนไลน์ จึงเลือกจับสินค้าประเภทของใช้ภายในบ้าน และของตกแต่งบ้านสไตล์ญี่ปุ่น ที่เรียกว่าซากะ (Zakka) ไม่ว่าจะเป็นงานไม้ งานเซรามิก ของตกแต่งกระจุกกระจิก ไปจนถึงต้นไม้ขนาดเล็ก อย่างต้นกระบองเพชรและไม้อวบน้ำ มาช่วยเพิ่มสีสันการใช้ชีวิตในแบบที่ดูแล้วเรียบง่ายและสบายตา
เจาะตลาดสินค้าแต่งบ้าน
ตอบโจทย์สไตล์คนเมือง
ธนิกานต์ เล่าว่า Omocha เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน ขณะนั้นตนกำลังศึกษาปริญญาโทและต้องการจะมีธุรกิจเป็นของตนเองเพื่อสร้างรายได้ระหว่างเรียน ด้วยความที่ตนชื่นชอบในของตกแต่งบ้าน โดยเฉพาะงานไม้สไตล์ซากะ ที่มีดีไซน์เรียบง่ายแต่กลับมีเสน่ห์น่าสนใจ ด้วยโทนสีเอิร์ธโทน ที่ช่วยให้รู้สึกสบายใจและอบอุ่นทุกครั้งที่ได้มอง ทำให้เธอเลือกจับธุรกิจนี้ โดยมีสินค้าทั้งหมด 3 หมวด ได้แก่ ของใช้ในบ้าน ของแต่งบ้าน และการ์เดน ในราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 20 บาท ไปจนถึง 2 พันบาท
“เมื่อ 3 ปีก่อน คนยังไม่ค่อยรู้จักสินค้าซากะมากเท่าไรนัก ซึ่งคำว่าซากะนอกจากจะมีความหมายว่าจิปาถะแล้ว ยังหมายถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวที่ช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น ซึ่งในไทยเราจะเรียกสินค้ากลุ่มนี้ว่า สินค้าไลฟ์สไตล์ โดยหลังจากที่กระแสฮิปเตอร์ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจสินค้าไลฟ์สไตล์นี้มากขึ้น โดยลูกค้าเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมัธยมฯ ปลายไปจนถึงวัยทำงาน นอกจากนี้เรายังมีลูกค้าในกลุ่มร้านกาแฟ รวมไปถึงโรงแรมต่างๆ อีกด้วย” ธนิกานต์ กล่าว
ใช้ถ่ายภาพดึงเอกลักษณ์สินค้า
รับพฤติกรรมชอบแชะ-แชร์
ด้วยความที่มีครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับสวนไม้อวบน้ำ และแคคตัสที่จังหวัดระยอง ธนิกานต์ จึงมีความคิดที่จะนำกระถางต้นไม้ ตุ๊กตาเซรามิก เข้ามาตกแต่งร่วมกัน ประกอบกับการใช้ศิลปะการถ่ายภาพเข้ามาช่วยดึงเอกลักษณ์ของสินค้า พร้อมทั้งนำเสนอการใช้งานที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การนำต้นไม้มาปลูกในกระถางพอร์ซเลน การจัดวางสินค้างานไม้ในแนวมินิมอล เป็นต้น
ธนิกานต์ เล่าว่า ช่วงแรก 3 เดือนหลังจากเปิดร้านบนเฟซบุ๊ก ถือเป็นช่วงที่ยากที่สุดในการทำธุรกิจ เพราะเราขายสินค้าไม่ได้เลย เนื่องจากสินค้ายังไม่เป็นที่รู้จักของตลาด ทำให้เราต้องหาวิธีที่จะทำให้ผู้บริโภครู้จักสินค้าของเรามากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้มีการซื้อโฆษณา ซึ่งจากการศึกษาพบว่า กลุ่มเป้าหมายของเรามีพฤติกรรมชื่นชอบถ่ายภาพ และแชร์ลงบนโซเชียลมีเดีย เราจึงปรับปรุงเรื่องภาพถ่ายที่ใช้นำเสนอสินค้า และคอนเทนต์บทความต่างๆ ให้น่าสนใจมากขึ้น รวมไปถึงหาสินค้าที่มีความแปลกใหม่มาเพิ่มทางเลือกและความหลากหลาย จนทำให้ร้านเริ่มเป็นที่รู้จักและเกิดกระแสบอกต่อมากขึ้น และได้ขยายช่องทางจำหน่ายไปสู่อินสตาแกรม เว็บไซต์ในเวลาต่อมา และล่าสุดวางจำหน่ายสินค้าบนแอพพลิเคชั่น Shopee โดยมีสินค้าราวๆ 500 ชิ้น
เพิ่มคอนเทนต์วิดีโอ
เตรียมขยายหมวดหมู่คิทเช่น
ปัจจุบันพบว่า ช่องทางที่ได้รับผลตอบรับดีที่สุดคือ อินสตาแกรม เนื่องจากผู้บริโภคชื่นชอบดูภาพถ่ายสินค้า ซึ่งบนอินสตาแกรมจะมีการใส่แฮชแท็กในคำบรรยายภาพที่ตรงกับประเภทของกลุ่มสินค้า เช่น #haworthiathailand #succulentthailand เพื่อรวบรวมภาพทั้งหมดให้ง่ายต่อการค้นหา สำหรับกลุ่มคนที่สนใจและมีความชื่นชอบในสินค้าประเภทนี้
“นอกจากภาพถ่ายแล้ว จะเห็นว่า ปัจจุบันคอนเทนต์วิดีโอกำลังเป็นที่นิยม ทำให้เราเริ่มผลิตวิดีโอที่เป็นคลิปสั้นๆ โดยมีความยาวไม่เกิน 10 วินาที เช่น วิดีโอแนะนำสินค้า วิดีโอนำเสนอไอเดียแต่งห้อง วิดีโอสอนการปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นการนำต้นไม้ลงดิน วิธีการผสมเกสร ไปจนถึงวิธีการขยายพันธ์ เป็นต้น เพื่อดึงดูดความสนใจและช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจง่ายขึ้น” ธนิกานต์ กล่าว
ส่วนแผนการขยายธุรกิจในอนาคต ธนิกานต์ มองว่า นอกจากการนำเสนอสิ่งที่ดีให้กับลูกค้าแล้ว ยังจะพัฒนาธุรกิจไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มจำนวนสินค้าใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจและเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น เช่น สินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว งาน DIY รวมไปถึงสินค้าสำหรับห้องครัว ห้องน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เตรียมที่จะขยายไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย
สามารถติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร digital Age ฉบับที่ 214 หรือ www.digitalagemag.com