รู้จักกติกาหาเสียงออนไลน์ ชอบกดไลค์ ใช่กดแชร์ ไร้ขัดแย้ง

  • 33
  •  
  •  
  •  
  •  

[บทความนี้เป็น Advertorial]

ในศตวรรษที่ 21 “โซเชียลมีเดีย” กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางการรับรู้ข่าวสารที่สำคัญของคนในยุคปัจจุบัน เนื่องจากสามารถเข้าถึงข่าวสารได้สะดวกและรวดเร็ว ทว่าการเข้าถึงข่าวสารที่สะดวกรวดเร็วเช่นนี้ มักเกิดปัญหาในการคัดกรองข่าวสารที่บิดเบือนและไม่เป็นความจริง (Fake News) ที่จะทำให้การรับรู้ของผู้รับข่าวสารเกิดความคลาดเคลื่อน รวมไปถึงการใช้ถ้อยคำสุ่ม เสี่ยง ปลุกระดมที่มีโอกาสบานปลายจนนำไปสู่ความขัดแย้ง

Print

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 ที่จะถึงนี้ ได้มีการกำหนดกติกาเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไว้ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 โดยระบุช่องทางการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้ ได้แก่ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ยูทูป แอปพลิเคชัน อีเมล เอสเอ็มเอส และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท โดยสามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรค นโยบาย คติพจน์ คำขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ทั้งนี้จะต้องมีการระบุ ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้ด้วย โดยผู้สมัครจะต้องแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ส่วนพรรคการเมืองจะต้องแจ้งรายละเอียดต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง

สำหรับ “กฎเหล็ก” ในการหาเสียงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ คือ ห้ามผู้สมัครพรรคการเมือง หรือผู้ใด นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง ห้ามผู้ประกอบอาชีพหรือเจ้าของกิจการเกี่ยวกับรายการทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณาใช้ความสามารถหรือวิชาชีพเพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงแก่ผู้สมัคร ห้ามใช้ถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม หากมีการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลเหล่านั้นได้ ในขณะที่ “ชาวเน็ต” ทั่วไป ก็ยังสามารถใช้งานสื่ออิเล็กทรอนิกส์และโซเชียลมีเดียได้ตามปกติเพียงแต่ต้องระมัดระวัง การแสดงความคิดเห็น การกดไลค์ กดแชร์ ข้อมูลข่าวสารที่อาจบิดเบือนและไม่เป็นความจริง หรือการใช้ถ้อยคำรุนแรง หยาบคาย สุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560

#สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดย #กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ขอรณรงค์ให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนร่วมตระหนักและทำความเข้าใจเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งสำคัญในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เป็นการเลือกตั้งที่สร้างสรรค์ ทั้งในพื้นที่ของโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนจริงบนสื่อออนไลน์

[บทความนี้เป็น Advertorial]


  • 33
  •  
  •  
  •  
  •