จับตาดู! บทบาท ‘อินเดีย’ ผู้ผลิตวัคซีนปริมาณมากสุด-ถูกสุดในโลก ร่วมพัฒนาวัคซีนต้าน COVID-19 กับหลายประเทศ

  • 3
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ก่อนหน้านี้มีหลายๆ ประเทศที่ประกาศว่าประสบความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ไปในขั้นแรกแล้ว อย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ในวันนี้ (27 เม.ย.63) ยอดผู้ที่ติดเชื้อทั่วโลกรวมกันกว่า 2.98 ล้านคนแล้ว และคงพุ่งแตกระดับ 3 ล้านคนอีกไม่นาน

ท่ามกลางความคาดหวังของคนทั้งโลกที่จะเห็นวัคซีนที่ใช้ต้านไวรัสกับคนได้จริงๆ ยิ่งคาดหวังมากขึ้นไปอีก หลังจากที่ ‘ไมค์ ปอมปีโอ’ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยว่า “อินเดียและสหรัฐฯ กำลังทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาวัคซีนต่อต้าน COVID-19”

อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะยังมีหลายๆ คนที่สงสัยว่า ทำไมต้องเป็นอินเดีย? รู้หรือไม่ว่าในความเป็นจริงแล้ว ทั้งอินเดียและสหรัฐฯ ต่างก็มีการดำเนินโครงการพัฒนาวัคซีนร่วมกันมานานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว อีกทั้งยังได้รับการยอมรับในระดับสากลด้วย

ตัวอย่างเช่น วัคซีนไข้เลือดออก, โรคลำไส้, โรคไข้หวัดใหญ่ และวัณโรค เป็นต้น ขณะเดียวกันวัคซีนสำหรับบางโรคยังก็ยังคงดำเนินการคิดค้นและทดสอบอย่างต่อเนื่อง

 

อินเดียหนึ่งในผู้ผลิตยาวัคซีนทั่วไปรายใหญ่ของโลก

ความเป็นจริงที่ว่า ‘อินเดีย’ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตยาและวัคซีนทั่วไปรายใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีบริษัทยาและเทคโนโลยีชีวภาพจำนวนมากเพียงพอในอินเดีย เป็นความจริงที่ทั่วโลกยอมรับอย่างเป็นทางการ ขณะที่ในเวลานี้มีบริษัทอินเดียเกือบ 10 แห่งที่เร่งคิดค้นและทดสอบวัคซีนสำหรับต้านไวรัสชนิดนี้

หนึ่งในนั้นก็คือ สถาบันซีรั่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) ก่อตั้งมาแล้ว 53 ปี เป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก มีจำนวนวัคซีนที่ผลิตและจำหน่ายทั่วโลก เฉลี่ย 1.5 พันล้านโดสต่อปี

 

Credit Photo : Sonia Dhankhar/Shutterstock

 

โดยในทุกๆ ปีส่วนใหญ่สินค้าจะถูกส่งไปออกมาจากโรงงานทั้ง 2 แห่งในเมืองปูเน่ทางตะวันตกของอินเดีย (มีโรงงานขนาดเล็กอีก 2 แห่งในเนเธอร์แลนด์และสาธารณรัฐเช็ก)

ความน่าสนใจของ สถาบันซีรั่มนี้ ก็คือ ที่ผ่านมามีการจัดหาวัคซีนมากถึง 20 ชนิด และส่งออกไปทั่วโลกกว่า 165 ประเทศในทุกๆ ปี โดยราวๆ 80% ของวัคซีนที่ถูกส่งออกไป เฉลี่ยแล้วมีราคาเพียง 50 เซนต์ต่อโดสเท่านั้น (ราว 16 บาท)

เราสามารถพูดได้ว่า “วัคซีนจากอินเดียเป็นวัคซีนที่ถูกที่สุดในโลก”

ทั้งนี้ สถาบันซีรั่มแห่งนี้ ได้ร่วมพัฒนาและคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสกับบริษัท Codagenix เป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพอเมริกัน เพื่อพัฒนาวัคซีนประเภท “live attenuated” เป็น 1 ใน 89 วัคซีนต้นแบบที่ใช้ต่อต้านเชื้อไวรัส COVID-19 รับรองและยืนยันจาก องค์การอนามัยโลก (WHO)

ข่าวที่น่าตื่นเต้นอีกหนึ่งเรื่อง สถาบันซีรั่มแห่งอินเดียวางแผนที่จะทำการทดลองวัคซีน COVID-19 ชนิดนี้ในสัตว์ (หนูและลิง) ภายในปลายเดือนเม.ย. และอีกครั้งในเดือน ก.ย. วางแผนที่จะเริ่มการทดลองในมนุษย์นั่นเอง ‘Adar Poonawalla’ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสถาบันเซรัมแห่งอินเดีย เป็นผู้เปิดเผย

นอกจากนี้ สถาบันเซรั่มแห่งนี้ ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เพื่อช่วยผลิตวัคซีนต้นแบบต้าน COVID-19 อีกตัวหนึ่งชนิดที่ต่างออกไป ซึ่งเริ่มการทดสอบในมนุษย์เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา หากผลการทดสอบเป็นไปในทางบวก คาดว่าจะผลิตวัคซีน COVID-19 ดังกล่าวออกมาใช้ในกรณีฉุกเฉินก่อน อย่างน้อยๆ ปริมาณ 1 ล้านโดสภายในเดือน ก.ย.นี้

ศาสตราจารย์ Adrian Hill ผู้บริหารสถาบันเจนเนอร์ ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด พูดว่า “สถานการณ์การระบาดมันเลวร้ายมากขึ้น รุนแรง และฉุกเฉิน ดังนั้น มันค่อนข้างชัดเจนว่าทั่วโลกต้องการวัคซีนในปริมาณหลายร้อยล้านโดสภายในปีนี้”

พูดง่ายๆ คือ นอกจากอินเดีย ยังไม่มีประเทศใดที่สามารถผลิตวัคซีนในปริมาณมหาศาลได้เท่านี้มาก่อน ดังนั้น นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมสถาบันเจนเนอร์ถึงร่วมมือกับอินเดีย เฉพาะแค่สถาบันซีรั่มอินเดียแห่งนี้ ก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตวัคซีนได้ราวๆ 400-500 ล้านโดสได้สบายๆ ในเวลาที่จำกัด

 

Credit Photo : papai/Shutterstock

 

 

ที่มา : bbc

 

 


  • 3
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม