ส่อง Working Trend จะเกิดขึ้นในปี 2023 ที่องค์กรควรรู้กับการเดินทางผ่านยุค Post Pandemic

  • 151
  •  
  •  
  •  
  •  

ในปี 2022 เรียกได้ว่าเป็นปีของการวางรากฐานสู่การเปลี่ยนแปลงของหลายๆองค์กรเพื่อให้อยู่รอดหลังจากผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลายาวนานถึง 3 ปีมาได้ ไม่เฉพาะแต่ในแง่ของสินค้าและบริการเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงในสถานที่ทำงานด้วย แต่แน่นอนว่าเมื่อมองไปในปี 2023 แล้วผู้เชี่ยวชาญต่างก็พูดถึงเทรนด์ในแง่ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในสถานที่ทำงานเอาไว้ด้วยและเป็นสิ่งที่องค์กรต่างๆควรรู้เพื่อเตรียมพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในบทความนี้ก็ได้รวบรวมเทรนด์เหล่านั้นเอาไว้ให้แล้ว

Flexibility จะเป็น New Normal

ความยืดหยุ่นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการ Work From Home หรือการทำงานแบบ Hybrid เริ่มกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ยุคของการแพร่ระบาดของโควิดเรื่อยมาจนถึงยุคหลังการแพร่ระบาดในเวลานี้ และเทรนด์นี้จะเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมต่อไปแน่นอน โดยจากข้อมูลของ LinkedIn การทำงานระยะไกลซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของตำแหน่งงานว่างในปัจจุบันนั้น กลับได้รับความสนใจจากผู้สมัครงานมากกว่า 50% เลยทีเดียว นั่นหมายความว่าองค์กรไหนที่รับรู้และเปิดรับเทรนด์ความยืดหยุ่นในการทำงานนี้ก็จะมีโอกาสดึงดูดบรรดาผู้สมัครที่มีความสามารถได้มากขึ้น

นั่นหมายความว่าเทรนด์การทำงานในปี 2023 นี้ สถานที่ทำงานจะไม่ใช่สิ่งที่จะถูกให้ความสำคัญอีกต่อไปดังนั้นผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าแทนที่องค์กรจะมานั่งถกเถียงถึงข้อดีและข้อเสียระหว่างการ “ทำงานระยะไกล” กับ “ทำงานในสำนักงาน” ควรจะหันมาพิจารณาถึงวิธีการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน รวมถึงการสร้างแรงจูงใจในการทำงานไม่ว่าจะทำงานที่ไหนตามแทน

ให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานมากขึ้น

สุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกพูดถึงมากขึ้นหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากผู้คนมีความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ในยุค Post Pandemic อย่างในเวลานี้ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยขึ้นเองก็ตาม นั่นส่งผลให้พนักงานเริ่มมีความกังวลถึงสุขภาพของตัวเองรวมไปถึงความสุขของครอบครัวมากยิ่งขึ้น ดังนั้นองค์กรต่างๆจึงเริ่มมีนโยบายใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งกายและใจของพนักงานมากขึ้นเช่นการมี “ที่ปรึกษา” ปัญหาจากการทำงานในแบบที่เป็นความลับ รวมไปถึงนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนให้พนักงานออกกำลังกายมากขึ้น

ในเรื่องนี้ผลวิจัยของ Gartner ยังพบด้วยว่าองค์กรที่มีนโยบายเกี่ยวกับความเป็นอยู่และสุขภาพของพนักงานจะสามารถสร้างแรงจูงใจและเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานได้มากขึ้น 21% ดังนั้นเทรนด์ของการมีนโยบายที่ใส่ใจกับสุขภาพของพนักงานทั้งกายและใจจะเกิดขึ้นในปี 2023 นี้เช่นกัน

Reskilling และ Upskilling

อีกเทรนด์ที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นในองค์กรต่างๆในปี 2023 นี้ก็คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะที่มีอยู่เดิม (Reskilling) และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ (Upskilling) ให้กับพนักงานมากขึ้น การฝึกอบรมนั้นจะเป็นมากกว่ากิจกรรมประจำปี แต่จะเป็นเรื่องสำคัญที่จะดึงดูดให้พนักงานอยู่กับองค์กรให้นานขึ้นด้วย

ผลวิจัยของ LinkedIn Learning พบว่าพนักงาน 94% นั้นจะเลือกอยู่กับบริษัทที่มีกิจกรรมหรือการฝึกอบรมที่ช่วยให้พนักงานก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากขึ้น ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่จะถูกเพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อยๆในอีกหลายปีข้างหน้า โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยี AI และระบบอัตโนมัติต่างๆเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานไปอย่างมาก แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องทักษะการทำงานต่างๆของพนักงานเท่านั้น แต่ Soft Skills โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานระดับบริหารเช่น “การเป็นผู้ฟังที่ดี” และ “ความเห็นอกเห็นใจ” ก็เป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มพูนได้เช่นกัน

Generation Z ที่จะเข้าสู่โลกการทำงานเพิ่มขึ้น

แม้ว่ากลุ่ม Generation Z หรือ Gen Z จะเข้าสู่โลกการทำงานมาหลายปีแล้วโดยในปี 2023 นี้กลุ่ม Gen Z ที่อายุมากที่สุดจะอยู่ที่ 26 ปี และอ่อนที่สุดจะอยู่ที่ 13 ปี และเมื่อเวลาผ่านไปอีก 1 ปีสัดส่วนคนทำงาน Gen Z ก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นอีก นั่นหมายความว่าองค์กรก็จะต้องปรับตัวและทำความเข้าใจกับความต้องการของกลุ่มคน Gen Z ให้มากขึ้น และต้องยอมรับว่าวิธีการทำงานกับกลุ่มคน Minllenials, Gen X และ Baby Boomer จะไม่ได้ผลกับ Gen Z อีกต่อไป

โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีนั้นคาดหวังว่าองค์กรจะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ให้มากขึ้น ให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมในสังคมและเรื่องเกี่ยวกับความหลากหลาย นอกจากนี้ยังคาดหวังให้นายจ้างให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคม และต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน รวมถึงบรรยากาศการทำงานที่มีความร่วมมือกันและเคารพซึ่งกันและกันด้วยนั่นเอง

ต้องไม่ลืมพนักงานกลุ่มอื่น

แม้ว่ากลุ่ม Gen Z จะเข้ามาสู่โลกการทำงานมากขึ้นแต่องค์กรก็ต้องไม่ลืมพนักงานกลุ่มอื่นๆที่ยังคงทำงานให้กับองค์กร ไม่ว่าจะเป็น Millennial, Gen X และ Baby Boomer ด้วย นั่นหมายถึงนอกจากองค์กรจะให้ความสำคัญกับคนในเจเนอเรชั่นใหม่ๆแล้ว แต่องค์กรก็ต้องลงทุนกับกลุ่มบุคลากรที่อาจมีเวลาเหลืออยู่กับองค์กรอีกไม่กี่ปี หรืออีกมากกว่า 10 ปีก่อนจะเกษียณอายุด้วย

ดังนั้นองค์กรควรจะให้พื้นที่กับพนักงานในทุกๆรุ่น ทั้งการ Reskilling และการ Upskilling โดยกลุ่ม Gen Z นั้นอาจจะมีความสามารถและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดีทำให้สามารถทำงานไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลได้เป็นอย่างดี แต่กลุ่มพนักงานที่มีอายุมากกว่านั้นเองก็อาจจะต้องการยกระดับทักษะในเรื่องนี้มากกว่านั่นเอง

การเปลี่ยนงานที่จะเพิ่มมากขึ้น

เป็นที่รู้กันดีว่ายุคนี้เป็นยุคที่ผู้คนเปลี่ยนงานกันบ่อยขึ้น ขณะที่คนที่ตั้งเป้าที่จะทำงานกับองค์กรในฝันตั้งแต่เรียนจบไปจนถึงวัยเกษียณนั้นจะลดจำนวนลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่จะเข้าสู่โลกการทำงานเพิ่มขึ้นนั้นมีการคาดการณ์กันมาแล้วว่าคนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเปลี่ยนงานมากถึง 15 ครั้งตลอดช่วงเวลาการทำงาน

ขณะที่กลุ่ม Gen Z นั้นทุกผลสำรวจเห็นตรงกันว่าไม่ได้มีค่านิยมของความภักดีกับองค์กรในแบบที่เคยเกิดขึ้นกับคนในยุค Baby Boomer อีกต่อไป โดยคนกลุ่ม Gen Z นั้นจะมองว่าการย้ายงานใหม่นั้นเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาทักษะและเป็นความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และอาจใช้ทักษะเหล่านั้นสร้างองค์กรของตัวเองขึ้นมา นอกจากนี้คนกลุ่มนี้จะมองงานเป็นวิธีการเดินทางไปสู่เป้าหมาย หรืออธิบายง่ายๆก็คือคนกลุ่มนี้จะใช้เงินที่ได้จากการทำงานมาตอบสนองไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบของตัวเอง

แน่นอนว่าองค์กรก็ต้องหาวิธีที่จะดึงดูดพนักงานให้อยู่กับองค์กรต่อไปไม่ว่าจะเป็นการเสนอสวัสดิการที่ดี การให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม การช่วยยกระดับทักษะทั้งการ Reskill และ Upskill และการโปรโมทตำแหน่งงานให้เติบโตอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้พนักงานนั้นพร้อมที่จะเติบโตไปกับองค์กรด้วยนั่นเอง

นั่นก็คือเทรนด์ในโลกการทำงานที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 นี้ ซึ่งองค์กรควรจะต้องหันมาให้ความสำคัญเพื่อเดินหน้าก้าวผ่านอีกปีที่ท้าท้ายทั้งการรับมือกับผลกระทบที่ยังคงอยู่ในยุค Post Pandemic และปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมากมายที่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะตามมา

ที่มา The Receptionist, Times of India


  • 151
  •  
  •  
  •  
  •