“สวัสดีวันจันทร์” ข้อความจากคนที่ห่วงใย จะส่งมาทำไม? ไขข้อสงสัยกับ 3 คุณค่าที่ซ่อนอยู่

  • 383
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ตื่นเช้ามาเช็คมือถือ แน่นอนว่าหลายคนอาจจะเคยเห็นการแจ้งเตือนบนแอป Line ว่า “สวัสดีวันจันทร์” จากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ ด้วยรูปภาพตามโทนสีประจำวัน ให้ได้เติมความสดใสและเรียกร้อยยิ้มกันในยามเช้า

 

“สวัสดีวันจันทร์” กลายเป็นวัฒนธรรมของคนในวัย Gen-X ไปจนถึง Baby Boomer ที่ใช้สื่อสารกันมากกว่าสิบปี ในมุมมองของ Gen ลูก ๆ ก็คงมีคำถามในใจว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมนี้ บางครั้งก็เผลอรำคาญ ทำให้เราอ่านข้าม ๆ ไปบ้าง หรือบางทีก็อาจถึงขั้นปิดการแจ้งเตือนเอาไว้ ทว่านี่อาจเป็นสิ่งดี ๆ ที่เชื่อมโลกของครอบครัว ใน Gen ที่แตกต่างให้ได้พูดคุยกันในวันที่อยู่ห่าง เพราะว่าข้อความเหล่านี้ยังมีคุณค่าที่ซ่อนอยู่

 

ไขข้อสงสัย “สวัสดีวันจันทร์” กับ 3 คุณค่าที่ซ่อนอยู่

  1. ส่งภาพง่าย ๆ ส่งได้ซ้ำ ๆ พ่อแม่ปลื้ม

ข้อจำกัดด้านสุขภาพของคนในวัย Gen-X และ Baby Boomer เช่น เรื่องสายตา ส่งผลให้ความรวดเร็วในการพิมพ์ลดลง บวกกับความไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี การส่งรูปภาพสวย ๆ พร้อมข้อความสั้น ๆ ส่งกำลังใจให้คนอ่าน น่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุด เพราะทำได้ง่ายและเข้าใจได้ไม่ยาก สามารถบันทึกไว้ส่งได้ซ้ำ ๆ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามในการสื่อสารที่ซับซ้อน

 

  1. โอกาสที่พ่อกับแม่จะบอกคิดถึงได้บ่อย ๆ

ทุกการเติบโตย่อมมีการแยกย้าย เช่นเดียวกันเมื่อคนเราเติบโตขึ้นจำเป็นต้องออกไปทำหน้าที่ของตัวเอง จนทำให้เกิดระยะทางที่ห่างไกลจากพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่เรารัก ด้วยเวลาว่างที่ไม่ตรงกันการโทรไปพูดคุยหรือวิดีโอคอลอาจทำได้ไม่บ่อย ภาพที่มีสีสันประจำวันพร้อมข้อความเชียร์อัพไปจนถึงมุกตลก นั่นสามารถสร้างรอยยิ้มและเปิดโอกาสให้ได้คุยกัน โดยที่ไม่ต้องหาคำพูดหรือเรื่องราวมาเริ่มต้นบทสนทนาเลย

 

ผู้พัฒนาแอป YOUNG HAPPY คอมมูนิตี้เพื่อผู้สูงอายุ เปิดเผยว่า ผู้ใหญ่ที่ต้องการส่งต่อความรักเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เป็นการแสดงถึงว่าตนเองสบายดีและต้องการแสดงความรักความคิดถึงที่มีให้เสมอ เรียกได้ว่าเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานที่ช่วยสร้างความรู้สึกในการมีตัวตน มีส่วนร่วม และการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว (Belonging and Love Needs) ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs)

 

 

  1. ความเฉิ่มเชยที่เป็นมวลพลังบวกของโลกทั้งใบ

ถึงจะต่าง Gen กัน แต่ก็ยังชอบอะไรที่เหมือน ๆ กัน ตัวอย่างเช่น ชอบดูสิ่งสวยงามที่สร้างพลังบวกให้กับตัวเอง ซึ่งสิ่งสวยงามของแต่ละคนก็อาจจะไม่เหมือนกัน รูปภาพดอกไม้ที่อยู่ในสวนหลังบ้าน หรือภาพมุกตลกที่ส่งต่อกันมา บางคนก็อาจมองว่าดูเฉิ่ม ๆ เชย ๆ ในขณะเดียวกันนี่แหละคือสิ่งสร้างพลังบวกในโลกของพ่อแม่ ที่พวกเขาต้องการส่งต่อสิ่งดี ๆ มาให้ลูกหลาน

 

จากงานวิจัยในเชิงจิตวิทยาของ Derek M. Isaacowitz YoonSun Choi ได้ทำการศึกษาเรื่องการจ้องมองเชิงบวกที่สัมพันธ์กับอายุ พบว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มจ้องมองภาพที่มีเนื้อหาเชิงบวกมากกว่าคนหนุ่มสาว ซึ่งสอดคล้องกลับทฤษฎี Socioemotional Selectivity โดย Carstensen ที่เล่าถึงการรับรู้ได้ถึงเวลาที่มีจำกัดของชีวิตคนเรา ส่งผลให้เป้าหมาย ความชอบ และกระบวนการทางความมคิดเปลี่ยนไปอย่างเป็นระบบ โดยจะยึดเป้าหมายทางอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทำให้คนมีอายุชอบมองหาอะไรในเชิงบวกและหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นเชิงลบ เพื่อปรับความรู้สึกนึกคิดให้อยู่ในเชิงบวกเสมอ

 

สุดท้ายแล้วในมุมมองของ Gen ลูก ๆ ที่กำลังเป็นเดอะแบกในการรับภาระหน้าที่ หากลองเปิดใจมองในอีกแง่มุมว่า “สวัสดีวันจันทร์” การแจ้งเตือนได้รับอยู่ทุกวันเป็นการ “เติมพลังบวกประจำวัน” จากคนในครอบครัว เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการอยู่ร่วมกันและบริหารความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ บนโลกออนไลน์ที่แม้เราจะไม่ได้เจอหน้ากัน ก็สามารถส่งความรักความห่วงใยถึงกันได้ เริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการ “เปิดอ่าน ทักทาย หรือส่งสติ๊กเกอร์ไลน์น่ารัก ๆ กลับไป” เท่านี้ก็ทำให้ความห่วงใยจากครอบครัวอบอุ่นใจขึ้นได้อย่างแน่นอน


  • 383
  •  
  •  
  •  
  •