อุตสาหกรรมยา จากสถานการณ์ COVID-19 ธุรกิจจะเปลี่ยนทิศทางไปทางไหน พบทางออกและพลิกธุรกิจก้าวไกลสู่ระดับโลก ตอนที่ 1

  • 2.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

อย่างที่เราทราบกันดีว่าสถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรม และถึงแม้คนไทยจะห่วงใยสุขภาพมากขึ้น แต่อุตสาหกรรมยาเองก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เนื่องจากจำนวนคนไข้ยังมีอยู่ แต่กลับหายากมากขึ้น และเพื่อให้ทราบถึงผลกระทบและแนวการนำพาอุตสาหกรรมยาให้อยู่รอด การดูแลคนไข้ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และก้าวสู่ระดับโลกได้ เราได้นำบทสัมภาษณ์ผู้บริหารของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ พรีม่า (Pharmaceutical Research and Manufacturers Association หรือ PReMA) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีสมาชิกสมาคมที่ล้วนเป็นบริษัทที่มีหรือเกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ เพื่อต่อสู้กับโรคร้ายที่ยังไม่สามารถรักษาได้ หรือเพื่อให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป โดยบทสัมภาษณ์นี้เราได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงได้แก่ ประธานสมาคมคือ คุณบอยด์ และบอร์ดบริหารอีกสองท่านคือ คุณเควิน และ ดร.อาร์มิน  มาแลกเปลี่ยนแนวคิดถึงการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจหลังจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และสร้างโอกาสเติบโตในระดับสากล

อุตสาหกรรมยา มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตไวรัสโคโรนาอย่างไร?

คุณบอยด์: ไวรัสโคโรนาทำให้เราต้องทบทวนแผนการดำเนินการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หรือ Business Continuity Plan  เราให้ความสำคัญกับชีวิตของคนไข้เป็นสำคัญ สิ่งแรกที่เราทำ คือ ในขณะที่ทุกประเทศปิดประเทศ ธุรกิจหยุดการทำงาน แต่คนไข้หรือผู้ป่วยจะมียารักษาได้อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก หรือ Global Supply Chain เราแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการหาช่องทางอื่นๆ ในการนำยามาสนับสนุนให้แพทย์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนไข้ของเรามียาใช้อย่างต่อเนื่อง และเราทุ่มเทสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการรักษาให้แก่แพทย์ เพื่อให้แพทย์สามารถดูแลประชาชนได้อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง  ผลกระทบเชิงบวกที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ทุกคนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น   การทำงานของเราอยู่ภายใต้ความปลอดภัยต่อสุขภาพเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) เพื่อให้พนักงานของเราปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา

“เราทบทวน Business Continuity Plan และให้ความสำคัญในเรื่อง Global Supply Chain”  —- คุณบอยด์ จงไพศาล ประธานสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า)

ดร. อาร์มิน: อย่างแรกที่เราให้ความสำคัญคือ เรื่องของคนที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของเรา ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ คนไข้ และพนักงานของเรา เราห่วงใยความปลอดภัยของพนักงาน เราสนับสนุนนโยบายทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) อย่างเต็มที่ เพื่อความปลอดภัยของพนักงานเอง อย่างที่สองคือ การให้ความสำคัญต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain System) เนื่องจากการปิดประเทศทำให้ระบบการขนส่งถูกปิดกั้น แต่เรายังรักษาความสามารถในการส่งมอบยาที่มีคุณภาพที่ดี และมีปริมาณที่เพียงพอให้แก่ระบบสาธารณสุขได้อย่างต่อเนื่อง อย่างที่สามคือ เราได้เรียนรู้การรับมือกับวิกฤต (Crisis Management)  เรายังคงรักษาการสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคลาการทางการแพทย์ (Customer Engagement) อย่างต่อเนื่อง เราได้เรียนรู้วิธีการใหม่ๆ เราเรียนรู้การทำการสัมมนาระยะทางไกล การจัดประชุมระยะทางไกลแบบ VDO Conference เราได้เปิดโลกทัศน์กับเครื่องมือใหม่ๆ ที่เสริมประสิทธิภาพการทำงานของเราให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องมากขึ้น และที่สำคัญคือ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้แน่ใจว่าเราสามารถช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และคนไข้ได้อย่างต่อเนื่อง เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หลายอย่างในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา มันเป็นเวลาที่แสนวิเศษมาก มันทำให้เราเติบโตขึ้น ไม่มีอะไรทำให้เราเติบโตได้ดีเท่ากับปัญหาที่แสนท้าทายอีกแล้ว

“สิ่งสำคัญคือ การใส่ดูแลคนไข้ ลูกค้าขององค์กรและพนักงานทุกระดับให้มีความปลอดภัยและได้รับความสะดวกอย่างต่อเนื่อง”  — ดร.อาร์มิน เวสเลอร์ รองประธานสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า)

คุณเควิน: สำหรับผม ก่อนอื่นเลยผมขอชื่นชมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกท่าน ที่ทำหน้าที่ได้ดีมากๆ จนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ควบคุมสถานการณ์ไวรัสโคโรนาได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง ส่วนเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น ผมเห็นว่าไวรัสโคโรนาเป็นความท้าทายระดับโลก (Global Challenge) ที่ส่งผลกระทบอย่างมากมาย ในภาวะที่ทุกฝ่ายต้องเผชิญความท้าทายระดับโลกนี้ การร่วมมือกันในระดับสากล (Global Health Collaboration) คือ กลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้เราฟันฝ่าวิกฤตต่อไปได้ เรามีโอกาสได้เห็นการพัฒนาวัคซีนและยาร่วมกันอย่างรวดเร็วในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เราไม่เพียงแต่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับภาครัฐเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนาและหวังจะได้ร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการระบาดในระยะถัดไปด้วย แต่เรายังคงให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยในประเทศไทย นอกจากนี้ผมยังได้เห็นศักยภาพของพนักงานในแต่ละองค์กรที่ร่วมมือกันฝ่าฟันอุปสรรคในยามวิกฤตไปด้วยกัน โดยปราศจากเงื่อนไขอีกด้วย

“การร่วมมือกันในระดับสากล ร่วมมือกับในภาครัฐทำงานเป็นทีม” — คุณเควิน ปีเตอร์ รองประธานสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า)

การสัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้บริหารทั้ง 3 ท่านของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) มีทั้งหมด 4 ตอน อุตสาหกรรมยา จากสถานการณ์ COVID-19 ธุรกิจจะเปลี่ยนทิศทางไปทางไหน พบทางออกและพลิกธุรกิจก้าวไกลสู่ระดับโลก ติดตามความเข้มข้นและคำตอบที่น่าสนใจในตอนต่อไป

ขอขอบคุณ บทสัมภาษณ์ที่ดีจาก สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) สามารถอ่านบทความอื่นได้ที่ http://www.prema.or.th/site/healthcare-post-covid-19-part-1/


  • 2.5K
  •  
  •  
  •  
  •