รู้จัก Quiet Quitting เทรนด์การทำงานใหม่เลี่ยงภาวะหมดไฟ กับ 6 สัญญาณจับสังเกต Quiet Quitter ในที่ทำงาน

  • 318
  •  
  •  
  •  
  •  

 

“งานคือชีวิต” อาจเป็นสำนวนที่เคยถูกพูดถึงในหมู่คนทำงานยุค Baby Boomer ไล่มาถึงยุค Gen-X เป็นการให้คุณค่ากับการทำงานอย่าง “ทุ่มเท” เพื่อบริษัทหรือนายจ้างถึงแม้มันจะเบียดเบียนเวลา กระทบชีวิตส่วนตัว หรือไม่มีความสุขมากแค่ไหน ขอแค่บรรลุเป้าหมายไปถึงความสำเร็จก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับหยาดเหงื่อแรงงานที่เสียไป

การทำงานอย่าง “ทุ่มเท” และ “อดทน” ต่อสู้กับอุปสรรคมากมายทั้งในเนื้องาน เพื่อร่วมงาน เจ้านาย และลูกน้อง บวกกับปัจจัยภายนอกทั้งด้านเศรษฐกิจและโรคระบาดที่ทำให้ชีวิตต้องดิ้นรนให้ผ่านพ้นไป ก็เป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบกับชีวิต และเกิดสิ่งที่เรียกว่า Burn Out หรือ “ภาวะหมดไฟ” ให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ

 

Quiet Quitting คืออะไร?

เพื่อหลีกเลี่ยง “ภาวะหมดไฟ” อย่างที่ว่าทำให้ ล่าสุดเกิดเทรนด์การทำงานใหม่ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในกลุ่มคน ทำงานโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok นั่นก็คือเทรนด์ “Quiet Quitting” หรือการทำงานโดยมีเส้นแบ่งระหว่าง “งาน” และ “ชีวิต” อย่างชัดเจน เพื่อลดความเครียด ทำงานไปตามมาตรฐาน  เหมือนกับการ “ลาออกจากการทำงานอย่างทุ่มเท” โดยที่ไม่ต้องออกจากงานจริงๆ ที่นำมาสู่คำที่เรียกว่า “การลาออกแบบเงียบๆ” ขณะที่สื่อใหญ่หลายสำนักอย่าง The Wall Street Journal, Forbes หรือ The Guardian ก็เริ่มจับประเด็นนี้มารายงานกันอย่างกว้างขวางแล้ว

 

“คนจะไม่พยายามไปจนเกินความคาดหมาย พวกเขาจะไม่ทุ่มเทเพื่อนายจ้างและจะไม่ยอมสละสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้กับนายจ้างอีกต่อไป” อลิสัน เพ็ค ที่ปรึกษาด้านอาชีพ ผู้ที่มีผู้ติดตามใน TikTok มากกว่า 400,000 Followers ระบุ พร้อมกับสรุปว่า คนที่เป็น Quiet Quitter นั้นจะทำงานให้เท่ากับค่าตอบแทนที่ได้รับเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีความหมายจากหลายหลายความเห็นในโลก TikTok ไม่ว่าจะเป็นการ “ปิดคอมพิวเตอร์เมื่อถึงเวลาเลิกงาน”, “การทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเหมาะสม โดยมีเส้นแบ่งเรื่องงานกับเรื่องสุขภาพอย่างชัดเจน” รวมไปถึงความเห็นที่ว่า “Quiet Quitting หมายถึง เวลาที่มีใครขอให้คุณทำสิ่งที่ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญา คุณจะไม่ทำมัน” เป็นต้น

 

ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่ม Quiet Quitter?

ในขณะที่กลุ่มคนที่ร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับ Quiet Quitting ใน TikTok ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่ม Gen-Z แต่ผลสำรวจการมีส่วนร่วมและความกระตือรือร้นในงาน (employee engagement) ของพนักงานในสหรัฐอเมริกาในไตรมาสแรกของปีนี้ จัดทำโดย Gullup พบว่า คนทำงานทุกรุ่นทุกวัยมีสัดส่วนการมีส่วนร่วมฯกับงานที่ลดลงเหลือเพียง 32% เท่านั้นเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2020 ที่อยู่ที่ 36% และยังนับเป็นสัดส่วนที่ร่วงลงครั้งแรกในรอบนับ 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแม้กลุ่ม Gen-Z และกลุ่ม millennials ที่เกิดหลังปี 1989 มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมฯในกลุ่มนี้จะอยู่ต่ำที่สุดที่ 31% แต่กลุ่ม Gen-X รวมถึง Baby Boomer เองก็มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมที่ไม่ต่างกันนัก

อย่างไรก็ตาม Gallup เองยังพบว่าคำจำกัดความของ  Quiet Quitting ที่ถูกอธิบายในโซเชียลมีเดียนั้นสอดคล้องกับกลุ่มคนทำงานในแบบสำรวจขนาดใหญ่ของ Gallup เองโดยคนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่ากลุ่มคนทำงานที่ “ไม่มีส่วนร่วม” (not engaged) ที่ผลสำรวจพบว่าในกลุ่มคนทำงานที่ไม่มีส่วนร่วม และเกิดหลังปี 1989 นั้นมีสัดส่วนอยู่ถึง 54% หรือมากกว่าครึ่งเลยทีเดียว

Gullup ระบุว่า หนึ่งในดัชนีชี้วัดการมีส่วนร่วมก็คือ “ความรู้สึกว่างานที่ทำนั้นมีความหมาย” ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจของ Gullup พบว่าบรรดาพนักงานในกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แต่คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสที่จะทำงานในแบบรับคำสั่ง และมองมาที่ตัวเองก่อนที่จะมองไปที่นายจ้างนั่นเอง

 

6 สัญญาณจับสังเกต Quiet Quitter

แน่นอนว่าเทรนด์ Quiet Quitter เป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับนายจ้างด้วยเช่นกัน เนื่องจากการมีพนักงานที่ทำงานตามมาตรฐานขั้นต่ำ  ไม่มีส่วนร่วมและมีความกระตือรือร้นกับการทำงานไม่มาก ย่อมส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพของบริษัทตามไปด้วย ขณะที่มีการประเมินว่า ปรากฏการณ์ Quiet quitting ในหมู่คนทำงานชาวอเมริกันนั้นส่งผลให้บริษัทต่างๆต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

โจ กัลวิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยของ Vistage Worldwide บริษัทให้คำปรึกษาซีโอโอ ระบุว่ามีดัชนีชี้วัด 6 อย่างที่แสดงให้เห็นว่ามี Quiet Quitter อยู่ในบริษัทได้แก่

  1. ปลีกตัวและไม่มีส่วนร่วมกับงานต่างๆต่อเนื่องยาวนาน
  2. ทำงานเพียงแค่ให้ได้มาตรฐานขั้นต่ำเท่านั้น
  3. ปลีกตัวออกจากสมาชิกในทีมคนอื่นๆ
  4. ถอนตัวออกจากการสนทนา กิจกรรม และงานที่ไม่จำเป็นต่างๆ
  5. เข้าร่วมการประชุมต่างๆแต่ไม่แสดงความเห็นหรือทำอะไรเลย
  6. สมาชิกในทีมมีปริมาณงานเพิ่มขึ้นโดยฉับพลันเพราะต้องเคลียร์งานให้เพื่อน

Quiet Quitter มีอยู่แต่อย่าด่วนตัดสิน

ในกลุ่ม Quiet Quitter นั้นแน่นอนว่ามีสัญญาณบางอย่างที่พอจะชี้วัดได้เหมือนๆกัน แต่แรงจูงใจเบื้องหลังนั้นอาจแตกต่างกันออกไปซึ่งเป็นสิ่งที่นายจ้างจะต้อง “ประเมิน” อย่างระมัดระวัง Quiet Quitter คนหนึ่งอาจเป็นพนักงานที่ขุ่นเคืองจากการไม่ได้เลื่อนขั้น หรือขึ้นเงินเดือน แต่บางครั้ง พนักงานที่ “มีส่วนร่วม” ก็ทำงานตามมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิต คนกลุ่มนี้ทำงานไปถึงเป้าหมายได้ แต่จะไปไม่ไกลกว่าที่คาดหวังเอาไว้ เนื่องจากสุขภาพกายและใจก็เป็นสิ่งสำคัญ

โดยเฉพาะกลุ่ม Gen-Z ที่มีแน้วโน้มที่จะเป็น Quiet Quitter มากกว่าคนรุ่นอื่นๆ โดยมีตัวอย่างจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ทำงานอย่างหนัก ไม่มีความสุข และสูญเสียสมดุลในชีวิต ขณะที่คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี มีทางเลือกในการทำงาน มากกว่ากลุ่มคนในปี 2008 ที่เข้าสู่การทำงานพร้อมกับความกลัวว่าจะตกงาน ขณะที่คน Gen-Z มีข้อมูลเปรียบเทียบสวัสดิการและผลประโยชน์ของบริษัทต่างๆมากกว่า นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า คนกลุ่ม Gen-Z และมิลเลเนียล 77% มีความเป็นไปได้ที่จะสมัครงานในตำแหน่งงานในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ความเป็นมิตร สุขภาพ จิตและ work-life balance มากกว่า ดังนั้นกลุ่มคน Gen Z จึงอาจก้าวจาก Quiet Quitter ไปสู่การเป็น engage worker ได้หากมีการสื่อสารถึงความต้องการได้อย่างตรงประเด็น

 

เทรนด์ Quiet Quitting ที่เกิดขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่มาจากปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน แต่ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ที่ “พนักงาน” จะใช้แนวทาง Quiet Quitting เป็นข้ออ้างที่จะทำงานเพียงมาตรฐานขั้นต่ำ ซึ่งนั่นจะกระทบกับประสิทธิภาพของงานที่จะพัฒนาต่อไป ในขณะที่นายจ้างเองก็ไม่สามารถที่จะกดดันให้พนักงานทำงานจนต้องส่งผลกระทบกับสุขภาพทั้งกายและใจ และกระทบกับชีวิตส่วนตัวมากจนเกินไป ดังนั้นเรื่องนี้คงต้องพูดคุยกัน ร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อหาแนวทางที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันให้เจอ เพื่อการทำงานที่มีความสุขและมีประสิทธิภาพไปพร้อมๆกัน

 

Source: WSJ, Forbes, Today


  • 318
  •  
  •  
  •  
  •