‘SABUY’ รีแบรนด์สู่ ‘WSOL’ เปิดแผนฝ่าวิกฤต เดินหน้ารื้อใหม่ทั้งเครือ โฟกัสธุรกิจหลัก-ทำเงิน ตั้งเป้าโต 20% ในปี 68

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

WSOL

 

ผ่านไป 6 เดือน หลัง นายอิทธิชัย พูลวรลักษณ์ เข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิว เอส โอ แอล จำกัด (มหาชน) หรือ WSOL ที่ครั้งนี้กลับมาพร้อมประกาศผลลัพธ์ของการดำเนินงาน และโรดแมปใหม่ภายใต้ชื่อ ‘Mission Possible’ พลิกวิกฤตบริษัท สู่การเติบโต 20% ในสิ้นปี พร้อมเดินหน้ารีแบรนด์เต็มรูปแบบ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ และเร่งสร้างกระแสเงินสดเชิงรุก โฟกัสการกลับมากำไรสุทธิในครึ่งแรกปี 2569 ยืนยันมองผลประโยชน์ของนักลงทุนสำคัญอันดับหนึ่ง และไม่เป็นนอมีนีของใคร

 

อัปเดตประเด็นข้อพิพาท ตามข้อมูลที่เปิดเผย ELSID เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568

 

  1. ฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาจากลูกหนี้ ซึ่งเป็นการให้เงินกู้แก่ลูกหนี้ดังกล่าวระหว่างเดือนเมษายน 2566 ถึง เดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นทุนทรัพย์ตามฟ้องประมาณ 900 ล้านบาท
  2. ฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากอดีตผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาในประเด็นที่บริษัทฯ เห็นว่าอาจมีการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ/หรือ เพิกเฉยและไม่ระมัดระวังในการรักษาผลประโยชน์และทรัพย์สินให้กับบริษัทฯ ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย เป็นทุนทรัพย์รวมตามฟ้องประมาณ 1,700 ล้านบาท

*   ~55 ล้านบาท: การว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินโดยไม่เป็นไปตามอำนาจอนุมัติ

*   ~ 745 ล้านบาท: การขายทรัพย์สินของบริษัทฯ ขาดทุน โดยไม่มีเหตุผลจำเป็นเร่งด่วน

*   ~970 ล้านบาท: การอนุมัติปล่อยสินเชื่อโดยปราศจากความระมัดระวัง

3. กรณีการกู้เงิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) จำนวน 900 ล้านบาท ช่วงปี 2566 ยืนยันว่าเป็นความจริง แต่ไม่เปิดเผยหลักค้ำประกัน ทั้งนี้มีการกำหนดเงื่อนไขการชำระที่ 10 ปี ซึ่งมองว่าเป็นไปได้ โดยมีการเจรจาลดอกเบี้ยกับทางธนาคารอยู่ตลอด

 

นอกจากนี้ยังมี กรณี ประเด็นเรื่องสินค้าคงเหลือของบริษัทฯ ตามข้อมูลที่เปิดเผย ELSID เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ผลต่างระหว่างปริมาณสินค้าคงเหลือและสินทรัพย์ที่บันทึกในระบบ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 กับปริมาณที่ตรวจนับได้จริง พบว่าสินค้า และทรัพย์สินสูญหายราว 8.29 ล้านบาท

 

สาเหตุและปัจจัย

  • การยกยอดข้อมูลสินค้าคงเหลือที่ผิดพลาดสะสมมาเป็นระยะเวลานาน
  • ระบบการบริหารจัดการสินค้าคงเหลือไม่รองรับการตัดยอดวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิต
  • ไม่มีระบบรองรับการเปลี่ยนหรือสับเปลี่ยน (swap) อะไหล่
  • ไม่มีการจัดประเภทหรือสถานะของอะไหล่อย่างชัดเจน
  • อะไหล่ที่หมดอายุหรือไม่ได้ใช้งานยังคงอยู่ในระบบ

 

การแก้ไขและป้องกัน

  • ปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการบันทึกบัญชีให้สอดคล้องกับการทำงานจริง
  • เพิ่มระบบควบคุมภายในที่มีความรัดกุม และตรวจสอบได้ รวมทั้งให้หน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญช่วยประเมิน
  • ปรับปรุงระบบการแยกประเภทและสถานะของอะไหล่/วัสดุให้ชัดเจน
  • เพิ่มความถี่ในการตรวจนับสินค้าคงเหลือ และบูรณาการกับระบบบัญชี
  • การติดตั้งมาตรการควบคุมทางกายภาพ เช่น การใช้กล้องวงจรปิด (CCTY) และการจำกัดสิทธิการเข้าถึงพื้นที่คลังสินค้า

 

เส้นทางฟื้นตัว จุดเริ่มจากวิกฤตสู่โอกาส

 

ปีที่ผ่านมา WSOL ต้องแบกรับภาระหนี้และต้นทุนทางการเงินสูงจนผลประกอบการติดลบ เป้าหมายแรกจึงเป็นการ ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ย 50 เปอร์เซ็นต์ หลังดำเนินการเสร็จในสามเดือน บริษัทเดินหน้าเป้าหมายที่สองคือการผลักดัน EBITDA ให้กลับมาเป็นบวกจากธุรกิจหลักทั้งสามขา ก่อนจะต่อยอดด้วยเป้าหมายระยะกลาง นั่นคือการคืนกำไรสุทธิในครึ่งแรกของปี 2569 ​

บทเรียนสำคัญในช่วงฟื้นฟูคือ การจัดระเบียบภายในที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้นและพันธมิตร การสื่อสารแบรนด์จึงยกเครื่องครั้งใหญ่ เปลี่ยนชื่อองค์กรเป็น WSOL อย่างเป็นทางการและประกาศพันธกิจใหม่ คือ “สร้างกำไรอย่างยั่งยืนด้วยทีมที่ยืดหยุ่นและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ลูกค้า”

 

รื้อโครงสร้างธุรกิจ โฟกัสธุรกิจทำเงิน-ถือหุ้นใหญ่ เหลือ 16 ตัวใน 3 เสา

 

 

ก่อนหน้านี้เครือ SABUY มีธุรกิจในเครือกว่า 50 ตัว ใน 6 เสากลุ่มธุรกิจ แผนต่อไปของ WSOL ใต้การนำของคุณอิทธิชัย โฟกัสที่การรื้อ และจัดระเบียบธุรกิจใหม่ มอง ‘ธุรกิจทำเงิน-มีสิทธิ์ควบคุม’ เป็นสำคัญ พร้อมเผยว่าไม่สามารถช่วยทุกคนได้ ตอนนี้ต้องเก็บของดีไว้กับตัวก่อน โดยธุรกิจที่ไม่ได้ไปต่อ ทางเครือมีแผนที่แตกต่างกันไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท ทั้งนี้ยังมีมุมมองต่อ ‘การควบรวม’ ว่าไม่ค่อยเห็นด้วยนัก เพราะอยากให้ของดี ยังคงเป็นของดีที่บริสุทธิ์

ทั้งนี้ หลังประกาศแผนใหม่ ธุรกิจในเครือจะเหลืออยู่ที่ราว 16 ตัว จากเดิม 50 ตัว และจากเดิม 6 เสา จะเหลือเพียง 3 เสาเท่านั้น โดยมี 8 ธุรกิจเป็นคีย์สำคัญ

 

  1. Financial & Payment Solutions (สัดส่วนรายได้ 35%) รายได้เป้าหมาย 1,251 ล้านบาท เติบโต 30 เปอร์เซ็นต์ สินค้าเรือธงคือ Love Prompt บริการเช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญญายืดหยุ่น และ ตู้ “พร้อมเติม” ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ปรับซอฟต์แวร์ใหม่ให้รองรับบริการเติมเงินมือถือ ชำระบิล และขยายโมดูลต่อยอดไปยังการซื้อประกันขนาดเล็กในอนาคต
  2. B2C Solutions (สัดส่วนรายได้ 47%) รายได้เป้าหมาย 1,701 ล้านบาท เติบโต 10 เปอร์เซ็นต์ หลังปรับโมเดล “พร้อมสปีด” ให้เป็นจุดรับ–ส่งพัสดุระดับตำบล 2,000 จุดเสริมศักยภาพลอจิสติกส์ last‑mile ส่วน “พร้อมเวนดิ้ง” กลับเข้าสู่ตลาดด้วยตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 10,000 เครื่อง ภายในสิ้นปี เพิ่มเซกเมนต์สินค้ามาร์จิ้นสูงและวางโรดแมปขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อกฎหมายรองรับ
  3. B2B Solutions (สัดส่วนรายได้ 18%) รายได้เป้าหมาย 636 ล้านบาท เติบโต 34 เปอร์เซ็นต์ ขับเคลื่อนด้วยบัตร PTECH ที่พร้อมเข้าประมูลงานระบบสวัสดิการของภาครัฐ พร้อมกันนั้น WSOL Solution เปิดตัวระบบ POS ครบวงจรเจาะงานอีเวนต์ คอนเสิร์ต และสวนน้ำ สร้างรายได้ recurring จากค่าใช้ระบบรายครั้งและค่าบริหารธุรกรรม

 

หลังบ้านยังแข็งแกร่ง ด้วย Touch Point มากเป็นอันดับต้นๆ ของไทย

 

Service Channel

 

  1. พร้อมเติม: มีตู้มากกว่า 40,000 จุดทั่วประเทศ

→ สร้างธุรกรรม ≈ 3 ล้านรายการ/เดือน

  1. พร้อมสปีด คอมเมิร์ซ: มีสถานีให้บริการกว่า 20,000 แห่ง

→ สร้างธุรกรรม ≈ 6 ล้านรายการ/เดือน

  1. WSOL Solution: ครอบคลุมจุดบริการและระบบ POS กว่า 20,000 พื้นที่

→ สร้างธุรกรรม ≈ 7 ล้านรายการ/เดือน

 

Direct Sales

 

  1. Love พร้อม / พร้อมเติม: มีทีมขายภาคสนามประมาณ 300 คน

→ ดูแลลูกค้า 2,000 ราย, ทำธุรกรรม ≈ 2,000 ครั้ง/เดือน

 

Self-Service Shop / Station

 

  1. พร้อมเวนดิ้ง: เครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ 4,000+ เครื่อง

→ สร้างธุรกรรม ≈ 3 ล้านครั้ง/เดือน

  1. คัด บนตู้: ให้บริการในกว่า 150 จุด

→ สร้างธุรกรรม ≈ 160,000 ครั้ง/เดือน

  1. พร้อมวอยซ์: Shop-in-Shop กว่า 50 สาขา

→ สร้างธุรกรรม ≈ 50,000 ครั้ง/เดือน

 

อัปเดตผู้ถือหุ้น WSOL

 

บริษัทเตรียมเปลี่ยนชื่อและชื่อย่อหลักทรัพย์จาก “บริษัท สบายเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) – SABUY” เป็น “บริษัท ดับบลิว เอส โอ แอล จำกัด (มหาชน) – WSOL” หลังได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 28 เมษายน 2568 คาดว่าการจดทะเบียนจะแล้วเสร็จภายใน 1–2 วันถัดไป หรือภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2568

 

โครงสร้างผู้ถือหุ้นล่าสุด (17 มีนาคม 2568)

  1. นายอิทธิชัย พูลวรลักษณ์ – 362,500,000 หุ้น (14.91%)
  2. Insignia Holdings Limited – 350,000,000 หุ้น (14.39%)
  3. นายวริศ ยงสกุล – 140,885,700 หุ้น (5.79%)

 

โครงสร้างผู้ถือหุ้นเดิม (31 มีนาคม 2567)

  1. นายชูเกียรติ รุจนพรพจี – 356,845,700 หุ้น (20.20%)
  2. นายอานนท์ชัย วีระประวัติ – 127,000,000 หุ้น (7.19%)
  3. TSR Living Solution Plc. – 98,848,800 (5.60%)

 

WSOL-01

 

โดย ในปี 2568 WSOL ตั้งเป้ารายได้รวม 3,584 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนที่แม้จะมีรายได้ถึง 5,383 ล้านบาท แต่กลับขาดทุนถึง 12% โดยคุณอิทธิชัย มองว่าอยากโฟกัสที่ผลกำไร มากกว่าการทำให้ยอดขายให้สูงเพียงอย่างเดียวแต่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อกำไรสูงผลตอบแทนปันผลต่อนักลงทุนเองจะสูงตามไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนโฟกัสเป็นอันดับต้นๆ


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •