องค์กรยุคดิจิทัลเดินหน้าสร้าง Passion ในวันที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้วัดกันที่อายุ

  • 372
  •  
  •  
  •  
  •  

8 ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ Discover Our Passion โดยพนักงานและผู้บริหารเอสซีจี

คงจะดีไม่น้อยถ้าหากทุกคนได้ค้นพบ Passion หรือความมุ่งมั่นทุ่มเท ที่ปลุกให้อยากตื่นมาทำงานทุกเช้า โดยเฉพาะในวันที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ พุ่งเข้ามาหาอย่างรวดเร็ว เช่น เทคโนโลยีใหม่ๆ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หรือการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ทำให้คนทำงาน ผู้ประกอบการ ที่ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ต่างก็ต้องเร่งปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ตลาด ที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้

เอสซีจีได้ให้ความสำคัญในการผลักดันคนรุ่นใหม่ที่มี Passion ในฐานะส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ที่ร่วมขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย ด้วยการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ และสั่งสมประสบการณ์ คิดค้นนวัตกรรมสินค้า บริการ รวมทั้งโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความยั่งยืนให้กับลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม

กิจกรรมเปิดบ้าน “SCG Open House” ถือเป็นครั้งแรกขององค์กร ภายใต้แนวคิด “Discover Our Passion, Discover Your Passion” เพื่อคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมค้นหา Passion ในการทำงาน ตลอดจนการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ด้วยการรับฟังแนวคิดการขับเคลื่อนองค์กร ด้วยนวัตกรรมและการสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ยุคดิจิทัล จากทั้งพนักงานรุ่นใหม่ และผู้นำองค์กรของเอสซีจีเอง

เปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง จุดเริ่มต้นสร้างคนและองค์กร

คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า คนทั้วไปมักจะรู้จักเอสซีจีใน 3 ธุรกิจหลัก แต่ความจริงยังมีเรื่องการให้บริการ การพัฒนานวัตกรรม การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตอบโจทย์ลูกค้าที่เปลี่ยนไปเร็ว ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ต้องใช้ Passion โดยเฉพาะความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงจากคนรุ่นใหม่ๆ

2 รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

การเปิดบ้าน SCG Open House ครั้งนี้ เอสซีจีจึงตั้งใจที่จะแชร์เรื่องราว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เอสซีจีเติบโตไปอย่างยั่งยืน

“ลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะความต้องการสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงตลาด คู่แข่ง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท ดังนั้น Passion ของคนเอสซีจี จึงคิดกันว่าทำอย่างไรจึงจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นกำลังใจ เพื่อให้คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ตลาด และสังคมที่เปลี่ยนไปให้ได้เช่นกัน”

เริ่มต้นด้วยเรือเล็กด้านดิจิทัล มุ่งสู่โลกสตาร์ทอัพที่ยิ่งใหญ่

ดร.จาชชัว แพส กล่าวว่า ในฐานะ Digital Transformation Director ของเอสซีจี มองว่าบทบาทของทีม Digital Transformation เปรียบเหมือนเรือเล็กที่จะทำให้องค์กรปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในยุค Digital Disruption ได้อย่างรวดเร็ว

3 จาชชัว แพส Digital Transformation Director

หนึ่งในภารกิจนั้นคือ การทำสตาร์ทอัพ การร่วมมือกับภายนอก และสร้างสตาร์ทอัพภายในองค์กร ถึงแม้ว่ากว่า 95% ของสตาร์ทอัพในวงการ มักล้มเหลวระหว่างทาง แต่เราเชื่อว่าการเรียนรู้ และทำทุกวันให้ดีขึ้น จะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้กระบวนการ และนวัตกรรมต่างๆ ขับเคลื่อนไปได้ดี

“Digital Transformation ต้องเชื่อมโยงกับสตาร์ทอัพผ่าน Corporate Venture ที่เอสซีจีได้จัดตั้ง AddVentures ขึ้น ในการเป็นหน่วยงานเพื่อเข้าไปสนับสนุนสตาร์ทอัพกลุ่มต่างๆ รวมถึงการหาพันธมิตรธุรกิจ ในการนำนวัตกรรมต่างๆ มาแก้ปัญหาให้องค์กร ปัจจุบันเราได้นำไปใช้แล้วกว่า 70 ตัว รวมทั้งการทำ Data Analytic และ Digital Marketing เพราะเราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างขึ้นมาเอง แต่ต้องหาความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อให้ทุกอย่างเร็วขึ้น”

นอกจากนี้ เอสซีจียังได้ทำ Internal Startup หรือสตาร์ทอัพภายในองค์กร ภายใต้โครงการ “Hatch-Walk-Fly” ด้วยแนวคิดที่เชื่อว่า ไอเดียต่างๆ ของสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นคนในองค์กรไม่ว่าใครก็ตามที่สนใจก็เหมือนไข่ ที่เราต้องมีหน้าฟูมฟักให้ออกมาเป็นลูกนก สามารถเดินและบินไปได้ด้วยตัวเองในที่สุด

Internal Startup สนามแห่งโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีฝัน

คุณเจมส์ พฤทธิวรสิน หนึ่งในทีมที่ร่วมงานในโครงการ Internal Startup ของเอสซีจี และผู้ร่วมก่อตั้ง Urbanice ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการสื่อสารข้อมูล ระหว่างนิติบุคคล และลูกบ้านในคอนโดหรือบ้านจัดสรรให้มีความราบรื่น กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการทำสตาร์ทอัพด้านนี้ว่า ตนเองร่วมงานในตำแหน่งวิศวกรกับเอสซีจีมา 3 ปี จากนั้นก็สมัครขอรับทุนเอสซีจี ศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจ จากนั้นก็สนใจเข้าร่วมหาประสบการณ์ใหม่ๆ กับโครงการนี้

4 เจมส์ พฤทธิวรสิน ผู้ร่วมก่อตั้ง Urbanice

“อยากทำสิ่งที่เป็น Digital Product เมื่อมีโครงการ Internal Startup จึงสมัครเข้าร่วมและได้ทำงานไประยะหนึ่ง โครงการนี้จะมี Mentor รวมทั้งโค้ชในวงการสตาร์ทอัพ ซึ่งเอสซีจีจัดมาให้ความรู้และให้คำแนะนำ เมื่อได้เข้ามาทำสตาร์ทอัพจริงๆ ทำให้รู้สึกได้ถึงคำว่า Ownership หรือความเป็นเจ้าของในธุรกิจนั้นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเมื่อได้ออกไปพบลูกค้า จะทำให้เรารับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้”

นอกจากโอกาสที่ได้รับจากเอสซีจี เช่น การได้ทุนไปเรียนต่อ ได้ย้ายตำแหน่ง หรือหน่วยงานที่ไปเจอสิ่งใหม่ๆ สิ่งสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จและยืนในจุดนี้ได้ คือต้องเริ่มรู้จักตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไร จากนั้นก็มุ่งเดินหน้าไปศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง รวมทั้งหาโอกาสที่จะก้าวไปสู่สิ่งนั้นให้ได้

สู่การออกแบบโซลูชั่นที่ดีกว่าจากแรงบันดาลใจ

ไม่เพียงแต่โครงการ Internal Startup จะที่จะมุ่งผลักดัน Passion ของคนรุ่นใหม่ให้เป็นจริง ซึ่งทุกธุรกิจของเอสซีจีเชื่อว่า Passion เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องให้การการสนับสนุนเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ตอบโจทย์ลูกค้าและสังคม

คุณวิจิตรวรรณะ บุรพจิต Assistant Design Catalyst Manager ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี หนึ่งในทีมที่ได้รับโอกาสนี้ กล่าวว่า มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นการนำวัตถุดิบมาเพิ่มมูลค่า ด้วยการออกแบบที่มีความพิเศษ เพื่อสร้างสรรค์ให้สินค้าเกิดความแตกต่างและเป็นที่จดจำ สิ่งนี้คือ Passion ที่จะตอบโจทย์ทั้งลูกค้าและองค์กร และถูกทำให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น คือโอกาสที่ได้ไปศึกษาต่อในสาขาเฉพาะทาง

5 วิจิตรวรรณะ บุรพจิต Assistant Design Catalyst Manager ธุรกิจเคมิคอลส์

“ตัวเองมีแรงบันดาลใจในการการออกแบบ เพราะเห็นช่องว่างและปัญหาในธุรกิจ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งท้าทายว่า จะสามารถสร้างความแตกต่าง สร้างมูลค่าเพิ่มหรือ Better Solution ให้สินค้าและบริการ รวมทั้งตอบโจทย์ทั้งลูกค้าและองค์กรไปพร้อมกันได้อย่างไร”

ตัวอย่างเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ก็จะต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจลูกค้า รวมถึงสินค้าและบริการนั้นๆ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุด เช่น สามารถใส่อาหารหลายอย่างรวมกันได้ หรือง่ายต่อการจัดอาหารของพนักงาน ทั้งหมดนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบ

“นอกจากนี้การได้รับโอกาสให้ไปศึกษาต่อด้าน Innovation Management ซึ่งเป็นทุนเฉพาะทาง ทำให้เราได้เปิดหู เปิดตา เปิดมุมมองที่กว้างขึ้น และสามารถนำมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ด้วย”

นอกจาก Passion ทุกคนต้องร่วมทุกข์ร่วมสุข

6 ศตพร ณ สงขลา Business Development Manager ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง

คุณศตพร ณ สงขลา Business Development Manager ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ซึ่งได้รับโอกาสให้ไปปฏิบัติงานต่างประเทศ กล่าวว่า ตนเองไม่รีรอที่จะตอบตกลงทันที เมื่อได้รับมอบหมายให้ไปทำงานที่อินโดนีเซีย หลังจากได้รับทุนเมื่อเรียนจบ ถึงแม้ว่าการไปทำงานจริงจะท้าทายกว่าที่คิด แต่ก็สนุกกว่าที่คิดเช่นกัน เพราะนอกจากจะได้รับผิดชอบด้านการวางแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้องหาโอกาสใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้วย

“ทีมงานที่เต็มไปด้วย Passion จะมีส่วนสำคัญให้งานออกมาดี การที่ทุกคนพร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุข ทำให้เราก้าวข้ามอุปสรรคไปสู่เป้าหมายความสำเร็จที่วางไว้ได้ การที่แต่ละคนจะมี Passion มีความคิดที่หลากหลาย สิ่งที่เราต้องทำคือ การทำให้ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน อีกความท้าทายหนึ่งก็คือ อินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่ ลูกค้ากระจายอยู่ตามเกาะต่างๆ การไปพบลูกค้าได้ จึงต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี ต้องก้าวผ่านความแตกต่างด้านวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่โซลูชั่นที่ดีให้ได้”

นอกจากนี้ควรสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ตนเองอยู่เสมอ ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า เพื่อให้เกิดเป็นมิตรภาพที่ดี และเป็นพันธมิตรทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่องค์กรจะได้รับประโยชน์ แต่เราก็ได้เรียนรู้การทำงานที่หลากหลาย เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับตัวเองได้ด้วย

2_1 รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

โอกาส x Passion = กุญแจสำคัญขับเคลื่อนนวัตกรรมของเอสซีจี

คุณรุ่งโรจน์กล่าวอีกว่า คนรุ่นใหม่ในบริบทของเอสซีจี ไม่ได้มองที่อายุ แต่มองถึงคนที่มีมุมมอง หรือทักษะด้านเทคโนโลยีเพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงาน และต้องกล้าที่จะลองคิด ลองทำ กล้ายอมรับความล้มเหลวและอุปสรรคต่างๆ เพื่อปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง

ซึ่งแนวทางในการบริหารคนรุ่นใหม่เหล่านี้ที่เอสซีจีให้ความสำคัญ คือ “การให้โอกาส” เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการที่สุด

“การที่คนรุ่นใหม่ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ทำให้เขากล้าที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งเอสซีจีก็ให้โอกาสเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการให้ไปเรียนต่อตามความชอบ ความถนัด การให้โอกาสในการเข้าไปทำตลาดในประเทศใหม่ๆ กระทั่งโอกาสในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ฉะนั้นโอกาสและPassion จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกปลูกฝังและถ่ายทอดต่อกันมาตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจของเอสซีจี

ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทำให้เราสามารถพัฒนาขึ้นได้ เพราะทุกคนคงหนีไม่พ้นสภาวะของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางครั้งอาจจะสำเร็จบ้าง เจออุปสรรคบ้าง หรืออาจจะล้มเหลว แต่บทเรียนที่สำคัญก็มักจะมาจากความล้มเหลวหรืออุปสรรคในการทำงานนั่นเอง”

7 บรรยากาศผู้ฟังในงาน


  • 372
  •  
  •  
  •  
  •