“ภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึง ไม่ใช่แค่เฉพาะธุรกิจ แต่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรา และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนของประชาชน ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้นมีมูลค่าตลาดสูงถึง 110% ของ GDP บางวันมีมูลค่าซื้อขายหุ้นถึงแสนล้านบาท แต่คนไทยเข้าถึงตลาดหลักทรัพย์เพียง 3 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากสำหรับประเทศที่มีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน ก.ล.ต. จึงเชื่อว่า เทคโนโลยี FinTech จะช่วยเปิดศักราชของการลงทุน เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลด้านการเงิน ได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง และสามารถสร้างผลตอบแทนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออิสรภาพทางการเงินในระยะยาว”
จากคำกล่าวเปิดงาน FinTech Challenge 2018 : The Discovery ของนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานรัฐที่ผลักดันให้เกิด Ecosystem ในประเทศไทยและส่งเสริมผู้มีนวัตกรรมให้พัฒนาบริการทางการเงินและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า 3 ฟินเทคสตาร์ทอัพดาวเด่นที่คว้ารางวัลจากงานนี้จะนำเสนอนวัตกรรมด้านการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและจะตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้หรือไม่
- “Credit OK” ทีมแชมป์ปีนี้ที่คว้าทุนนวัตกรรมประเภท Innovative FinTech จำนวน 200,000 บาท ด้วยการนำเสนอแพลตฟอร์มที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้าง “เครดิตสกอร์” ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย โดย ยิ่งยง ตันธนพงศ์พันธุ์ เผยถึงที่มาของแนวคิดว่า “ถ้าพูดถึงเครดิตสกอร์ เราอาจจะรู้จักเครดิตบูโรที่ให้บริการตรวจสอบเครดิตแก่บุคคลทั่วไป และนิติบุคคล พนักงานประจำ หรือคนที่มีรายได้ประจำ ทำให้ทราบถึงสุขภาพทางการเงินได้ แต่คนทั่วไปที่ไม่ได้มีเงินเดือนหรือรายได้ประจำ การวัดผลด้วยเครดิตสกอร์จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการตรวจสอบ เราจึงอยากช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยและเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อใช้ประกอบธุรกิจ (working capital loan) เพราะปัจจุบันคนกลุ่มนี้ยังมีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ดังนั้น Credit OK จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อปิด Credit Gap ตรงนี้ โดยใช้เทคโนโลยี Machine Learning จากข้อมูลหลายแหล่ง เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้า ข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลจากการใช้โซเชียลมีเดีย และแบบทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อสร้าง “เครดิตสกอร์” ที่มีความน่าเชื่อถือให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อให้มีโอกาสได้รับการพิจารณากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในการขยายธุรกิจที่เหมาะสม รวดเร็ว และด้วยความเสี่ยงที่ประเมินได้ อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ (Illegal Financing)ในสังคมไทยได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน Credit OK มีผลงานที่เคยได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องเครดิตสกอร์ให้กับกลุ่มช่างรายย่อย เพื่อให้ผู้แทนจำหน่ายของ SCG สามารถประเมินความน่าเชื่อถือในการซื้อวัสดุก่อสร้างจากผู้แทนจำหน่ายของ SCG ได้อย่างเป็นระบบ ในอนาคตอันใกล้น่าจะมีขยายตลาดเพิ่มมากขึ้นครับเพราะตลาดนี้ใหญ่มากมีมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกอบการ 2 ล้านราย”
- “JFIN Coin”: ได้รับทุนนวัตกรรมประเภท Popular Vote จำนวน 50,000 บาท ด้วยผลงาน DDLP – Decentralized Digital Lending Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการกู้ยืมเงิน โดยการนำเทคโนโลยีบล็อคเชน และการทำธุรกรรมด้วย Smart Contract ที่สามารถทํางานได้เอง มาใช้ในระบบ Digital Lending ตั้งแต่ส่วนของการระบุตัวตน (KYC) การคํานวณเครดิต (Credit Scoring) และกระบวนการการกู้ยืม (Lending Process) ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสินเชื่อรายย่อย (Micro Loan) ด้วยต้นทุนที่ลดลง และได้รับความสะดวกในการให้บริการซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการทางด้านการเงินเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่จะนำมาซึ่งความสูญเสียในหลาย ๆ ด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
- FINE : TAKETA (ทาเก็ตต้า) ได้รางวัลพิเศษ Wealth Award จำนวน 50,000 บาท ซึ่งตอบรับกับแนวทาง “5 ขั้นมั่นใจลงทุน” ของ ก.ล.ต. ด้วยเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มบน Mobile Application (IOS & Android) ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถจัดการเรื่องเงินและความมั่งของตนเองได้ง่ายขึ้น ถือว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้งานได้สัมผัสถึงความสนุกในการใช้งานไปพร้อมกับการเติบโตของทรัพย์สิน ความรู้ ความเข้าใจทางการเงิน โดยเข้าสู่แพลตฟอร์มผ่าน Website หรือ Download Application และเลือก Character ของ User และ Mate (คู่หูทางการเงิน) พร้อมตั้งเป้าหมายทางการเงิน แพลตฟอร์มจะช่วยคำนวนอัตราส่วนทางการเงิน, แผนการเงิน, Portfolio ทางการเงินที่เหมาะสม และสนับสนุนให้ผู้ใช้งานเริ่มสร้างนิสัย/พฤติกรรมใหม่ ๆ ทางการเงินที่สอดคล้องกับเป้าหมายของตนเอง โดยมีการแสดงผลการเติบโต-ถดถอยของความมั่งคั่ง แบ่งปันเคล็ดลับการลงทุน และกระตุ้นเตือนให้ลงข้อมูลรับ-จ่าย ทั้งนี้ทุก ๆ การบันทึกจะได้รับคะแนนเพื่อนำไปแลกรับส่วนลด/สินค้า-บริการจากพาร์ทเนอร์ที่ร่วมสนับสนุน
หลังจากนี้ทั้ง 3 นวัตกรรมคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเองว่า การผสานความรู้ด้านการเงิน (Financial) เข้ากับ เทคโนโลยี (Technology) จนกลายเป็นธุรกิจ FinTech ที่จะช่วยปลดล็อคโลกการเงินยุคใหม่ จะสามารถวิเคราะห์ pain point และแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานได้ตรงจุดจริงหรือไม่ ซึ่งถ้าทำได้จะช่วยสร้างโอกาสให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น