เปิดอกคุยทุกที่มาที่ไปของชายชื่อ “เต๋อ นวพล” ใน “Movie talks” โดย Central Embassy

  • 67
  •  
  •  
  •  
  •  

เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงจะรู้จัก หรือเคยได้เห็นผลงานของชายชื่อ “เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์นอกกระแสชื่อดังอย่าง “36”, “Mary is happy, Mary is happy” และ “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ”

httpv://youtu.be/gPHupZMCvYc

และล่าสุดกับการร่วมงานในการถ่ายทำเบื้องหลังแคมเปญ “This brings me here” ของ Central Embassy ที่ดึงแฟชั่นไอคอนระดับโลกอย่าง คิโกะ มิซูฮาระ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์

Central_Embassy_1

ซึ่ง เต๋อ นวพล จะมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของผลงานชิ้นนี้ และที่มาที่ไปของตัวเขากับเส้นทางเดินในวงการภาพยนตร์

ที่มาของคลิปเบื้องหลัง “This Brings Me Here ft. Kiko Mizuhara”

เต๋อ: คือมันเป็นอะไรที่คล้าย ๆ กับการถ่ายเบื้องหลัง แต่พอเราได้รู้ว่า เป็นการถ่ายให้กับ Central Embassy เลยอยากให้มันพิเศษขึ้นมาหน่อย เลยทำเหมือนกึ่งถ่ายหนังซ้อนเข้าไปในเบื้องหลังของโฆษณาตัวนี้ ด้วยแนวคิดที่ว่า “บางครั้งสถานที่ก็พาคนมาเจอกันโดยไม่ได้นัดหมาย” เลยเกิดไอเดียว่า ตัวละครหลักในคลิปนี้น่าจะเป็นเด็กฝึกงานที่ตามคุณคิโกะมาทำงาน แล้วได้เจอผู้คน ได้เจออาหาร เจอสถานที่ใหม่ ๆ และเขามีความรู้สึกดีที่ได้มา

ทุกคนคงรู้จักผลงานของคุณเต๋อแล้ว ขอย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นเลย รู้ตัวเองว่าอยากทำหนังเมื่อไหร่ ?

เต๋อ: จริง ๆ แล้วรู้ตัวเองว่าอยากทำหนังตั้งแต่สมัยม.ปลายแล้ว แต่ยุคนั้นเราต้องขวนขวายหน่อย เพราะกล้องดิจิตอลยังไม่มาเลย การทำหนังเป็นเรื่องใหญ่โตมากในสมัยนั้น แล้วหนังนอกกระแสก็ต้องไปตามหาดูเอาตามสถานฑูต หรือหอศิลป์ ยังไม่มีเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ใหญ่อย่างในปัจจุบัน ซึ่งเราก็เป็นคนที่ไปตามที่เหล่านั้น

Central_Embassy_2

ทำไมถึงเลือกเรียนอักษรศาสตร์ ?

เต๋อ: พอมาถึงช่วงที่ต้องเลือกคณะเรียน เราก็เลือกเรียนอักษรศาสตร์ เพราะว่าเศรษฐกิจช่วงนั้นค่อนข้างแย่ ฐานะที่บ้านเราก็กลาง ๆ และช่วงนั้นคนทำงานสายนิเทศก็โดนเลย์ออฟกันเยอะแยะเลย แล้วเราก็ชอบนิเทศกับอักษรเท่า ๆ กัน เลยคิดว่าไปอักษรก็ได้ เพราะเราคิดว่าเราน่าจะได้เรียนเกี่ยวกับสคริปต์ เพราะหนังที่เราชอบ ณ ตอนนั้นโปรดักชั่นก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก แต่มันมีสคริปต์ที่ดี

เรียนมา 4 ปี จนเรียนจบเรามีผลงานอะไรระหว่างเรียน ?

เต๋อ: ส่วนใหญ่จะเป็นงานเขียนก่อน ได้ทำหนังสือที่คณะ แล้วก็ได้ไปฝึกงานที่ a day ซึ่งมันมีประโยชน์ค่อนข้างมาก เพราะการทำหนังสือเราต้องลำดับใจความให้ได้ ซึ่งมันนำไปประยุกต์กับการทำสคริปต์หนังได้ เราจะเอามาจัดการในการเล่าเรื่องหนังของเราได้

งานแรกที่ได้เงินเกี่ยวกับเรื่องเขียนบท ?

เต๋อ: ตอนนั้นฝึกงานที่ GTH ซึ่งเงินที่ได้ก้อนแรกคือ พี่เก้ง จิระ เขามอบงานให้ผม ให้ลองรีไรท์บทให้เขาหน่อย ซึ่งพอเค้าดูแล้วเขาบอกว่า “มันคงใช้ไม่ได้หรอก แต่ผมชอบสามมุกนี้ ผมขอจ่ายเงินค่ามุกให้คุณละกัน” นั่นเลยอาจเป็นเงินก้อนแรกที่เราได้จากการเขียนบท

Central_Embassy_3

จากนั้นเราทำยังไงต่อ หลังจากที่ฉายแววให้เขาเห็นแล้ว ?

เต๋อ: หลังจากนั้น เขาก็เริ่มให้อ่านบทที่เขาส่งเข้ามา และเขาก็ให้ลองเขียนบท ซึ่งเขาจะให้คีย์เวิร์ดมานิด ๆ หน่อย ๆ เช่น ผมอยากจะทำหนังเกี่ยวกับ การจราจรในกรุงเทพฯ ความรักของคนทำงานกลางวันกับกลางคืน ซึ่งมันก็กลายมาเป็นเรื่อง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ในภายหลัง ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการเขียนบทภาพยนตร์ขนาดยาวนั้นมันเป็นยังไง

แล้วมันถูกใจเรามั้ย ? จากที่เราได้เห็นทุกกระบวนการตั้งแต่แรกจนมาเป็นหนัง

เต๋อ: คราวนี้อยากกำกับเองมากกว่า (หัวเราะ) คือไม่ได้ไม่ชอบงานของเขานะ แต่บางทีเราก็อยากทำในแบบของเรามากกว่า แต่การกำกับก็เป็นอีก Skill ที่ต่างไปจากการเขียนบท ซึ่งตอนนั้น พี่ย้ง ทรงยศ เขาก็ให้เราลองทำหนังสั้นเรื่อย ๆ เราเลยได้ลองทำงานกำกับที่จริงจังมากขึ้น

แล้วหลังจากนั้นเป็นยังไง ?

เต๋อ: หลังจากนั้น เราก็เริ่มมาทำอินดี้ของตัวเอง หาเงินเอง ถ่ายทำเอง เล็ก ๆ เพื่อที่จะลองฝึกกำกับ ชื่อเรื่องว่า “36” ซึ่งทำเอง หาสถานที่ฉายเอง ซึ่งตอนแรกไม่ได้เริ่มที่โรงหนัง ก็ฉายในห้องประชุมที่หอศิลป์ แต่หลังจากคนมาดูเยอะขึ้น เราก็ขยายไปเป็นโรงหนัง แล้วก็เริ่มส่งเทศกาลหนังที่ปูซาน แล้วก็ได้รางวัลกลับมา

Central_Embassy_4

แล้วโปรเจกต์ต่อไปคือ ?

เต๋อ: ผมว่ามันเป็นโชคดี ที่พอหลังจากปูซานแป๊บนึง มันมีงานจากโครงการของเวนิส เปิดรับสมัครเสนอโปรเจกต์พิชชิ่ง ว่ามีสคริปต์อะไรอยากทำมั้ย? แล้วเรามีไอเดียพอดีเลยรีบส่งไป ซึ่งอีกสองสามเดือนนั้นก็รู้ผลว่าได้ โดยไอเดียนั้นคือการทำหนังจากทวิตเตอร์ เลยกลายเป็นหนังเรื่อง “Mary is happy, Mary is happy”

เคยมีโมเมนต์ที่คิด Content ไม่ออกมั้ย ?

เต๋อ: จริง ๆ คือทุกวันนี้แหละครับ คือคิดบทเรื่องใหม่ไม่ออกนั่นแหละ เพราะเราทำหนังมาปีละเรื่อง ๆ แล้วการทำเรื่องใหม่มันก็เหมือนการไปเจอประเทศใหม่ การทำมาห้าเรื่องมันให้มุมมองที่มากขึ้น แต่มันไม่ได้ทำให้คิดออกได้เร็วขึ้น หลัง ๆ มาเราเลยไปทำอย่างอื่นก่อนไปเลย วางไว้ก่อน เหมือนรีเซ็ตหัว ให้มันได้พัก ซึ่งระหว่างพัก บางทีพอถึงเวลามันก็คิดออกเอง

คำถามสุดท้าย เหตุการณ์ในปัจจุบัน มีเหตุการณ์ไหนบ้างที่อยู่ในความสนใจของเต๋อ ที่คิดว่ามันน่าจะมาทำเป็นหนังได้นะ ?

เต๋อ: จริง ๆ แล้ว เหตุการณ์ของบ้านเรามันเกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดียค่อนข้างเยอะนะ ถ้าคิดเร็ว ๆ คดีคุณเปรี้ยวก็น่าสนใจนะ มันมีหลายมุมให้เล่น จะเล่าจากฝั่งคนหั่นก็ได้ เล่าจากฝั่งคอมเมนท์บนโลกออนไลน์ก็ได้ จะเล่าจากฝั่งตำรวจก็ได้ หรือจะไปเรื่องผีก็ได้ เพราะผมรู้สึกว่ามันมีหลายมิติ มันมีหลายมุมให้มอง

Central_Embassy_5

และนี่ก็คือ เวิร์คช็อป Movie Talk ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Art & Design Weeks– 7 Weeks Celebration Central Embassy กิจกรรมร่วมเฉลิมฉลองของ Central Embassy นั่นเอง สำหรับกิจกรรมในครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 และ 25 มิถุนายน นั้น คือกิจกรรม Flower Workshop โดย วิทยากรคือ Oneday Flower ร้านดอกไม้ที่มีไอเดียในการสร้างสรรค์ช่อดอกไม้ให้แปลกใหม่เสมอ

และกิจกรรมสุดท้ายในวันที่ 1 และ 2 กรกฎาคม นั้นคือ Ceramic Marbling Workshop ซึ่งคนที่จะมาสอนการสร้างศิลปะลวดลายหินอ่อนนั่นก็คือ คุณปอม ธัชมาพรรณ หรือ Pomme Chan นักวาดภาพประกอบฝีมือระดับนานาชาตินั่นเอง

Copyright © MarketingOops.com


  • 67
  •  
  •  
  •  
  •