3G ช่วยหนุนตลาดมือถือ

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

iphone2เศรษฐกิจไทยยังคงมีสัญญาณการหดตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากไตรมาส 4 ปี 2551 มีตัวเลขปรับลดถึง 4.3%  นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี และคาดว่าแนวโน้มจะมีไปถึงไตรมาส 2 ปีนี้ ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวม

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่คาดว่ายังมีแนวโน้มเติบโตท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แม้ว่าอาจชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็ถือว่ามีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

3G-MNP ต่อยอดโอกาส

ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี จำนวนผู้มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ต่ำกว่า 31.9 ล้านคน และมีจำนวนเลขหมายกว่า 61 ล้านเลขหมาย อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้อีกจากสองปัจจัยหลัก คือ ระบบ 3G และ บริการคงสิทธิเลขหมายมือถือ (MNP)

ในส่วนของระบบ 3G ล่าสุด กทช. เตรียมจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ โดยวิธีประมูลใบอนุญาตให้แก่ผู้ให้บริการ 4 ราย รวมทั้งคาดว่าอาจมีผู้ให้บริการจากต่างประเทศสนใจที่จะเข้ามาลงทุนด้วย เนื่องจากไทยเป็นประเทศท้ายๆ ที่ยังไม่เปิดให้บริการ 3จี จึงอาจเป็นโอกาสขยายตลาด และกระตุ้นให้การลงทุนภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางภาวะซบเซาในปัจจุบัน หากทั้งหมดนี้สามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้

ทั้งนี้ คาดว่าช่วง 2-3 ปีแรก แต่ละรายน่าจะลงทุนประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นเม็ดเงินโดยรวมอาจสูงถึงประมาณ 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินลงทุน 3G บนคลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ ของ บมจ.ทีโอที ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกประมาณ 29,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ระบบ 3G ยังจะส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น บริการอินเทอร์เน็ต ธุรกิจซื้อขายออนไลน์ ธุรกิจบริการชำระเงินออนไลน์ ธุรกิจเกมออนไลน์ เป็นต้น

ขณะที่ บริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP) จะทำให้เกิดการแข่งขันในการแย่งชิงและรักษาฐานลูกค้ามากขึ้น เพราะผู้บริโภคจะสามารถเปลี่ยนเครือข่ายได้ โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนเลขหมาย ดังนั้น ผู้ให้บริการจะต้องออกโปรโมชั่นหรือกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะดึงดูดลูกค้าเดิมเอาไว้ โดยเฉพาะการทำซีอาร์เอ็ม  ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการให้บริการที่ดีขึ้น

ตลาดบริการมือถือปีนี้โต 0-2%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดบริการโทรศัพท์มือถือปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 166,000-169,000 ล้านบาท ขยายตัว 0-2% ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่มีมูลค่าประมาณ 166,000 ล้านบาท ขยายตัว 4% 

ด้านปัจจัยลบต่อตลาดบริการมือถือ มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภคลง แต่เนื่องจากปัจจุบัน มือถือกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต ทำให้คาดว่าการใช้บริการจะชะลอตัวลงไม่มากนัก

ขณะที่ การแข่งขันด้านราคายังคงอยู่ในระดับสูง เพราะในภาพรวมแล้วถือว่าตลาดเข้าใกล้จุดอิ่มตัวมากขึ้น จากสัดส่วนผู้ใช้งานที่มีถึง 96.2% ของจำนวนประชากร ดังนั้น จะเห็นกลยุทธ์การเพิ่มปริมาณการโทรด้วยโปรโมชั่นหลายรูปแบบตามลักษณะของลูกค้ามากขึ้น

ยอดขายมือถือพ่ายพิษเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์มือถือ จะได้รับผลกระทบมากกว่าเนื่องจากถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างหนึ่ง ดังนั้น ผู้บริโภคอาจชะลอการเปลี่ยนเครื่องใหม่ และมีแนวโน้มที่ส่วนแบ่งตลาดมือถือเฮ้าส์แบรนด์ และอินเตอร์แบรนด์จะขยับมาเป็นสัดส่วน 30 ต่อ 70

ทั้งนี้ คาดการณ์จำนวนโทรศัพท์มือถือใหม่ในปี 2552 ไว้ที่ 8.8-9 ล้านเครื่อง ใกล้เคียงหรือลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่มีประมาณ 9 ล้านเครื่อง แต่มูลค่าตลาดอาจปรับลดมาอยู่ที่ 30,000-31,500 ล้านบาท หรือประมาณ 10-15% จากปีก่อนที่มีมูลค่าราว 35,000 ล้านบาท หดตัวลงประมาณ 5%

รวมทั้ง ผู้จำหน่ายเครื่องอาจใช้กลยุทธ์ปรับลดราคา เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการซื้อเครื่องใหม่เพื่อนำไปใช้เป็นมือถือเครื่องที่สองมากขึ้น สอดคล้องกับการแข่งขันด้านราคาของผู้ให้บริการ ที่เน้นโปรโมชั่นโทรภายในเครือข่ายเป็นหลัก

ขณะเดียวกัน การแข่งขันด้านการออกแบบและฟังก์ชันยังเป็นตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะการใช้งานแบบทัชสกรีน และรองรับระบบ 3จี น่าจะเป็นรูปแบบการใช้งานหลักของโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ปีนี้

บริการเสริมใหม่ๆ ต้องรอ 3G

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดบริการเสริม (นอนวอยซ์) ยังมีโอกาสขยายได้อีกมาก เมื่อเทียบกับตลาดบริการเสียง ที่โอกาสเพิ่มเลขหมายใหม่น้อยลง และผู้ใช้ระมัดระวังการโทรมากขึ้น และตามมาด้วยประมาณการโทรที่ลดลง

ขณะที่ แม้ผู้บริโภคยังคงใช้เอสเอ็มเอส และเอ็มเอ็มเอสเป็นหลัก แต่การใช้บริการเสริมอื่นๆ เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการข่าว บริการเสียงเพลงรอสาย/เรียกเข้า และบริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งช่วยทำรายได้แก่ผู้ให้บริการมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดบริการเสริมมีข้อจำกัดอยู่ 2 ด้าน คือ เทคโนโลยี ที่ยังไม่มีการเปิดใช้บริการระบบ 3จี ทำให้มีข้อจำกัดในการพัฒนา เนื่องจากต้องใช้ความเร็วในการรับส่งข้อมูล

ส่วนข้อจำกัดอีกด้านหนึ่ง คือ ผู้ใช้บริการยังมีสัดส่วนไม่มาก เพราะพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคยังคงเน้นการโทรเป็นหลัก ผู้ที่ใช้บริการเสริมด้านข้อมูล ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและวัยทำงาน  รวมทั้งมักอยู่ในเขตเมือง

ทั้งนี้ ข้อจำกัดด้านผู้ใช้ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ให้บริการ ซึ่งแม้ภายหลังการเปิดให้บริการ 3จี ก็คาดว่าผู้ใช้บริการหลักน่าจะเป็นกลุ่มดังกล่าว ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% เท่านั้น

ดังนั้น หากผู้ให้บริการต้องการขยายตลาดบริการเสริม จะต้องดึงดูดให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาใช้บริการมากขึ้น โดยต้องพัฒนาคอนเทนท์ให้มีความหลากหลาย ใช้งานง่าย และเข้ามาช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวันสะดวกสบายขึ้น


  •  
  •  
  •  
  •  
  •