มุมมองที่ Startup ต้องรู้จาก “กระทิง – หมู” 2 ผู้บริหาร 500 Tuk Tuks

  • 4
  •  
  •  
  •  
  •  

IMG_0081

“กระทิง – หมู” 2 ชื่อนี้ คนในวงการ Startup รวมถึงวงการนักลงทุน (VC) ต้องรู้จักเป็นอย่างดี เพราะทั้ง 2 คนคือผู้ก่อตั้งและผู้บริหารกองทุน 500 Tuk Tuks ซึ่งถือได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องมาจาก 500 Startups กองทุนที่มุ่งลงทุนในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีที่เป็น Startup และแน่นอนว่า ชื่อ 500 Tuk Tuks ก็เพื่อสื่อถึงว่าจะเน้นลงทุนใน Startup ไทยเป็นหลัก

เรืองโรจน์ “กระทิง”พูนพล คือ คนไทยที่เคยทำงานในกูเกิลที่ Silicon Valley อยู่นานหลายปี และมีความฝันจะสร้างความมหัศจรรย์ที่ Silicon Valley ให้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย และหนึ่งในก้าวที่สำคัญของความฝันนั้น คือการตั้งกองทุน 500 Tuk Tuks ขึ้นมา และด้วยระยะเวลากว่า 3 เดือนในการทำงานที่ผ่านมา (เริ่ม ก.ค. 58) กองทุนนี้ก็สามารถลงทุนใน Startup ไทยไปแล้ว 10 ราย เป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30 ล้านบาท เฉลี่ย Startup ละ 3 ล้านบาท) และนี่คือรายชื่อของทั้ง 10 บริษัท

Omise – Payment Gateway เพื่อผู้ทำธุรกิจออนไลน์ทุกคน

Claim di – ประกันภัยดิจิทัลรายแรกของไทย

Flowaccount – ระบบบัญชีแบบง่ายๆ สำหรับเอสเอ็มอี

Skootar – ระบบแมสเซ็นเจอร์ออนไลน์

Hubba – สถานที่ทำงานแบบ Co – Working Space

Wishbeer – เว็บไซต์นำเข้าและจัดส่งเครื่องดื่มถึงบ้าน

Blisby – สถานที่ขายสินค้าแฮนด์เมด วินเทจ และงานฝีมือ

Styhunt – แพล็ตฟอร์ม e-Commerce  รวมร้านค้าแฟชั่น

Washbox – บริการซักรีดแบบ on demand

Take me tour – เว็บไซต์ท่องเที่ยวที่เชื่อมตรงถึงคนท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น

กระทิง บอกว่า 10 รายชื่อนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะมีการเพิ่มเงินทุนใน 500 Tuk Tuks อีก 2 ล้านดอลลาร์ ทำให้เหลือเงินในกองทุนอีก 11 ล้านดอลลาร์ สำหรับใช้ลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้า และมีเป้าหมายจะลงทุนให้ได้ 60-70 Startup ไทย ยิ่งกว่านั้นจะเร่งสปีดในการลงทุนให้เร็วขึ้นอีก เพื่อสร้าง Ecosystems ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเร็วที่สุด

IMG_0060

Startup ที่จะเข้าตา ต้องของจริง

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา Startup ที่ 500 Tuk Tuks ลงทุนไปส่วนใหญ่จะมีการเติบโต 10 เท่า ซึ่งถือเป็นอัตราที่ปกติ บางรายอาจจะมากกว่านั้น แต่การจะเข้าไปลงทุนไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะใส่เงินลงไปทันที

ณัฐวุฒิ “หมู” พึงเจริญพงศ์ หนึ่งในผู้บริหาร 500 Tuk Tuks บอกว่า Startup ไทยที่ดีมีอยู่มาก และมีโครงการสนับสนุนอยู่แล้ว ขอแค่มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน และตัวธุรกิจมีความแตกต่างจากในตลาดสามารถสร้าง Impact ให้เกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่ 500 Tuk Tuks จะใช้เวลากับ CEO และทีมงานของ Startup นั้นๆ ทำความรู้จักกันให้มากขึ้น จากนั้นจะให้คำปรึกษาเพื่อดูว่า เอาจริงเอาจังแค่ไหน มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ พอเริ่มมีฐานลูกค้าจำนวนหนึ่ง จึงเริ่มต้นเข้าไปลงทุนอย่างจริงจัง

ที่สำคัญ นั่นคือกระบวนการยกระดับ Startup ไทย เพื่อดึงดูดให้ VC จากที่อื่นๆ ได้เห็นศักยภาพ เพราะบอกเลยว่ามีเงินทุนรออยู่อีกจากหลายกองทุนที่พร้อมจะเข้ามา

การลงทุนของ 500 Tuk Tuks จะให้เงินทุนประมาณ 3 ล้านบาทกับ Startup ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ไปเป็นค่าบริหารจัดการ และค่าการตลาด จากการศึกษาพบว่าสามารถดำเนินการได้ประมาณ 18 เดือน  ซึ่งภายในระยะเวลานี้ Startup ต้องสามารถสร้างฐานลูกค้าให้ใหญ่พอ สร้างรายได้มากพอ ที่จะ Raise Fund ครั้งต่อไปให้ได้

IMG_0027

5 ปี คาดไทยมี Startup ระดับ Unicorn

หลายคนเห็น VC จำนวนไม่น้อยให้ความสนใจเข้ามาลงทุน และมี Startup ไทยจำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้นมาในอุตสาหกรรม คาดว่าปัจจุบันมีอย่างน้อย 500 บริษัทที่พยายามสร้างสรรค์บริการอยู่ การที่เห็นเม็ดเงินเคลื่อนไหวมากๆ จึงเริ่มกังวลว่าจะเกิดเหตุฟองสบู่ขึ้นหรือไม่

กระทิง ยืนยันว่า Startup ไทย อยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ถือว่ายังเล็กมาก ห่างไกลจากคำว่าฟองสบู่ จากการสำรวจพบว่ามูลค่าการลงทุนของ VC ใน Startup แต่ละประเทศ เช่น

สิงคโปร์ มูลค่าการลงทุน 600 ล้านดอลลาร์

มาเลเซีย มูลค่าการลงทุน 400 ล้านดอลลาร์

เวียดนาม มูลค่าการลงทุน 44 ล้านดอลลาร์

ไทย มูลค่าการลงทุน 20 ล้านดอลลาร์

ทั้งที่มีองค์ประกอบ มีความพร้อม และมีทุกอย่างที่เอื้อต่อการเริ่มต้นและเติบโตที่ดีกว่า แต่ไทยยังมีมูลค่าการลงทุนจาก VC ตามหลังเวียดนามอยู่อีกมากกว่าเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า (2562) จะมี Startup ไทย ที่สามารถขึ้นถึงระดับ Unicorn ได้ (มูลค่าบริษัท 1,000 ล้านดอลลาร์)  ซึ่ง Favstay บริการเปลี่ยนที่พักเป็นโรงแรม เป็นหนึ่ง Startup ที่น่าจับตามอง

500

* Image Credit: 500 Startups

แนะรัฐเร่งปรับตัว สนับสนุน Startup

ต้องยอมรับว่า รัฐบาลไทย ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ Startup อีกมาก และการจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เติบโต ดึงเม็ดเงินลงทุน สร้างรายได้ สร้างบุคลากรและสร้างงาน รัฐบาลต้องทำความเข้าใจและมีมาตรการสนับสนุนที่ถูกต้องออกมาโดยเร็ว ซึ่งจากมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่มีกำไรอยู่แล้ว ต่างจาก Startup ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการที่ยังไม่มีกำไร (หรืออาจยังไม่มีรายได้ด้วย)

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ Startup ส่วนใหญ่จะย้ายไปตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ (ส่วนมากเป็นเงื่อนไขของ VC ด้วย) เพราะมีมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนมากกว่า เช่น การให้หุ้น Class ที่ดีกว่าสำหรับนักลงทุน ถือเป็นการปกป้องนักลงทุน การอนุญาตให้หุ้นพนักงาน การทำ Matching Fund คือ นักลงทุนลงเงินเท่าไร รัฐบาลจะลงเงินให้อีกเท่ากัน (1:1) หรือการยกเว้นภาษีเมื่อขายหุ้นออกจากบริษัท (Exit)

ถ้ามองว่า Silicon Valley คือตลาดอันดับ 1 ของโลก Startup เมื่อมอง สิงคโปร์ จากมาตรการทั้งหมด จึงเป็นหนึ่งในตลาดที่ติดอันดับ Top 10 สำหรับ VC และ Startup ในระดับโลก


  • 4
  •  
  •  
  •  
  •