ปฏิวัติวงการส่งเอกสาร Skootar แมสเซ็นเจอร์ออนไลน์

  • 13
  •  
  •  
  •  
  •  

skootar4

สิ่งที่ทำให้ Skootar ชนะเลิศ Dtac Accelerate Batch3 คว้าตั๋วเครื่องบินไปดูงานไกลถึง Silicon Valley ได้ไปสัมผัสถึงถิ่นกำเนิด Startup ขนานแท้ คือ ไอเดียที่สามารถแก้จุด pain point ให้กับโลกในชีวิตจริง และสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้ ครั้งนี้ Marketingoops ได้มีโอกาสจับเข่าคุยกับ Skootar อย่างใกล้ชิด พร้อมบอกเล่าว่า ได้อะไรกลับมาบ้างจากอเมริกา

ความสามารถคนไทย ไม่แพ้ใครจริงๆ

ถ้าคนมีเงินซื้อตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวอเมริกา เดินเข้าไป Silicon Valley ก็จะเห็นว่าเป็นแค่เมืองๆ หนึ่ง ไม่มีแหล่งท่องเที่ยว มีอะไรน่าสนใจนอกจาก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่สร้างเจ้าพ่อในวงการเทคโนโลยีมาหลายคนแล้ว แต่ถ้าคุณคือเจ้าของธุรกิจเทคโนโลยี ถ้าคุณคือ Startup ที่มีความฝันอยากสร้างบริการที่โดนใจคนใช้ ไปจนถึงระดับ Unicorn (มีมูลค่าบริษัทเกินหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น uber, snapchat) บอกได้เลยว่าที่นี่คือ สถานที่ในฝัน ที่จะเติมเต็มแรงบันดาลใจของคุณ

คุณบอย สุวัฒน์ ปฐมภควันต์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Skootar บอกเล่าถึงประสบการณ์ว่า ทีมงานได้มีโอกาสไปร่วมงาน Demo Day Batch14 งานของ 500 Startups ซึ่งเป็น VC รายใหญ่จัดขึ้น และมี Startup 40 ทีมเข้ามานำเสนอผลงาน ตามปกติแล้วจะมีแต่นักลงทุนเท่านั้นที่เข้าได้ แต่นี่คือตั๋วพิเศษที่ Skootar ได้รับ และเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ ได้เห็นว่า Startup ทั้ง 40 ทีม มีแนวคิดที่ดี และหลายๆ บริการก็เหมือนกับที่ Startup ไทยคิดขึ้น

“Startup ที่นั่นสร้างสรรค์กันมาก มี 2-3 รายที่ไอเดียดีสุดๆ คือ เรียกว่าระดับหัวกะทิ แต่ส่วนใหญ่เหมือน Startup ไทยเลย แสดงว่าคนไทยก็มีความสามารถไม่ต่างจากคนต่างประเทศ บางบริการคนไทยคิดและทำได้เจ๋งกว่าด้วย แสดงว่าโอกาสในการก้าวเข้ายังมีอยู่”

นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวกลางที่เชื่อมโยงถึง VC ที่เข้าร่วมงาน Demo Day ทำให้พบว่า VC ให้ความสนใจ Startup ในภูมิภาคเอเชีย และอาเซียนพอสมควร เพราะเทคโนโลยีไม่แตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ไอเดียคือสิ่งสำคัญ ยิ่งตอกย้ำว่า Startup คือธุรกิจแห่งโอกาสอย่างแท้จริง

หลังจากจบงาน Demo Day ก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมบริษัทระดับโลก เช่น Facebook ที่เหมือนเป็นเมืองที่ทุกคนทำงานอย่างอิสระ Google ต้นแบบบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่ Apple ที่เป็นเหมือนศูนย์บัญชาการ CIA เพราะทุกอย่างคือความลับ และปิดท้ายด้วย Airbnb ที่น่าจะเป็นบริษัที่สวยงามที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะถอดแบบทุกมุมของบริษัทออกมาจาก Magazine ด้านการออกแบบ (เสียดายที่เขาห้ามถ่ายภาพ)

คุณบอย บอกว่า ทุกบริษัทเห็นแล้ว น่าทำงานด้วยมากๆ

IMG_6325
นุ บอย โก้ Skootar

Skootar แมสเซ็นเจอร์ออนไลน์ เพื่อ SME

หลังจากเล่าประสบการณ์ไปเยือน Silicon Valley จบแล้ว ก็ย้อนกลับมาพูดถึง Skootar ซึ่งเป็นบริการเรียกแมสเซ็นเจอร์ออนไลน์ ผ่านเว็บและแอพพลิเคชั่น คุณโก้ กมลพฤทธิ์ ชุมพล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บอกว่าปัจจุบันมีแมสเซ็นเจอร์ 400 คนรให้บริการอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร และจับกลุ่มลูกค้า SME เป็นหลัก เพราะเข้าใจว่าทุกบริษัทจำเป็นต้องส่งเอกสาร แต่ถ้าต้องจ้างพนักงานส่งของไว้ ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่เกินจำเป็น ยิ่ง SME ยิ่งลำบาก จุดเด่นคือ

1 กระบวนการเข้าใจง่าย คนสั่งงานลงทะเบียนกับ Skootar แล้วสามารถสั่งงานผ่านเว็บหรือแอพ จากนั้นแมสเซ็นเจอร์จะวิ่งมารับงานไปส่ง ระบบบสามารถตรวจสอบได้ว่า ของส่งถึงมือผู้รับหรือไม่ ค่าบริการจ่ายกับ Skootar จึงสามารถออกใบเสร็จรับเงินได้

2 แมสเซ็นเจอร์ทุกคนมีการกรั่นกรอง มีการรับประกันการส่งของทุกครั้ง มีการจัดอันดับให้เรทติ้ง เพื่อความเชื่อมั่นและไว้วางใจ

3 เน้นสนับสนุน SME เพื่อความสะดวก ประหยัด มีราคามาตรฐาน ไม่ต้องจ้างเป็นพนักงานประจำ

4 ด้านแมสเซ็นเจอร์ หากทำงานดี มีความประพฤติดี มีโอกาสได้งานมากขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น โดยแมสเซ็นเจอร์จะได้รายได้เป็น Commission Base ทาง Skootar โอนให้ทุก 2 สัปดาห์ โดยแมสเซ็นเจอร์ที่ทำเงินได้มากที่สุด 15,000 บาทต่อ 2 สัปดาห์

การคิดค่าบริการ จะเริ่มต้นที่ 70 บาท และคิดเพิ่มกิโลเมตรละ 10 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับเวลาที่เสียไป และงานที่ได้ถือว่าคุ้มค่า สามารถสั่งงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่การรับส่งงานจะเน้นในเวลาปกติ หรือดูจากความจำเป็นและมีการโทรเพื่อตรวจสอบก่อน

12138461_1733565256873864_2838097701913611894_o

เทคโนโลยี ช่วยให้การส่งของง่ายขึ้น

คุณนุ ธีภพ กิจจะวัฒนะ ผู้ก่อตั้งอีกคน กล่าวว่า กระบวนการทำงาน SME จะทำงานผ่านเว็บหรือแอพ Skootar ขณะที่แมสเซ็นเจอร์จะมีแอพ Skootar Driver เมื่อมีการสั่งงานเกิดขึ้น ระบบจะทำการจับคู่ผู้สั่งงานกับแมสเซ็นเจอร์ผ่านระบบ GPS ระบบจะแจ้งเตือนไปยังแมสเซ็นเจอร์จำนวนหนึ่งที่อยู่ใกล้ที่สุด ถ้ามีแมสเซ็นเจอร์คนไหนกดรับงาน ถือว่าคนนั้นได้งานนั้นไป

ในการสั่งงานจะมีระบุจุดเริ่มต้น ปลายทาง หมายถึงจะให้มารับของที่ออฟฟิศไปส่ง หรือไปรับของมาส่งที่ออฟฟิศ หรือไปหลายๆ ที่ก็ได้ ระบบมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สะดวกกับการใช้งาน ถ้าแมสเซ็นเจอร์รับงานแล้ว จะต้องโทรไปเพื่อคอนเฟิร์มกับผู้สั่งงาน และการันตีเวลา 45 นาทีเพื่อไปถึงจุดเริ่มต้น

สำหรับ Skootar Driver นอกจากทำหน้าที่รับงานแล้ว ยังเป็นตัวบริหารจัดการให้กับแมสเซ็นเจอร์ มีการแจ้งเตือนงานใหม่ เตือนงานที่รับทำ และงานที่กำลังทำอยู่

skootar1

ตอบโจทย์ความต้องการ เป็นมากกว่าแมสเซนเจอร์

เป้าหมายของ Skootar คือ ต้องสร้างบริการให้ครอบคลุมมากที่สุด ใช้ระบบเพื่อบริหารจัดการคำสั่งส่งของ และเส้นทางเพื่อช่วยลดราคาค่าบริการให้กับผู้ส่ง ปัจจุบัน Skootar มีลูกค้าประจำ 2,600 ราย อาจจะดูไม่เซ็กซี่ ไม่ได้มีผู้ใช้หลักแสนหลักล้าน แต่นี่คือกลุ่มที่ใช้งานจริง สร้างรายได้ให้กับ Skootar ได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการใช้งานเกิดขึ้น

โดยลูกค้าประจำแบ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ใช้งานส่งเอกสารวางบิลประมาณ 60% ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักของ Skootar ส่วนอีก 40% เป็นลูกค้าทั่วไปที่ทำธุรกิจขายของออนไลน์ หรือใช้บริการทั่วไป เช่น ซื้อดอกไม้-ส่งดอกไม้ ส่งสัตว์เลี้ยง นักเรียนลืมกระเป๋านักเรียน ซื้ออาหาร ซื้อยา ซึ่งทำให้ Skootar เข้าใจลูกค้ามากขึ้น และรู้สึกดีที่ได้ทำมากกว่า แมสเซ็นเจอร์

“มีครั้งหนึ่งมีคำสั่งซื้ออาหารและยา ตอน 4 ทุ่ม และมีแมสเซ็นเจอร์รับงาน ทาง Skootar ก็โทรไปช่วยเช็คให้ว่า เป็นการสั่งจริง ไม่ได้การทดสอบ หรือการแกล้งกัน ปรากฎว่า เป็นคุณแม่ที่ฝากซื้ออาหารและยาให้ลูก เพราะไม่สามารถปลีกตัวออกมาได้ ก็รู้สึกดีว่า บริการของเราช่วยคนอื่นได้”

skootar2

รู้เขารู้เรา เทียบหมัดต่อหมัด Skootar กับคู่แข่ง

บริการแมสเซ็นเจอร์ออนไลน์ Skootar ไม่ใช่เจ้าเดียวที่ให้บริการ ยังมี LaLamove ที่เป็นบริการที่ได้เงินทุนจากฮ่องกง แต่เน้นบริการส่งอาหารเป็นหลัก ขณะที่ Grabbike น่าจะเคยได้ยินกันดี เป็น Startup ที่ขึ้นสู่ระดับ Unicorn แล้ว แต่เน้นบริการส่งคนเป็นหลัก เทียบกับ Skootar ที่จับกลุ่ม SME เน้นการส่งของที่ ไป-กลับได้ เพิ่มจุดส่งและรับของได้สูงสุด 10 จุดในรอบเดียว

เรียกว่าแต่ละรายมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป แต่สุดท้ายเชื่อว่าจะต้องมีการแข่งขันกันเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้นต้องเน้นสร้าง Unfair Advantage ให้เกิดขึ้นมากที่สุด

ปัจจุบัน Skootar มียอดการใช้งานกว่า 2,000 Transaction ต่อเดือน มีเป้าหมายว่าภายใน 12 เดือนจะเพิ่มเป็น 60,000 Transaction ต่อเดือน ระยะเวลาในการตอบรับงาน 1 นาที และการันตี 45 นาทีไปถึงจุดเริ่มต้น อาจจะมองว่า 60,000 Transaction เป็นจำนวนที่สูง แต่ถ้าดูว่ากลุ่มเป้าหมายคือ SME ที่มีอยู่ประมาณ 6 แสนรายในเขตกรุงเทพ ขอเวลา 10% ของ SME มาใช้บริการเดือนละครั้งก็ได้ตามเป้าแล้ว

ดังนั้น Skootar ต้องทำให้ SME รู้จักให้มากและเร็วที่สุด เพราะมีความเชื่อว่า SME ทุกรายมีความต้องการใช้งานแมสเซ็นเจอร์ ซึ่งถ้าได้ตามเป้าหมายดังกล่าวภายใน 12 เดือน นั่นหมายความว่า Skootar จะเป็น Startup ไทยที่ขึ้น Series A ไปอีกหนึ่งราย และนี่คือ อีกหนึ่ง Startup ที่เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คนได้แน่นอน

SKOOTAR เเมสเซ็นเจอร์ออนไลน์

httpv://youtu.be/44AGSKIP1XU

skt2

Copyright © MarketingOops.com


  • 13
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE