คุยกับ ‘ทัชพล ไกรสิงขร’ CTO อายุน้อยที่สุดในวงการ Chatbot เมืองไทย

  • 548
  •  
  •  
  •  
  •  

CB_F

พูดถึง Chatbot หนึ่งในเครื่องมือการตลาดที่กำลังได้รับความสนใจจากแวดวงธุรกิจระยะนี้แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ ยิ่งสำหรับคอโซเชียลด้วยแล้วคงได้เคยลองสัมผัสกับการโต้ตอบอัตโนมัติของเฟซบุ๊ค แมสเซ็นเจอร์  ไลน์ หรือแอพโซเชียลแถวหน้าของโลกที่คอยตอบทุกคำถามที่เราอยากรู้ในเวลาอันรวดเร็ว

แต่ถ้าบอกว่า วันนี้ตลาดไทยของเราก็มี Chatbot ที่คนไทยทำขึ้นเองได้แล้ว และมีธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายรายตอบรับนำไปใช้งานจริง ยิ่งช่วยขยับดีกรีความน่าสนใจให้กับตลาด Chatbot ไทยดูมีสีสันน่าติดตามมากขึ้นอีก

CB_1

“เทรนด์ Chatbot ในไทยเริ่มเห็นชัดมากขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเริ่มเห็นประโยชน์ของเครื่องมือชิ้นนี้และเริ่มเป็นคำถามต่อมาว่า แล้วองค์กรจะสร้าง Chatbot ที่ดีให้กับลูกค้าได้อย่างไรบ้าง” มุมมองของ ทัชพล ไกรสิงขร CTO & Co-founder ConvoLab แชทบอทสายพันธุ์ไทยที่ว่า ซึ่งแม้จะจัดอยู่ในกลุ่มน้องใหม่ในวงการสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยี และอายุในวัยเพียง 27 ปี แต่ถ้าไล่เรียงดูโปรไฟล์แล้ว อาจไม่ใช่หน้าใหม่เสียทีเดียว

ไม่ว่าจะด้วยนามสกุลไกรสิงขร ทายาทของตำนานซอฟต์แวร์ไอบีเอ็ม ประเทศไทย “ทัชพล” ยังจัดเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ที่มีเป้าหมายชัดเจนมากว่า ต้องการสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการสื่อสารธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ

เลยกลายเป็นที่มาของ ConvoLab?

CB_2

จริงๆ ผมเริ่มต้นสายงานซอฟต์แวร์อย่างจริงจังในไอบีเอ็ม ประเทศไทย และอาเซียน ได้เกือบ 4 ปี ก็ตัดสินใจลาออกมาเริ่มทำ ConvoLab อย่างเต็มตัว ซึ่งโอกาสในไอบีเอ็มทำให้มองเห็นว่า ไอบีเอ็มเป็นเหมือน Research Center ของโลกที่มักจะคาดการณ์เทรนด์เทคโนโลยีต่างๆไว้ล่วงหน้าก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์), มองบล็อกเชน ว่าจะเป็นอนาคตของอินเทอร์เน็ต และปีนี้ที่ไอบีเอ็มประกาศว่าเทคโนโลยีควอนตัมกำลังมา ซึ่งการได้ทำงานกับไอบีเอ็มทำให้มองเห็นเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ Chatbot ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่า เทรนด์ของเทคโนโลยีในตลาดไทยส่วนใหญ่จะช้ากว่าสหรัฐประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งปัจจุบัน Chatbot ในสหรัฐเติบโตสูงมาก ดูจากข้อมูลบอทที่บิสสิเนส อินไซเดอร์รวบรวมมาพบว่า ตลาด Chatbot ขยายตัวกว่า 170% ใน 3 เดือน

ในไทยตลาดยังใหม่มาก แต่ดูตามเทรนด์แล้วก็น่าจะเป็นจังหวะเริ่มเติบโต และเห็นบริษัทใหญ่ๆในไทยเริ่มมองหา Chatbot เพราะด้วยคุณสมบัติตอบโจทย์ธุรกิจได้ชัดเจนอยู่แล้ว

“ธุรกิจอยากไปที่ที่ลูกค้าอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเว็บไซต์ โมบายแอพ และมาถึงยุคของการใช้ Chat” 

แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่า Chatbot หน้าที่แท้จริงคือ ลดจำนวนคนลงไม่ใช่การแทนที่ทั้งหมด เพราะบางอย่างก็ต้องใช้การติดต่อกับคน และเน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าที่ถามแล้วได้คำตอบเร็วมากกว่า

“เอไอ เป็นอนาคตของตลาด และ Chatbot เป็นคลื่นลูกแรกของ เอไอ ที่ชัดที่สุดว่าเป็นเทคโนโลยีที่มาแน่ในตลาดโลก เพราะคนทั่วไปอาจจะยังไม่รู้ว่า เอไอ คืออะไร และทำอะไรได้บ้าง แต่ Chatbot จะเป็นด่านแรกที่ทำให้คนจำนวนมากได้รู้จักกับ เอไอ” 

ทำไมต้องใช้ Chatbot?

CB_3

ทัชพล อธิบายว่า Chatbot เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ใหักับลูกค้า ให้ธุรกิจสื่อสารกับลูกค้าได้ดีมากขึ้นจากยุคของโซเชียล มีเดีย มาร์เก็ตติ้ง และพัฒนาการของพฤติกรรมลูกค้าที่เริ่มมอง Chat หรือการสื่อสารผ่านข้อความ เป็นช่องทางแรกสำหรับการติดต่อกับธุรกิจหรือแบรนด์ต่างๆ แทนที่จะใช้โทรศัพท์เหมือนเมื่อก่อน ไม่ว่าจะเป็นการ Chat ผ่านไลน์ หรือเฟซบุ๊ค

โดยผลสำรวจคนวัยทำงานในช่วงอายุ 30-40  ปีของบริษัท Software Advice  ยังพบว่า 63% ของคนกลุ่มดังกล่าวเลือกการ Chat เป็นช่องทางแรกเมื่อต้องการติดต่อสื่อสารกับแบรนด์/ธุรกิจต่างๆ

นอกเหนือจากข้อมูลทั่วไปแล้ว คนกลุ่มนี้ยังต้องการทำทรานแซคชั่นได้ทันทีผ่าน Chatbot โดยไม่ต้องติดต่อผ่านคอลล์ เซ็นเตอร์ หรือคนอีก

หัวใจของ Chatbot คือเอไอ

CB_4

แต่หลักการทำงานของ Chatbot ที่สำคัญคือ การใช้เทคโนโลยีเอไอ ที่เปรียบเหมือนมีสมองประดิษฐ์ที่ต้องใช้การสอน เพื่อให้ระบบเกิดการเรียนรู้วิธีที่จะแก้ปัญหาตามโจทย์ต่างๆ เช่น ถ้าต้องการให้ Chatbot ต้อนรับลูกค้าได้ เบื้องหลังก็คือ การใช้เอไอที่โปรแกรมเมอร์จะต้องป้อนข้อมูลการดูแลลูกค้าในแบบที่หลากหลายหรือมีตัวอย่างใส่ไว้ก่อนเพื่อให้ระบบเรียนรู้ได้  และสามารถโต้ตอบได้อัตโนมัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้การสอนของโปรแกรมเมอร์แทนที่จะใช้การเขียนโค้ดหรือคำสั่งคอมพิวเตอร์เหมือนโปรแกรมอื่นๆ และเป็นจุดที่สร้างความแตกต่างให้กับ Chatbot ของแต่ละราย

นอกจากนี้ Chatbot ต่างกับเว็บไซต์แบบเดิมๆที่ทำเมนูบนหน้าเว็บให้ลูกค้าเลือกกดเข้าไป ซึ่งธุรกิจหรือองค์กรจะสื่อสารกับลูกค้าผ่าน User Interface ของเว็บ แต่ Chatbot เป็นช่องทางที่สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง ซึ่งนอกเหนือจากการเชื่อม Chatbot เข้ากับระบบข้อมูลของธุรกิจแล้ว หัวใจของ Chatbot ที่ดีคือ ต้องมีระบบเอไอ ที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจภาษาสื่อสารของมนุษย์ที่ไม่มีแบบฟอร์มตายตัวได้ด้วย

CB_7

ทัชพล บอกว่า หน้าที่หลักๆใน ConvoLab คือ ออกแบบสถาปัตยกรรมให้ใช้งานกับ IBM Watson ซึ่งเป็น เอไอ ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดตัวหนึ่งในตลาด และเข้าไปช่วยลูกค้าตั้งแต่เริ่มคิดจะทำ Chatbot และดีไซน์หน้าตาของ Chatbot ให้ตรงตามโจทย์ของลูกค้า ซึ่งตั้งแต่เริ่ม ConvoLab เมื่อ ก.ย.ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีลูกค้าในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในไทยตอบรับใช้งานแล้วหลายราย ทั้งลูกค้าสถาบันการเงิน, ธุรกิจโฆษณาและอสังหาริมทรัพย์

“มิชชั่นของเราคือ Improve the way business communicate with customer ซึ่ง Convo มาจาก Conversation ส่วน Lab สื่อถึง Innovation ที่ต้องการจะบอกว่า เราทำทุกอย่างที่จะช่วยยกระดับการสื่อสารระหว่างองค์กรกับลูกค้า และไม่ใช่แค่ Chatbot เท่านั้น แต่เรากำลังมองไปถึงการทำโรบอตหรือเออาร์เพื่อให้บริการลูกค้าสามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น”

CB_8

ส่วนจุดแตกต่างที่สำคัญจาก Chatbot รายอื่นๆ คือ ความยืดหยุ่นในการเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลลูกค้าได้ทุกค่าย และใช้เทคโนโลยี IBM Watson ซึ่งเป็นเอไอที่มีความแม่นยำสูง รวมถึงโมเดลการติดตั้งระบบที่เปิดกว้างให้องค์กรเลือกว่าจะใช้บริการ Chatbot ผ่านคลาวด์ หรือติดตั้ง Chatbot ในองค์กร และการทำงานแบบเอ็นด์ทูเอ็นด์ ที่ทำได้ตั้งแต่การดีไซน์หน้าตาของ Chatbot และ เอไอ ในแบบที่ธุรกิจต้องการจนถึงการแมนจ เซอร์วิสให้กับลูกค้าและการอินทริเกรทเข้ากับระบบ

มีของก็ต้องโชว์ 

แต่นอกเหนือจากประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์แล้ว ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การได้พิสูจน์ฝีมือของสตาร์ทอัพไทย แม้จะอายุน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับคนสร้างซอฟต์แวร์ในแวดวงเดียวกัน และบริษัทหน้าใหม่ที่ทำโปรดักส์ขายให้กับองค์กรขนาดใหญ่ใช้งาน

ทัชพล บอกว่า ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นจังหวะดีที่ธุรกิจในไทยก็เริ่มเปิดกว้างกับสตาร์ทอัพไทยมากขึ้น นอกจากนี้บริษัทก็มีโซลูชั่นจริงที่โชว์กระบวนการทำงานว่าลงทุนแล้วทำงานได้จริงแน่นอนเป็นหนึ่งในจุดสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่จะใช้บริการสตาร์ทอัพไทย

ชีวิตสตาร์ทอัพ VS ไอบีเอ็มเมอร์

CB_6

ไม่เหมือนกันเลย ตอนอยู่องค์กรใหญ่ความรู้สึกมันจะคงที่เหมือนวิ่งอยู่บนราง การทำงานจะมีคนช่วยสนับสนุนเราเต็มที่ ซึ่งข้อดีคือ ได้ทำงานร่วมกันกับคนเก่ง และการทำงานกับเทคโนโลยีที่ยากๆ แต่พอออกมาทำสตาร์ทอัพเอง อย่างแรกที่ได้คือ อิสระ และการเปิดกว้างไอเดียใหม่ๆ แต่ก็ต้องแลกกับความกดดันที่สูงขึ้น ที่จะรู้เฉพาะเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องรู้จักวางแผนธุรกิจตัวเองด้วย

“ผมจบด้านพลังงานทดแทน แต่การเขียนโค้ดเป็น Passion ส่วนตัว ตอนที่ยังเรียนอยู่ก็ 8 ชั่วโมงเรียนหนังสือ แต่อีก 8 ชั่วโมงมาหัดเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เอง ซึ่งผมว่าผู้ชายหลายๆคนจะเป็นเหมือนๆกันคือ ชอบเล่นเกม พอเล่นไประดับหนึ่งแล้วจะเริ่มอยาก เขียนโค้ดได้ พอเขียนเป็นแล้วช่วงนั้นแอนดรอยด์ออกมาใหม่ๆ ก็เริ่มเขียนแอพพลิเคชั่นขายในเว็บอะเมซอน (เกม Scramble Touch บนมือถือแอนดรอยด์) จนได้ลงหน้าหนึ่งของเว็บอะเมซอน”

จากนั้นก็มีทำสตาร์ทอัพกับเพื่อนๆในสมัยมหาวิทยาลัยอีกนิดหน่อย หลังจากจบก็มาทำไอบีเอ็ม เมื่อประมาณปี 2011 เริ่มต้นงานเทคนิคอลในไอบีเอ็ม ประเทศไทย ที่ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเราทำได้ ไม่ใช่จับพลัดจับผลูมาทำ และได้มีโอกาสลงสนามจริง ได้รับมือกับลูกค้ามาตั้งแต่อยู่กับองค์กรใหญ่

ถ้ามี 100% เต็มตอนนี้ให้คะแนนตัวเองเท่าไร

น่าจะประมาณ 40-50 % ที่ยังต้องไปต่อ ซึ่งด้วยโปรดักส์ก็สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพแล้ว มีธุรกิจใหญ่ๆให้ความสนใจใช้งาน ซึ่งรูปแบบการทำงานส่วนหนึ่งก็จะเหมือนกับระบบขององค์กรใหญ่ แต่ความได้เปรียบของสตาร์ทอัพแบบเราคือ ความยืดหยุ่นสูงกว่า

ส่วนเรื่องความท้าทายส่วนใหญ่ในเชิงเทคนิคยังไม่มีอะไรที่แก้ไม่ได้ แต่จะเป็นเรื่องของบิสสิเนสของสตาร์ทอัพมากกว่า เพราะจากองค์กรใหญ่มาเป็นองค์กรเล็ก ก็ต้องหาทีมมาช่วยกัน และต้องเรียนรู้ทุกอย่างให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง เริ่มเปลี่ยนระบบการคิดจากเทคนิคอลมาเป็นการบริหารจัดการธุรกิจด้วย โดยตั้งเป้าหมายของบริษัทคือ การเป็นผู้นำ Chatbot Provider ในไทย

สตาร์ทอัพต้องโฟกัส

อย่างไรก็ตามที่อยากจะฝากไว้สำหรับวงการสตาร์ทอัพในมุมมองส่วนตัวเห็นว่า ปัจจุบันสตาร์ทอัพในไทยมีอีเวนท์เยอะมาก บางทีอาจทำให้สตาร์ทอัพขาดโฟกัสว่าทุกวันนี้เรากำลังทำอะไรกันอยู่ และต้องระวัง เพราะภาพรวมทั้งภูมิภาคตอนนี้คือ มีเงินทุนไหลเข้ามาเยอะมาก ทำให้สตาร์ทอัพได้รับข้อเสนอต่างๆเยอะ ข้อดีคือ อาจจะมีคนสนใจมาก แต่ก็ต้องดูเงื่อนไขด้วย ว่าอาจจะทำให้สตาร์ทอัพขาดอิสรภาพ การสร้างไอเดียใหม่ๆ หรือความยืดหยุ่นในการทำงาน ต้องดูด้วยว่าสิ่งที่ต้องแลกมามีอะไรบ้าง

CB_5

“ทำสตาร์ทอัพมันไม่ใช่แค่ทำโปรเจค แต่ต้องใช้เวลาเป็นปี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องรู้คือ เราทำสตาร์ทอัพเพื่ออะไร เพื่อเงิน หรือมีเป้าหมายอะไรบ้าง เพราะถ้าทำเพื่อเงินเป็นหลักมันก็จะมีวิธีที่ทำให้ได้เงินอีกหลายแบบ แต่ถ้าเราทำเพื่อให้เกิดคุณค่ากับอุตสาหกรรมหรือประเทศ ซึ่งถ้าเรามีวิชั่นแบบมีเราก็จะสนุกกับมัน เกิดแรงบันดาลใจ และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มากกว่าจะล้มเหลว” 


  • 548
  •  
  •  
  •  
  •