เริ่มต้นเป็น Startup แนวทางสร้างไอเดีย หานวัตกรรม และนำเสนอแหล่งนายทุน

  • 266
  •  
  •  
  •  
  •  

ทุกวันนี้เริ่มได้ยินคำว่า Startup เยอะขึ้น  โดย Startup เป็นอะไรที่ใกล้เคียงกับ SMEs นั่นคือการเป็นเจ้าของธุรกิจ มีเงินทุน แตกต่างกันก็เพียง SMEs คือธุรกิจที่เกิดขึ้นได้โดยมีความพร้อม มีเงินทุน มีแผนธุรกิจ และต้องทำกำไรให้เติบโต แต่สำหรับ Startup คือธุรกิจที่เกิดขึ้นได้โดยไอเดีย มีแผนธุรกิจที่แตกต่างทางด้านช่องทาง สามารถนำนวัตกรรมมาปรับใช้กับธุรกิจให้เติบโตได้เร็วในต้นทุนที่ต่ำ ที่สำหรับ Startup เป้าหมายหลักคือเงินทุน จาก นายทุน (Venture Capital, VC) เพื่อสานต่อนวัตกรรมและธุรกิจของตัวเอง

ควรเลือกเป็นอะไรดีระหว่าง Startup กับ SMEs?

ไม่ว่าจะเป็น Startup หรือ SMEs แล้วจุดเริ่มต้นส่วนใหญ่มาจากที่เดียวกัน คือการมีธุรกิจเป็นของตนเอง ธุรกิจของตัวเองเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการโดยเฉพาะคนใน Generation นี้ แต่ข้อจำกัดในด้านเงินลงทุนเป็นกำแพงชั้นแรก สำหรับ SMEs ค่าใช้จ่ายสูงในการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ เป็นที่มาของการกู้ยืมเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ หรือบางคนก็อาจจะมีต้นทุนที่ดีกว่ามีโรงงาน มีพื้นที่ มีเงินทุนจากครอบครัวหยิบยืมมาทำทำให้ SMEs มีปัญหาในเรื่องของเงินทุน ตรงกันข้าม Startup ในช่วงเริ่มต้นอาจจะใช้เงินทุนของตัวเองในปริมาณที่น้อยกว่า SMEs ในการเริ่มลงทุนด้วยเงินที่น้อยกว่า นำเสนอ Idea จำพวก Business Model ในรูปแบบ Prototype หรือ Pilot Plan (ต้นแบบของตัวรูปแบบแผนธุรกิจ และผลลัพธ์การคำนวณรายได้เบื้องต้น) เดินเข้าไปเสนอกับนายทุน (VC) ด้วยการที่ใช้เงินทุนที่น้อยกว่า SMEs หลายเท่า และใช้เพียงแค่ไอเดียที่สร้างสรรค์ พร้อมแผนธุรกิจต่อยอดที่ตรวจทานรอบครอบพร้อมนำเสนอทำให้ หลายคนที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเองในยุคนี้เลือกที่จะเป็น Startup มากกว่า ยังไงก็ตามแม้ว่าแนวทางการเป็น Startup จะเป็นอะไรที่ฟังดูง่าย เป็นไปได้ แค่มีความพร้อม มีไอเดีย สถิติโดยรวมแล้ว ความสำเร็จของ Startup นั้นกลับอยู่ที่ 10% อีก 90% นั้นคือล้มเหลว[1]เพราะ Startup ที่จะประสบความสำเร็จนั้นต้องมีไอเดียที่เข้าขั้น Perfect (ยอดเยี่ยม) จริงๆ ถึงจะได้ไปต่อ หรือ หากว่าไอเดียที่นำเสนอมีความใกล้เคียง หรืออยู่ในส่วนของ การเพิ่มนวัตกรรมเข้าไปช่วยเหลือ การหา VC ที่ชอบก็เหมือนเข้าไปนัดบอดหาคู่คนที่ใช่

เป็น Startup ต้องมี นวัตกรรม

หากพูดเรื่องของการมีไอเดีย มีแผนธุรกิจแล้ว Startup ที่ต้องการนำเสนอแผนตัวเองให้ราบรื่นต้องมีสิ่งหนึ่งเข้ามาช่วยเหลือนั่นคือ นวัตกรรม (Innovation) ถ้าแปลแล้ว นวัตกรรมไม่ได้หมายความเป็นสิ่งใหญ่ หรือเทคโนโลยี แต่ นวัตกรรม คือ การทำบางสิ่งให้ดีขึ้นกว่าเดิม ตอบโจทย์ความสะดวกสบายมากกว่าเดิม ดังนั้นให้ลบภาพความไฮเทค และเทคโนโลยีออกไป ยกตัวอย่างเช่น AirBNB หรือ Cookly ถ้าเรารู้จักอย่างผิวเผินเราคงคิดว่ามันคือ เว็บ หรือ แอพพลิเคชันในการรีวิว จอง ที่พักประเภทโฮมสเตย์ แอพพลิเคชันมันคือ นวัตกรรมใหม่ อันที่จริงแล้วมันไม่ใช่! นวัตกรรมคือการที่บริกหารของ AirBNB นั้นไปช่วยเหลืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวท้องถิ่นไม่ให้ผูกขาดกับธุรกิจโรงแรมที่ราคาแพงกว่าแล้วต้องเสียค่าเดินทางไปมา แต่กลับไปเกื้อหนุนโดยการให้ใครที่สนใจทำโฮมสเตย์ที่พักจากบ้านหรือห้องเช่าที่เรามีอยู่แล้วเป็น สถานที่พักผ่อนในท้องถิ่นนั้นให้เกิดเป็นรายได้ และยังสนับสนุนให้ผู้ที่ไปพักผ่าน AirBNB ได้สนับสนุนธุรกิจระแวกนั้นเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในตัว เช่นกัน Cookly ก็มีความน่าสนใจในฐานลูกค้าต่างประเภทที่ต้องการมาเที่ยวแบบโฮมสเตย์ในประเทศไทย และเรียนการทำอาหารเมนูท้องถิ่นไปในตัวโดยเจ้าของที่พัก หรือโฮมสเตย์นั้นต้องแทรกกิจกรรมลงไป

Cookly

จะเห็นว่าตัวอย่างที่ยกมาให้นั้น แผนธุรกิจ รูปแบบการได้มาซึ่งรายได้จากผู้ใช้งาน และยังไปต่อยอดช่วยเหลือธุรกิจการท่องเที่ยวท้องถิ่น เป็นสิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรม ที่ยกระดับธุรกิจท่องเที่ยวแบบเดิม และฉีกการผูกขาดจากระบบโรงแรมราคาแพงออกไป แอพพลิเคชัน และ เทคโนโลยีที่เพิ่มเข้ามานั้นเป็นเพียง ช่องทางของผู้ใช้งาน หรือผู้บริโภคทั่วไปที่ต้องการ และมีความคาดหวังในได้เข้าถึงธุรกิจมากขึ้นดังนั้นแอพพลิเคชัน เทคโนโลยีใหม่ หรือระบบเว็บไซต์ เป็นเพียงส่วนช่วยเหลือในการขับเคลื่อนนวัตกรรมของรูปแบบธุรกิจเท่านั้นเอง

ทักษะ ความรู้ และแหล่งเงินทุน

ถ้าเรามีไอเดียในการออกแบบแผนธุรกิจแล้ว ก่อนจะนำเสนอนายทุนสิ่งที่ต้องมีคือ การประเมินความเป็นไปได้ในการลงมือทำ Pilot หรือ Prototype เบื้องต้น ทักษะและความรู้คือสิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถลงมือทำ และประสบการณ์จากการลงมือทำคือสิ่งที่จะช่วยแก้ไข และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทักษะ และความรู้นั้นอยู่ที่ไหนแน่นอนว่า สถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย นั้นเป็นแหล่งในการสร้างทักษะความรู้ชั้นยอด

ยิ่งสถาบันที่มีการลงมือทำ และเพิ่มเติมกรณีศึกษาน่าสนใจลงไปเพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์ยิ่งจะช่วยให้ ผู้ที่อยากเป็น Startup ได้เตรียมตัว หลังจากนั้นแล้วคือประสบการณ์ที่ต้องลองทำจริง หรืออ่านศึกษาจากข่าว สถานการณ์ ตัวอย่างเช่น การวิจัยความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะชำนาญในด้านใดก็ตาม ทั้งภาคอุตสาหกรรม การเกษตร การท่องเที่ยว ด้านไอที หรือการศึกษา ล้วนแต่ต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจผู้บริโภคในท้องตลาดก่อน ว่าบริการหรือสินค้าไหนที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ดีกว่า หรือนวัตกรรมตัวไหนเป็นช่องทางที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคและเชื่อมโยงให้เข้ามาเป็นลูกค้าตามแผนธุรกิจของเรา ไปจนถึงวิเคราะห์คู่แข่งในท้องตลาดว่ามีรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ตัวไหนที่เหมือนกันและเราจะใช้ไอเดียสร้างสรรออกแบบให้แตกต่างได้อย่างไร

การหา VC และเงินทุน

ในเมื่อเรามีไอเดียมีแผนธุรกิจ และมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วย จนเริ่มเกิดเป็นรูปเป็นร่าง แล้วเราจะมีความมั่นใจระดับหนึ่งในการเข้าไปเสนอนายทุน (VC) การวิ่งหานายทุนเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะแน่นอนว่าเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเริ่มต้นเข้าไปนำเสนอที่ไหน สิ่งที่ทำได้คือ การเข้าประกวดตามโครงการที่จัดขึ้นโดย องค์กร ภาครัฐ และเอกชน ไปจนถึงองค์กรต่างประเทศ และอีกแนวทางหนึ่งคือ การระดมทุนผ่านช่องทางออนไลน์ที่เรียกว่า Crowdfunding เพื่อนำเสนอไอเดียจากคนบนโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อสานต่อ ธุรกิจ Startup ของเรา

แผนที่หนึ่ง การเข้าประกวด โครงการ Startup

การเข้าแข่งขันประกวดโครงการ นำเสนอไอเดีย เป็นแผนหนึ่งที่จะทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ตลาดการแข่งขันมันสูง และ การเป็น Startup ไม่ได้เป็นง่ายๆ อย่างที่เข้าใจ และถ้าหากล้มเหลวจากการเข้าประกวด หรือนำเสนอแล้วก็ยิ่งได้โอกาสที่เพิ่มขึ้น เพราะคำแนะนำจากนายทุนทั้งหลายนั้น เป็นการบอกให้เราพบว่าช่องโหว่หรือแผนธุรกิจของเรานั้นขาดเหลืออะไร ผิดพลาดเล็กน้อยตรงไหน หรือใช้ได้ผลหรือไม่ VC เหล่านี้มีประสบการณ์และมองเกมขาดอยู่แล้ว ส่วนการเฟ้นหา VC นั้นให้ลองติดตามข่าวสารผ่านเว็บไซต์ http://500.co  หรือ http://500.co/500tuktuks-fund ไปจนถึง โครงการมากมายได้แก่

อีกแนวทางคือการเตรียมนำเสนอผลงานให้กับหน่วยงานภาครัฐ ส่วนมากจะเป็น Technology-Startup

รูปแบบ Startup ที่รัฐบาลไทยสนับสนุนและมุ่งส่งเสริม มีอยู่ 6 กลุ่มหลักคือ

  • E-Commerce: การค้า และธุรกรรมอิเล็คทรอนิกส์ คือผู้ประกอบการร้านค้าอยู่ที่ในรูปแบบการค้าออนไลน์ เพื่อสร้างระบบเงินหมุนเวียนช่วยเหลือแก่ SMEs ธุรกิจส่วนตัว OTOP และสนับสนุนการจ่ายเงินชำระเงินของระบบ Payment ทั้งหลาย
  • FinTech: การเงิน ส่วนมากเป็นรูปแแบบการจัดการด้านการเงิน และช่วยเหลือการเงิน นักลงทุน โดยการเป็นเหมือนที่ปรึกษา หรือผู้จัดการผ่านช่องทางที่สะดวก และเข้าถึงง่าย เช่น แอพพลิเคชันบนมือถือ หรือระบบเว็บไซต์
  • Agritech: ด้านการเกษตร และเชื่อมโยงการผลิตและส่งออกโดยใช้นวัตกรรม ทางด้านเทคโนโลยีมาช่วยเหลือ และยังช่วยสนับสนุนในเรื่องของธุรกิจทางด้านการขนส่ง Logistic ให้เติบโตควบคู่กันไป
  • EdTech: การศึกษาเป็นส่วนหลักที่มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นเพราะเป็นการต่อยอดในการสร้างทักษะแก่บุคคลากร โดยเฉพาะในปัจจุบันการศึกษาแบบ On-Demand ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตสามารถช่วยเหลือให้ผู้ที่ยากไร้ได้เข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา สื่อการสอน รูปแบบใหม่ๆ จึงปรากฏขึ้นในรูปแบบของ EdTech มากขึ้น
  • E-Service: เป็นการสร้างนรวัตกรรมการบริการที่กว้างขึ้น โดยลดเวลาในการเดินทาง เช่นระบบการตัดสินใจ ระบบการขนส่ง คมนาคม เป็นต้น
  • Internet of Things: เป็นนวัตกรรมการสร้างการเชื่อมโยงสิ่งของ หรือ อุปกรณ์ เช่น อาคาร บ้าน รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ให้สามารถเชื่อมต่อและควบคุมได้ระยะไกลผ่านแอพพลิเคชัน หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

แนวทางที่สองคือ การระดมทุนจาก Crowdfunding

อันที่จริงผมเคยเล่าเรื่องเหล่านี้ไปแล้วเกี่ยวกับ Crowdfunding หรือ การระดมเงินทุนจากกลุ่มคน หลายๆ กลุ่ม โดยส่วนมากจะเห็นมากในโลกออนไลน์ คนที่สนใจเงินทุนส่วนนี้ไม่ต้องมีอะไรมาก แค่เพียงนำเสนอไอเดีย ที่เปลี่ยนโลก เปลี่ยนความคิด หรือสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรม ออกสู่สายตาของมวลชนบนโลกออนไลน์ซึ่งอาจจะผ่านช่องทางเว็บไซต์ที่เป็น Social Funding หรือ Crowdfunding หาทุนสนับสนุนจากคนที่ชื่นชอบในไอเดีย และติดตามเราได้อย่างง่ายดายกระบวนการของ Crowdfunding นั้นยืดหยุ่นตามระบบพื้นฐานของมัน ทำให้นายทุนที่มาสนุบสนุนผลงานไอเดียของเรานั้นจะเป็นใครก็ได้บนโลกออนไลน์ใบนี้ ซึ่งทำให้ง่ายในการหาเงินทุนมากกว่ากระบวนการแบบเก่าที่ต้อง วิ่งว่อนนำเสนอไอเดีย หรือหางานประกวดให้ได้รางวัล ทำให้รูปแบบการหานายทุนรูปแบบนี้ได้ถูกจัดให้ Crowdfunding เป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกการเงินชิ้นหนึ่ง ที่เอื้อต่อ SMEs หรือ Startups หน้าใหม่ไฟแรง ที่ไม่ต้องเผชิญโลกอันโหดร้ายในแง่ของการเข้าไม่ถึงนายทุนอีกต่อไป

เพราะใครสักคนบนโลกออนไลน์ก็สามารถเป็นนายทุนให้คุณได้ตลอดเวลา หากถามว่าโอกาสมีมากน้อยแค่ไหนให้จินตนาการว่า ณ ปัจจุบันนี้โลกออนไลน์มีผู้ใช้งานกี่คนใน Social Network ต่างๆ คำตอบที่น่าจะนึกออกก็คงจะเป็นตัวเลข หลายล้านกว่าคน ถ้าเราขอระดมทุนจากคนเหล่านั้นคนละ 1 บาทเพื่อช่วยให้โครงการของเราผ่านได้ เราก็จะได้เงินทุนหลายล้านบาท ส่วนเรื่องการตอบแทนคนเหล่านั้นก็อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาโปรดักด์ต่อไปในอ นาคต 

Startup Idea: Sharing Economy (เศรษฐกิจแบ่งปัน)

อย่างที่กล่าวไว้ นวัตกรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นแค่การปฏิรูปธุรกิจ และการใช้ชีวิตของคนทั่วไปให้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Uber, Grab Taxi ที่เข้ามาตอบโจทย์การแก้ปัญหาชีวิตคนเมืองที่เรียก Taxi ได้ลำบากเหลือเกิน หรือ Grab Bike (ตอนนี้มี Go Bike) ที่มาตอบโจทย์การส่งของ พัสดุ หรือ ไปมาด้วยยานพาหนะที่คล่องตัวอย่างมอเตอร์ไซค์ ไปจนถึงบริการระดับองค์กรอย่าง Kerry Express การเปลี่ยนวิธีชีวิตเหล่านี้ของผู้คนจึงเรียกว่านวัตกรรม อย่างโมเดลของ Grab Bike, Grab Car หรือ Uber ในช่วงหลังใช้รูปแบบการขับเคลื่อนแบบ Sharing Economy หรือเศรษฐกิจแบ่งปัน โดยการจัดสรรเวลาว่าง พื้นที่ว่าง ระยะเวลาที่ไม่เกิดผลกำไรให้กลายเป็นโอกาสในการสร้างกำไร และ แบ่งปันรายได้ให้แก่กันและกัน เช่นเว็บไซต์ “รถเที่ยวกลับ” ที่มีบรรดารถเที่ยวกลับที่ไม่มีสินค้าขนส่งต้องขับกลับเปล่าๆ ก็สามารถเข้าไปใช้บริการ เพื่อขนของจากผู้ว่าจ้างกลับมายังปายทางที่เราต้องขับผ่าน หรืออย่าง Uber ที่ใครที่มีรถก็สามารถเข้ามาสมัครขับได้ หรือจะเป็น AirBNB ที่ว่ามาข้างต้น Fastwork.co ที่ยังไม่ค่อยชัดเจนนักแต่ใกล้เคียง กับ Task Rabiit ที่สามารถให้ใครก็ได้เข้ามารับจ้าง จิปาถะตั้งแต่งานง่ายๆ เช่น ส่งของระหว่างทางตามบ้าน ไปเสิร์ฟอาหารเป็นช่วงเวลาที่เราว่าง หรือ งานแรงงานเช่นการรับจ้างซ่อมแซมเป็นต้น

sharing-economy

AirBNB

taskrabbit

พร้อมจะเริ่มต้นเป็น Startup หรือยัง?

ทีนี้เราก็จะทราบแหล่งนายทุน และรูปแบบที่จะได้มาซึ่งเงินทุนแล้ว ต่อจากนี้คือการเริ่มต้นเป็น Startup  เราต้องการเริ่มต้นไอเดีย และแผนธุรกิจ โดยใช้ทักษะความรู้ที่มี การวิเคราะห์แนวโน้มและปัจจัยของตลาด วิเคราะห์คู่แข่ง และคิดให้ได้มากที่สุดว่าขาดเหลืออะไร ควรเริ่มทำต่อ หรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น แต่ถ้ามีความมั่นใจแล้วก็ให้ลงมือทำ โดยการคิดหานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ ใน ช่วงเวลา และการเข้าถึงบริการให้ดีที่สุด อย่างที่บอกครับ Startup เพียง 10% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ

m6

 

ข้อมูลผู้เขียน

บัญญพนต์ พูลสวัสดิ์ปริญญาโทสาขาไอที สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ปัจจุบันควบตำแหน่งเจ้าของบริษัท เดย์เดฟ จำกัด รับออกแบบ และพัฒนา แอพพลิเคชันและเกมบนสมาร์ทโฟน และ ตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบและการพัฒนาเกม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต

 

สามารถติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร digital Age ฉบับที่ 211

หรือทาง http://www.digitalagemag.com/

 

digital-age

 

[1] Neil Patel, “90% Of Startups Fail: Here’s What You Need To Know About The 10%”, Forbes, 2015


  • 266
  •  
  •  
  •  
  •